ไม่ท้อ ไม่ถอย พระราชดำริ ร.9 ค้ำจุนสังคมไทย

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมามูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงจัดงาน “ไม่ท้อ ไม่ถอย-พระราชดำริค้ำจุนสังคม” เพื่อชวนคนไทยร่วมน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 9

ภายในงานมีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลการนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาสังคม ของ 6 หน่วยงานสำคัญของไทย ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยทั้ง 6 หน่วยงาน สร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนให้แก่ภาคชนบท ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กระทั่งเกิดผลเป็นที่ประจักษ์

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การรวมตัวกันของ 6 หน่วยงานครั้งนี้ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการสืบสานแนวพระราชดำริให้ประเทศผ่านความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยช่วง2 ปีมานี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายอย่าง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน, ภัยแล้งที่สุดในรอบ 40 ปี, น้ำท่วม และโควิด-19 ที่ยังหาจุดจบไม่ได้ ทำให้คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล

“โควิด-19 และเทคโนโลยีดิสรัปชั่นส่งผลกระทบกับแรงงานไทย มีคนไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคนที่ตกงาน และถ้าประเทศไทยแก้ไขปัญหานี้ไม่ทันจะยิ่งส่งผลรุนแรง และยาวนานต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วยิ่งลำบากกว่าเดิม โดยเฉพาะประชาชนฐานราก และเกษตรกร”

“ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ที่มูลนิธิปิดทองฯดูแลอยู่ ได้รับผลกระทบน้อยมาก ทั้งยังมีศักยภาพในการรองรับครอบครัวที่ตกงานกลับมาบ้านเกิดได้ เพราะเรามีการพัฒนาชุมชนเชิงบูรณาการภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” อธิบายเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการระยะ 3 (ปี 2564-2565) ของมูลนิธิปิดทองฯ มุ่งเน้นต่อยอดความยั่งยืนให้พื้นที่ต้นแบบ ตลอดจนขยายขอบเขตในการใช้แนวพระราชดำริไปสนับสนุนการพัฒนาในมิติกว้างขึ้น ทั้งยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน คือ

หนึ่ง ทำให้พื้นที่ต้นแบบเดิม 9 จังหวัดไปสู่ความยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการพัฒนากลุ่ม กองทุนให้มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงกับภายนอกในด้านแหล่งทุน เทคโนโลยี และการตลาด รวมทั้งพัฒนาครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนให้ผ่านตามเกณฑ์

สอง ส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคเหนือ 4 จังหวัดคือ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน และพะเยา ที่มีสถานการณ์ยาเสพติด จำนวน 119 ตำบล 19 อำเภอ ซึ่งดำเนินการไปแล้วระยะแรก 47 หมู่บ้าน

นอกจากนั้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) ด้วยการเพิ่มทักษะของเกษตรกร โดยเฉพาะการผลิตทุเรียนคุณภาพให้ได้เกรดส่งออกต่างประเทศ เป้าหมาย 600 ครัวเรือน มีรายได้รวมปีละ 160 ล้านบาท

สาม จัดทำระบบพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาชนบท เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้สามารถเป็นผู้ถอดบทเรียน และบริหารจัดการองค์ความรู้ด้วยชุมชนเอง พร้อมจัดทำระบบสารสนเทศ และติดตามประเมินผล

ดร.โชติชัย เจริญงาม
ดร.โชติชัย เจริญงาม

“ดร.โชติชัย เจริญงาม” ผู้แทนคณะวิจัยการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองฯ กล่าวเสริมว่า เราทำการประเมินการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองฯ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ครอบคลุมมิติความคุ้มค่าเชิงงบประมาณ (fiscal report) มิติการพัฒนาที่ยึดตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ (wisdom report) และมิติความคุ้มค่าของโครงการและกิจกรรม

“จากการศึกษาทำให้พบว่า มูลนิธิปิดทองฯดำเนินงานแบบ bottom up คือ การทดลองพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โดยเริ่มจาก จ.น่าน และเมื่อเป็นผลสำเร็จและมีความมั่นใจเรื่อย ๆ จะขยายพื้นที่ออกไปจังหวัดอื่น ๆ เช่น อุดรธานี, เพชรบุรี เป็นต้น”

“และจากการประเมินผลงาน(ปี 2553-2563) พบว่า จำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ 4,361 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรก่อนเข้าร่วมกับมูลนิธิปิดทองฯที่ 56,404 ไร่ แต่หลังจากเข้าร่วมถึงปีนี้มีพื้นที่ป่าสะสมเพิ่มขึ้น 81,402 ไร่ รายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 350,009 บาท เทียบกับครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ 215,419 บาท ต่างกันถึง 63% รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (ปี 2552)เป็น 2,676 ล้านบาท (ปี 2562)”

“ทั้งยังสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำชุมชน 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการ พัฒนาแหล่งน้ำและสร้างฝาย 6,259 แห่ง ที่สำคัญ ยังเกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ ในจังหวัดน่าน มีการพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน 67 กลุ่ม มีสมาชิก 2,152 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท”

“ดร.โชติชัย” อธิบายต่อว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองฯ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

หนึ่ง การเน้นการพัฒนาคน เริ่มที่การสร้างศรัทธาจากทุกภาคส่วน และร่วมคิดร่วมทำในทุกขั้นตอน

สอง การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

สาม การมีนักพัฒนาและอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้านประจำอยู่ในพื้นที่ เป็นคนชุมชนที่ได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นตัวกลางในการบูรณาการระหว่างประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ

ดนุชา สินธวานนท์
ดนุชา สินธวานนท์

“ดนุชา สินธวานนท์” เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 4,877 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาด้านที่สำคัญคือการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขา 19 แห่ง ทำให้เกิดงานศึกษา ทดลอง วิจัยรวม 1,323 เรื่อง

“โดยมีการขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ 148 หมู่บ้าน เกษตรกรรับประโยชน์ 31,786 ครัวเรือน 104,368 คน มีการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้กับผู้สนใจรวม 12,250 คน และมีผู้เข้าศึกษาดูงานเพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆเฉพาะในปี 2563 รวม 629,097 คน นอกจากนั้น ศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ 111 แห่ง

ยังให้ความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อเกษตรกรนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ปรากฏว่าเกษตรกรไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.8 สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่าร้อยละ 90.4”

“งานขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยผลสำรวจพบว่าเกษตรกรร้อยละ 43.3 มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากและเกษตรกรร้อยละ 50.5 มีความเป็นอยู่ดีขึ้นพอสมควร ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเป็นเงิน 216,821.98 บาท รายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเป็นเงิน 146.306.98 บาทส่วนใหญ่มีรายได้พอเพียงกับรายจ่าย คิดเป็นร้อยละ 37.80 มีการออมเงินในครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 72.30”

“ในสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เพราะสามารถสร้างอาหารอย่างเพียงพอส่วนธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงได้รับผลกระทบบ้าง ยอดขายลดลง แต่ยังคงอยู่ได้ด้วยเพราะมีกลยุทธ์ปรับตัวได้เร็ว ไม่ปลดคนงานออก เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี”

ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปประยุกต์ใช้ จึงมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถยืนบนขาของตัวเอง