‘บ้านปู’ งัดแผนสู้วิกฤตไวรัส ชูกลยุทธ์ใจรัก-สร้างสรรค์-มุ่งมั่น

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก และถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตอื่นที่เคยเกิดขึ้นครั้งก่อน ๆ ในภาวะที่ท้าทายเช่นนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จึงวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์องค์กรที่ตอบรับกับความท้าทายจากวิกฤตด้วยความชำนาญ และวัฒนธรรมองค์กรของคนบ้านปูที่มีเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ

“วิรัช วุฒิธนาเศรษฐ์” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-กลยุทธ์องค์กร และเลขานุการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบริหารองค์กรเพื่อฟันฝ่าความท้าทายในโลกธุรกิจที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลานั้นไม่ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งมาพบกับสถานการณ์โควิด-19 ความท้าทายดังกล่าวยิ่งหนักหน่วงขึ้นเป็นทวีคูณ

“ถึงแม้บ้านปูจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก สาเหตุเพราะทุกชีวิตและทุกธุรกิจยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานในการดำเนินชีวิต และการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความต้องการพลังงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจึงทำให้เราได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน ผลตรงนี้เราจึงต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ด้วยการวางแผนธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว เพื่อให้สามารถตั้งรับความท้าทายต่าง ๆ”

“ซึ่งเรามีการวางแผนธุรกิจในระยะยาว 5 ปี และในทุกปีจะมีการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และภาพรวมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งอัพเดตแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ยกตัวอย่างช่วงปี 2020-2021 เป็นช่วงเวลาของการตั้งรับกับความท้าทายในโลกธุรกิจที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเน้นรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งการสร้างรายได้และลดความเสี่ยงเพื่อมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างกระแสเงินสดได้ทันที พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีเสถียรภาพ และรับมือกับความไม่แน่นอนให้ดีที่สุด”

“ส่วนปี 2022-2025 จะเป็นช่วงเร่งการเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19คลี่คลาย โดยเน้นมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลังงานให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นรายได้หลักของกลุ่มบริษัทในอนาคต สอดคล้องกับกลยุทธ์ greener & smarter ที่วางไว้”

สำหรับกลยุทธ์ “greener & smarter”จะเกี่ยวข้องกับ 3D อันประกอบด้วย

หนึ่ง decarbonization การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องทำพลังงานที่สะอาดขึ้น

สอง decentralization การกระจายอำนาจในการจัดการ

สาม digitization การแปลงเป็นการทำงานและดำเนินธุรกิจเป็นดิจิทัล

“วิรัช” กล่าวต่อว่า ยุคหลังโควิด-19 ทุกอย่างอาจจะไม่เพียงเป็น new normal (ความปกติใหม่) แต่เป็นยุค never normal (ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป) โดยองค์กรต้องเตรียมพร้อมแผนรองรับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

“ความพร้อมของพนักงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ โดยเรามีบ้านปูฮาร์ทเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหลอมรวมพนักงานของเราใน 10 ประเทศที่มีความแตกต่างกัน ให้ร่วมผลักดันองค์กรผ่านวิกฤต ซึ่งบ้านปู ฮาร์ทเป็นแนวทางให้พนักงานบ้านปูทุกคนมีพลังร่วม (synergy) ในการนำพาองค์กรก้าวข้ามผ่านอุปสรรค เพื่อมุ่งสู่เส้นชัย พร้อมทั้งส่งมอบความห่วงใย (care) ให้กันเหมือนครอบครัว จนทำให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการร่วมทำงานอย่างทุ่มเท เพื่อต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำพาบริษัทก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 อย่างราบรื่น”

ขณะที่ “จิรเมธ อัชชะ” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-บริหาร และพัฒนาองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บ้านปู ฮาร์ทประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ใจรัก (passionate) หมายถึง การมีใจรักในงานและสิ่งที่ทำ ด้วยเป้าหมายของการเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจร (integrated energy solutions) แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สอง สร้างสรรค์ (innovative) การมีความคิดสร้างสรรค์ คิดค้น ปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมทั้งปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน

สาม มุ่งมั่นยืนหยัด (committed) ทั้งในเรื่องความยั่งยืน ความซื่อสัตย์สุจริต และความร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจร่วมกัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

“ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง จนกระทั่งรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บ้านปูจึงนำแผนการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลมาจากการที่บริษัทเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดอยู่เสมอ โดยในช่วงสภาวะปกติเราวางกลยุทธ์ในการจัดทำแผนความต่อเนื่องธุรกิจ (business continuity plan-BCP) ไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม”

“โดยคณะทำงาน Incident Management Team (IMT) ของบริษัทที่ประจำอยู่ในแต่ละประเทศจะฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจในระดับประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทจะไม่หยุดชะงัก หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและสามารถส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้ตามสัญญา รวมถึงสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้ในระยะยาว”

“จิรเมธ” กล่าวต่อว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว (agility) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ซึ่งบ้านปูได้ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บริษัทจัดโปรแกรม work anywhere เพื่อให้
พนักงานสามารถปฏิบัติงานที่ใดก็ได้จำนวน 3 ครั้งต่อเดือน

“โดยเราดำเนินการมา 9 ปีแล้ว รวมถึงมีการใช้ระบบ electronic document management เพื่อติดต่อและรับส่งข้อมูลข่าวสารสำคัญ ทั้งจากภายในและภายนอกที่เชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วและทันสมัย จนทำให้เมื่อบริษัทประกาศใช้นโยบาย work from home ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พนักงานทุกคนจึงมีความพร้อม สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญที่ช่วยเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง”

“ปีนี้ก็เหมือนกับเช่นทุกปีที่บ้านปูเดินหน้ามองหาเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและพร้อมให้ความช่วยเหลือชุมชนและสังคมต่อไป”

“แม้จะอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบ้านปูตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่องผ่านกองทุนที่ร่วมกับกลุ่มมิตรผลในนาม มิตรผล-บ้านปู “รวมใจช่วยไทย สู้ภัย Covid-19” มูลค่ารวม 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่หน่วยงานสาธารณสุข รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ซึ่งบ้านปูจะยังคงสานต่อการช่วยเหลือนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน”

การบริหารองค์กรเพื่อฟันฝ่าความท้าทายในโลกธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งมาประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ความท้าทายดังกล่าวยิ่งหนักหน่วงขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น การเตรียมพร้อมทั้งด้านการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจและพนักงานอยู่ตลอด น่าจะช่วยนำพาองค์กรฝ่าความท้าทายและเติบโตต่อไปได้