กระทรวงแรงงาน จับมือ หัวเว่ย พัฒนาแรงงานดิจิทัล รองรับ New S-Curve

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จับมือ หัวเว่ย พัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล รองรับ New S-Curve ตั้งเป้าอบรมมากกว่า 3,000 คน ภายใน 3 ปี

วันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต New S-Curve

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ความร่วมมือของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ หัวเว่ย ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยนวัตกรรม และพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

“โดย กพร. และ หัวเว่ย จะร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล ผ่านหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อยกระดับความสามารถของแรงงานให้มีความพร้อมกับอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และให้มีทักษะตรงกับที่นายจ้างต้องการ

โดยจะเริ่มที่หลักสูตรการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง ให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมที่อยากมีทักษะเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้เข้าร่วมอบรมกลุ่มแรก 20 คน ได้รับวุฒิบัตรรับรองจบหลักสูตรแล้วเพื่อเป็นใบเบิกทางในสายงานอาชีพ”

ทั้งนี้ เบื้องต้นเราตั้งเป้าหมายจะอบรมให้แก่บุคลากรฝึกของ กพร. ที่ 120 คน เพื่อนำไปขยายผลฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปอีก 300 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยครอบคลุมหัวข้อหลัก ๆ อาทิ เครือข่าย 4G และ 5G รวมไปถึงการลงพื้นที่จริง และจะมีหลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ให้แก่บุคคลทั่วไปโดยตั้งเป้าที่ 3,000 คน ภายในปี 2564

ศาสตราจารย์นฤมล กล่าวต่อว่า กพร.และหัวเว่ยยังมีแผนจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตร เพื่อเปิดโอกาสกับแรงงานกลุ่มต่าง ๆ อีกหลายหลักสูตรโดยใช้ทักษะ เทคโนโลยีที่หัวเว่ยมีมาถ่ายทอด และมีแผนจะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากคนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม

โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนเกษตรกร ในการพัฒนาหลักสูตรเกษตรทฤษฎีใหม่ ในการสร้างให้เกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นำทั้งความรู้และเทคโนโลยีที่หัวเว่ยมี เข้าไปช่วยลดต้นทุนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นอาจจะต้องมีการพูดคุยรายละเอียดกันอีกครั้งรวมทั้งต้องเข้าไปผนึกกำลังกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น สถาบันการศึกษา กระทรวงเกษตรฯ ปราชญ์ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนดำเนินงาน 2 เรื่องในการให้โอกาสแรงงาน ที่คณะกรรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการประสานงานฝึกอาชีพแห่งชาติ หรือ กพร.ปช. โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน ในการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ทั้ง 12 อุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม

“ส่วนอีกมิติคือ การดูแลผู้พิการในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีทั้งหมด 2.5 ล้านคน และอยู่ในวัยแรงงาน 8 แสนกว่าคน ตรงนี้เรามีกฏหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ (พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550) ในมาตรา 33 ซึ่งได้กำหนดให้สถานประกอบการจะต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงาน

คือ ถ้ามีลูกจ้าง 100 คนต้องจ้างผู้พิการ 1 คน หรืออัตรา 100:1 ถ้าไม่จ้างผู้พิการในอัตรานี้ ก็จะมีมาตรา 34 ว่าถ้าไม่สามารถจ้างได้ก็ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อไปพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งมาตรา 33-34 ก็จะมีมาตรา 35 ที่เปิดโอกาสให้สถานประกอบการใช้ทางเลือกอื่น ในการดูแลผู้พิการ เช่น ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาให้ดีขึ้น หรือส่งเสริมอาชีพใหม่ ๆ”