มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรักษาตำแหน่งงาน ‘สู้กับหุ่นยนต์’

ที่มาภาพ: รอยเตอร์/Kim Kyung-Hoon

การระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในตลาดแรงงาน ทั้งรูปแบบการทำงาน การจ้างงาน และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน

สำนักข่าวเดอะ อีโคโนมิก ไทม์ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับงานว่า เมื่อโควิด-19 ได้ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการทำงานมากขึ้น แล้วมนุษย์จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรักษาตำแหน่งงานอนาคตไว้ โดยคำตอบแบ่งเป็น 6 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

Future of Work

ผลการศึกษาของ World Economic Forum ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 กำลังทำให้บริษัทต่าง ๆ เร่งใช้ระบบอัตโนมัติกับการทำงานเร็วกว่าที่เคยวางแผนไว้ นอกจากนั้นการศึกษาตลอด 1 ปีเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัตโนมัติในที่ทำงาน และมุมมองต่อหุ่นยนต์ปฏิวัติ (robot revolution) พบว่า โลกของการทำงานในอนาคตมาถึงเร็วก่อนกำหนดเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 และอาจส่งผลให้งาน 85 ล้านตำแหน่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ถูกแทนที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 15 อุตสาหกรรมและ 26 ระบบเศรษฐกิจ

เพิ่มงานใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง

นอกจากการดิสรับของเทคโนโลยีและหุ่นยนต์จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์แล้ว ในขณะเดียวกันารดิสรับนั้นก็ช่วยสร้างงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะของมนุษย์กว่า 97 ล้านตำแหน่งภายในปี 2568

แต่งานใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นใน care economy ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 4.0 เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และสาขาคนทำคอนเทนต์ ส่วนเทคโนโลยีและหุ่นยนต์จะมุ่งเน้นไปที่งานด้านการประมวลผลข้อมูล งานรูทีน (routine work) เช่น งานเสมียนหรืองานธุรการ เป็นต้น

ข้อได้เปรียบของมนุษย์

งานที่มนุษย์มีความได้เปรียบกว่าหุ่นยนต์ ได้แก่ การให้คำปรึกษา การตัดสินใจ การให้เหตุผล การสื่อสาร และสร้างปฏิสัมพันธ์ งานกลุ่มนี้จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่นําไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ และเพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม นอกจากนั้นคนที่มีทักษะเหล่านี้ จะมีบทบาทในระดับแนวหน้าในเศรษฐกิจเกี่ยวกับข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลแบบคลาวด์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ถึงแม้คนทำงานงานเหล่านี้จะมีบทบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาเกือบร้อยละ 50 จะต้อง re-skill (ปรับทักษะ)

ทักษะที่ยังจำเป็นอีก 5 ปี

ทักษะคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความยืดหยุ่น เป็นกลุ่มทักษะอันดับต้น ๆ ที่จำเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ การสร้างคอนเทนต์ และการประมวลผลแบบคลาวด์จะเป็น จะเป็นอาชีพเกิดใหม่ที่ติดอันดับต้น ๆ

การพัฒนาพนักงานในองค์กร

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ปี 2020 สอนมนุษย์หลายสิ่งหลายอย่าง แต่บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งคือ ทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต จึงมีคำว่า digital upskilling ถูกกบ่าวถึงบ่อยมาก

หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้พนักงาน ยกตัวอย่าง Amazon มีโครงการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลของพนักงานเมื่อปีที่แล้วโดยลงทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ PwC เปิดตัวโครงการมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัทยักษ์ใหญ่ Home Depot และ IBM ต่างก็กำลังทำโครงการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลเช่นเดียวกัน

ซึ่งการระบาดของโควิด-19 เป็นเหมือนปุ่มเร่งสปีดไปข้างหน้าเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงทางทักษะเทคโนโลยี

ความพร้อมในโลกดิจิทัลและผลกำไร

มีเหตุผลสนับสนุนว่า การเตรียมพนักงานให้พร้อมสำหรับโลกดิจิทัลจะมีผลลัพธ์ที่เป็นบวก เพราะจากผลสำรวจ Global Digital IQ ของ PwC แสดงว่า 86% ของบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดี เป็นบริษัทที่มีโปรแกรมการฝึกอบรมดิจิทัล ที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและประสิทธิภาพของพนักงาน

ทั้งนี้ LinkedIn ได้ทำการวิเคราะห์การเปิดรับสมัครงานขององค์กรต่าง ๆ ในช่วงนี้พบว่า ตำแหน่งงานประจำที่เป็นที่ต้องการสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ข้อมูล เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล การสนับสนุนด้านเทคนิค และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล


ในขณะที่ gig worker หรือแรงงานนอกระบบที่เป็นที่ต้องการตอนนี้ได้แก่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักการตลาดดิจิทัล ผู้ดูแลระบบไอที และนักวิเคราะห์ข้อมูล