อาชีพน่าสนใจที่สุด ใน (โลก) อนาคต (อันใกล้)

คอลัมน์เอชอาร์ คอร์เนอร์
พิชญ์พจี สายเชื้อ

พวกเราคงเคยได้ยินคำถามว่า อยากเป็นอะไรตอนโต ? ตอนเด็ก ๆ เราอาจอยากเป็นมนุษย์อวกาศ หมอ หรือนายกฯ (อันนี้ไม่แน่ใจจะมีเด็กคนไหนอยากเป็นอยู่มั้ย เพราะงานหนักจริง ๆ ??) พอโตขึ้นมาหน่อยในยุคดิจิทัล ก็อาจอยากเป็น Youtuber หรือเป็นเชฟ เพราะดู “คูล” ดี

แต่ใน (โลก) อนาคตอันใกล้นี้ ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด และมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที สิ่งที่พวกเราเคยอยากเป็น อาจกลายเป็นความฝันในอดีตไปแล้ว

“โธมัส เฟรย์” ซึ่งเป็นนักพูดเรื่องอนาคต (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า futurist speaker) ได้พูดถึง 6 อาชีพที่น่าสนใจที่สุดในมุมมองของกูรูด้านอนาคตไว้ ดังนี้

1) นักโลจิสติกส์ (logistician) คือ คนที่วิเคราะห์ และบริหาร supply chain ในองค์กร โดยอาชีพนี้มีหน้าที่ในการจัดการสินค้า ตั้งแต่เข้ามาเป็นวัตถุดิบ นำมาผลิต บรรจุ จัดเก็บในคลังสินค้า จนขนส่งไปสู่ลูกค้า เขาต้องบริหารวงจรชีวิตของสินค้าในองค์กรตั้งแต่เข้า กระจาย แจกจ่าย และขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นักโลจิสติกส์จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนในการบริหาร และติดตามการเคลื่อนไหวของสินค้า ทำกระบวนการดังกล่าวให้รวดเร็วและคุ้มค่า (ถูก) ที่สุด ในอเมริกา นักโลจิสติกส์บางคนอาจทำงานร่วมกับรัฐบาลในการสะสางภัยพิบัติจากธรรมชาติ

เหตุที่นักโลจิสติกส์เป็นอาชีพที่น่าสนใจในอนาคต เพราะว่าองค์กรในอนาคตจะมุ่งเน้นการทำกระบวนการต่าง ๆ ให้มี lean กระชับ มีประสิทธิภาพ และประหยัดที่สุด มีการคาดการณ์การเติบโตของอาชีพนี้ 26% โดยมีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยที่ประมาณ 71,910 USD หรือประมาณ 2.25 ล้านต่อปี

โดย “โธมัส เฟรย์” กล่าวว่า อาชีพนี้จะมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้นในเรื่องเนื้องาน จากเดิมที่เน้นในเรื่องกายภาพของสินค้า จะปรับไปเป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น การนำโดรนมาใช้ในการขนส่งสินค้า หรือการขนส่งสินค้าโดยใช้รถที่ไม่มีคนขับ เป็นต้น

2) ethical hacker (ขออภัยที่ต้องทับศัพท์ คือ นึกภาษาไทยไม่ออกจริง ๆ) คือ อาชีพที่ใช้ความรู้ในการรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กร อาชีพนี้มีการ certified อย่างเป็นทางการ (ถึงจะทำงานได้ถูกกฎหมาย) คนทำงานอาชีพนี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูล หาข้อจำกัด หรือความเสี่ยงของความปลอดภัยด้านเทคโนโลยี และเตือนองค์กรให้ทราบเพื่อป้องกัน แน่นอนที่สุดอาชีพนี้สำคัญสำหรับอนาคต

เนื่องจากมี hacker ที่น่ากลัวจำนวนไม่น้อยที่พยายามก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ เราคงจำข่าวดังเมื่อ
เร็ว ๆ นี้ได้ ที่มี hacker ขู่เรียกค่าไถ่ข้อมูลคนไข้ทั้งหมดจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศเรา ถ้าเราไม่มีการป้องกันที่ดี เรื่องแบบนี้จะนำความเสียหายอย่างมากมาสู่องค์กรในยุคดิจิทัลทีเดียว รายได้ของอาชีพนี้เฉลี่ยที่ 92,200 USD หรือประมาณ 2.88 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นรายได้
ที่ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม “โธมัส เฟรย์” ยังบอกว่า มีข้อกังวลว่า ethical hacker จะนำความรู้ที่มีไปใช้ในทางที่ผิด (คือเป็น hacker ซะเอง) โดยเฟรย์ได้บอกต่อว่า การที่จะทำให้อาชีพ ethical hacker ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จะต้องมีการกำหนด ethic ที่ชัดเจนในแวดวง hacker (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี) ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้ และอะไรคือสิ่งที่ทำไม่ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เราแยกแยะระหว่าง ethical hacker กับ (bad) hacker ได้

3) นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuary) คือ อาชีพที่ค่อนข้างได้รับการพูดถึงในเมืองไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ว่าเป็นมนุษย์ทองคำในวงการประกันภัย อาชีพนี้ใช้ความรู้คณิตศาสตร์ และสถิติขั้นสูงในการประเมินความเสี่ยงทางการเงินขององค์กร

อาชีพนี้ตอนนี้จะอยู่ในบริษัทประกัน แต่ในอนาคตอุตสาหกรรมอื่น เช่น แบงก์ หรือเฮลท์แคร์ ก็จะมีความต้องการใช้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยด้วยอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 87,650 USD หรือประมาณ 2.75 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตของงานถึง 27%

4) นักระบาดวิทยา (epidemiologist) อาชีพนี้ไม่ต้องพูดเยอะ เหตุการณ์ COVID-19 เป็นตัวอย่าง และตัวขับเคลื่อนที่ดีมาก ในเรื่องความต้องการนักระบาดวิทยาในโลก นักระบาดวิทยา คือ คนที่เชี่ยวชาญใน “รูปแบบ” หรือ “แพตเทิร์น” การระบาดของโรคติดต่อ และทำหน้าที่หา “ต้นเหตุ” และ “แนวทางป้องกัน” และ “รักษา” โรคระบาดดังกล่าว

อาชีพนี้เป็นที่ต้องการทั้งในโรงพยาบาล บริษัทยา และศูนย์วิจัยต่าง ๆ คนที่จะทำอาชีพนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ อาจจบปริญญาด้านสาธารณสุขก็ได้ อัตราการเจริญเติบโตของอาชีพนี้สูงมากถึง 35.8% และอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 64,220 USD หรือประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี

5) front end engineer หรือ front end web developer (ขออภัยที่ต้องทับศัพท์อีกครั้ง) คือ นักพัฒนาโปรแกรมที่ทำหน้าที่เขียนโค้ดสำหรับเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นหน้าที่สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะเขาทำหน้าที่ในการสร้างเว็บ และข้อมูลออนไลน์ที่เราใช้ทุกวัน

คนที่ทำงานนี้ต้องเข้าใจว่า user ต้องการอะไร อยากอ่านเว็บรูปแบบไหน อยากได้ข้อมูลแบบไหน (หรือเราต้องการให้เขาได้รับข้อมูลแบบไหน) แล้วนำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบ look and feel ของเว็บให้ถูกใจ

อาชีพนี้ได้รับการคาดการณ์จะเติบโต 22% (ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่านักพัฒนาโปรแกรมไปแล้ว นักพัฒนาโปรแกรมเป็นมนุษย์ทองคำในบ้านเราในปัจจุบัน หาเก่ง ๆ ยาก และค่าจ้างแพงมากด้วย) โดยมีอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 81,670 USD หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท

6) นักเคมีอาหาร (food chemist) คือ อาชีพที่วิเคราะห์กระบวนการทำอาหาร (การผลิต การเก็บ การบรรจุ การนำเสนอ และการกระจายอาหาร) เพื่อพัฒนาองค์ประกอบและรสชาติของอาหารให้ดีขึ้น โดยนักเคมีอาหารมักจะทำงานกับบริษัทผลิตอาหาร หรือรัฐบาล หรือทำงานส่วนตัว (freelance)

อัตราเงินเดือนของนักเคมีอาหารเฉลี่ยที่ 80,000 USD หรือประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อปี อาชีพนักเคมีอาหารจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของประชากรโลก

โดยทาง “โธมัส เฟรย์” บอกว่า ลองนึกภาพว่า นักเคมีอาหาร คือ ผู้ผลิต “อาหารแสนอร่อยที่มีลักษณะเป็นแท่ง” เมื่อเราจะกิน เราแค่เอาแท่งอาหารนี้ใส่เข้าเครื่องผลิตอาหาร อาหารก็จะออกมาให้เรากินได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาทำ (นึกภาพอาหารแท่งที่นักบินอวกาศในหนังเอาไปกินในอวกาศก็ได้ค่ะ)