องค์กรสู้วิกฤต ดีลอยท์ชี้ปรับตัวสู่ “เน็กต์นอร์มอล”

สุภศักดิ์ กฤษณามระ-ดีลอยท์

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผลักให้ผู้คนทั่วโลกดำเนินชีวิตบนความปกติรูปแบบใหม่ (new normal) ในทุก ๆ ด้าน ทั้งการศึกษาและการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลายอย่างชัดเจน จึงทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนของปัจจัยหลายอย่าง และทุกองค์กรล้วนต้องปรับตัวตลอดเวลา

ในฐานะที่ “ดีลอยท์” เป็นบริษัทที่ให้บริการที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการ การตรวจสอบบัญชี และการบริหารความเสี่ยงระดับโลก จึงวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย และแนะนำภาคธุรกิจเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่ “เน็กต์นอร์มอล”(next normal) ซึ่งมีความจำเป็นที่ผู้นำองค์กรต้องหาคำตอบให้ได้ว่าจะต้องคำนึงถึงเรื่องใด ? และทำอย่างไร ?

“สุภศักดิ์ กฤษณามระ” กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทยกล่าวว่า จากมุมมองและการวิเคราะห์ของดีลอยท์ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เน็กต์นอร์มอลจะต้องนำปรากฏการณ์ 4 มิติไปพิจารณา เพื่อให้ผู้นำที่มีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรนำไปประยุกต์ใช้

หนึ่ง มิติด้านสังคม ลูกค้าจะเริ่มให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือมากขึ้น ดีลอยท์จึงให้ความสำคัญกับการป้อนข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงให้ลูกค้า และต้องได้ข้อมูลมาอย่างมีจริยธรรม เพราะการสร้างความเชื่อใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจ

สอง มิติด้านธุรกิจ อุตสาหกรรม4.0 จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งภาครัฐต้องส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินภารกิจต่าง ๆ ง่ายขึ้น เช่นสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น โดยการก้าวสู่ next normal จะต้องปรับโมเดลธุรกิจเป็น contactless ลดการสัมผัสเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงองค์กรต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล

ไม่เพียงเท่านั้น จะต้องให้ความสำคัญกับ future of work ที่มี 3 องค์ประกอบ คือ 1.work-รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ทั้งวิธีการติดต่อสื่อสารและวิธีส่งงาน เพราะคนทำงานนอกสำนักงานมากขึ้น ยกตัวอย่าง Microsoft ในสหรัฐอเมริกาให้คนทำงานจากบ้านได้ถาวรแล้ว

2.workplace เมื่อคนทำงานนอกออฟฟิศมากขึ้น บริษัทต้องพิจารณาปรับพื้นที่ในสำนักงาน โดยสร้างให้เป็นที่ที่พนักงานเข้ามาระดมความคิดร่วมกันมากกว่ามานั่งทำงานส่วนตัว

และ 3.workforce แรงงานยืดหยุ่นมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานหลากหลายทั้งระยะสั้นและยาว

สาม มิติด้านเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่น (resilient) ของห่วงโซ่อุปทานมีความสำคัญ และองค์กรจะมองเรื่องผลกระทบจากการทำสัญญาและเครดิตมากขึ้น

สี่ มิติด้านการเมือง เศรษฐกิจของประเทศฝั่งเอเชียจะฟื้นตัวเร็ว ดังนั้นหากภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลัง จะตามมาด้วยมาตรการทางภาษีที่อาจสูงขึ้น และโควิด-19 ทำให้เกิดแนวคิดความเป็นชาตินิยมมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศจะกลับมาพึ่งตัวเองโดยไม่ยึดแนวคิดโลกาภิวัตน์เหมือนเช่นเคย

“สุภศักดิ์” กล่าวด้วยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน เมื่อวิเคราะห์ดูจากปัจจัยภายในประเทศพบว่าอุปสรรคคือเรื่องความไม่สงบทางการเมือง และการหยุดชะงักของธุรกิจท่องเที่ยวจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไทยเคยสร้างรายได้กับคนกลุ่มนี้อยู่มาก โดยมองว่ายังต้องอดทนไปอีก 12-18 เดือนถึงจะฟื้นตัวได้

ดังนั้น ผู้นำแต่ละองค์กรควรเตรียมแผนงานใน 6 ด้าน เพื่อสร้างความพร้อม และการเติบโตในอนาคตประกอบด้วย

หนึ่ง การกอบกู้และการเพิ่มของรายได้ เช่น ทบทวนรูปแบบและข้อเสนอทางธุรกิจปัจจุบัน, ประเมินกลยุทธ์การกำหนดราคาใหม่, แสวงหาแหล่งความต้องการใหม่ ๆ รวมทั้งโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านการทำงานร่วมกันข้ามอุตสาหกรรม

สอง การเพิ่มมาร์จิ้นและความสามารถในการทำกำไร เช่น ใช้เวลาให้มากขึ้นกับส่วนที่เพิ่มรายได้, เพิ่มความรอบคอบส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร, มองหารูปแบบและทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยง, เน้นความมั่นคงของซัพพลายเออร์และซัพพลายเชน

สาม การเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงสภาพคล่อง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับสภาพคล่อง,ใช้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการกระตุ้น และเครดิตภาษีของรัฐบาล,ตรวจสอบการแบ่งปันสินทรัพย์ และการจัดเตรียมการเช่าซื้อ และทบทวนผลงานสินค้าค้างส่งมอบ และสัญญาต่าง ๆ อีกครั้ง

สี่ เร่งทำเรื่อง digital transformationเช่น จัดลำดับความสำคัญของช่องทางข้อมูลดิจิทัล, การเปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์เพื่อความคล่องตัวและความยืดหยุ่น, ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์, และเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานของสำนักงานส่วนกลางและส่วนหน้าด้วยระบบ office automation

ห้า ให้การสนับสนุนพนักงาน และโครงสร้างการดำเนินงาน เช่น ทำให้พนักงานรู้สึกมั่นใจและปลอดภัย,ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน,สร้างช่องทางการประเมินความรู้สึก รวมถึงสุขภาพร่างกายและจิตใจของพนักงาน, มองหารูปแบบการจ้างงานทางเลือก (เช่น การจ้างแบบชั่วคราว) และมองหาหรือคิดรูปแบบการทำงานและการส่งมอบงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หก บริหารจัดการความคาดหวังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤต, สื่อสารนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยให้พนักงานและลูกค้าได้รับทราบ, เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการของภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ และให้ความสำคัญกับโครงการหรือความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างสมดุลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

นอกจากนั้น “สุภศักดิ์” ยังกล่าวถึงการปรับตัวภายในเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของดีลอยท์ ประเทศไทยว่า นอกเหนือจากการจัดเตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับกับมาตรการรักษาระยะห่างของพนักงานแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้บริหารระดับสูงและทีมงานในการวิเคราะห์ปัญหา ผลกระทบลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรม และแนวทางการให้บริการที่สอดรับกับความต้องการ รวมทั้งการจัดทำบทความและรายงานตลอดจนสัมมนาออนไลน์ให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม

“โดยบริษัทยังคงสามารถรักษาการเติบโตของผลการดำเนินงานรอบปี 2563 (1 มิถุนายน 2562-31 พฤษภาคม 2563) ในระดับที่ดี มีอัตราเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ซึ่งเป็นการเติบโตในทุกสายธุรกิจ คือ ธุรกิจตรวจสอบบัญชีเพิ่มขึ้นร้อยละ 7, ธุรกิจที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20, ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12,ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านภาษีและกฎหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9”

“ส่วนแผนงานอนาคตบริษัทวางกลยุทธ์อีก 3 ปีข้างหน้าให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการบริการแบบครบวงจรของแต่ละสายธุรกิจและศักยภาพในการให้บริการแบบเครือข่ายทั่วโลก โดยมองว่าอุตสาหกรรมที่พร้อมจะกลับมาเติบโตได้ก่อน 4 กลุ่มแรก คือ กลุ่มยานยนต์, กลุ่มสถาบันการเงิน, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มพลังงาน ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังคงต้องการบริการที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริการด้านการบริหารกระแสเงินสดเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการและการควบรวมกิจการ”

โดยดีลอยท์ ประเทศไทย ตั้งเป้าประมาณการรายได้รวมสำหรับปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย คือ การรักษาคนเก่งในองค์กร โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการคัดสรร การพัฒนา และการดูแลบุคลากรที่มีศักยภาพสูง

อันเป็นหัวใจสำคัญต่อการผลักดันและขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต