มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สร้างแหล่งน้ำ-อาชีพด้วยเกษตรกร

ในอดีตพื้นที่ตำบลทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นดินปนทราย จึงทำให้ไม่สามารถดูดซับน้ำได้ แม้บางหมู่บ้านจะอยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถใช้น้ำจากเขื่อนได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่อับฝน ชาวบ้านจึงปลูกพืชยาก ดังนั้น การแก้ปัญหาของชาวบ้านคือการขุดคลองส่งน้ำเพื่อทำเกษตร โดยไม่พึ่งน้ำจากเขื่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปปริมาณน้ำเริ่มไม่พอใช้ คลองเริ่มเสื่อมโทรม ครั้นจะซ่อมแซมก็ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงจนเกิดการทิ้งร้างบ้าง บางแห่งประสิทธิภาพการใช้งานเริ่มต่ำลง

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำ ทั้งยังเป็นพี่เลี้ยงด้านเกษตรกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาแก่ชาวบ้าน โดยปี 2558 ภายใต้ “โครงการพัฒนาและจัดหาน้ำในตำบลทุ่งโป่ง” ที่ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการเกษตรและชนบท ที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นสร้างโอกาสให้ชุมชนยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” มาใช้ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ การพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมัยใหม่ และการพัฒนากลุ่มการผลิตเพื่อรองระบบการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ของเกษตรกรในอนาคต

จำเริญ ยุติธรรมสกุล
จำเริญ ยุติธรรมสกุล

“จำเริญ ยุติธรรมสกุล” ที่ปรึกษามูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า ในการทำงานของมูลนิธิปิดทองฯแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือให้ชาวบ้านอยู่รอดก่อน เมื่อมีการรวมตัวกันบริหารจัดการเรื่องน้ำแล้ว จะส่งเสริมเรื่องเกษตร โดยให้ชาวบ้านปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เมื่ออยู่รอดแล้วจึงรวมกลุ่มกันนำไปขาย

“โดยมูลนิธิปิดทองฯสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการหาองค์ความรู้เข้ามาให้เพิ่มเติม รวมถึงหาตลาดให้ เรามีการจับมือกับบริษัทใหญ่ ๆ กว่า 10 บริษัท เพื่อรับสินค้าเกษตรชาวบ้านไปขาย รวมถึงบางบริษัทเข้ามาให้ความรู้ ซึ่งตรงนี้ไม่น่าห่วง ขอเพียงแค่ชาวบ้านมีความขยัน ซื่อสัตย์ สำหรับ ต.ทุ่งโป่ง ปัจจุบันมีพื้นที่อยู่ 20,935 ไร่ มีชุมชนอาศัยอยู่ 10 หมู่บ้าน 1,205 ครัวเรือน แต่อาศัยอยู่จริงถึง 1,027 ครัวเรือน เริ่มแรกมีครัวเรือนเข้าร่วมโครงการอยู่ 131 ครัวเรือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 625 ครัวเรือน”

 

“อนุชภูมิ จารุจินดา” หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระฯ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ใน ต.ทุ่งโป่ง ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทำไร่ ทำนา ที่เหลือเป็นงานรับจ้างทั่วไป แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินทรายขาดแคลนน้ำ อาศัยแต่น้ำฝนตามฤดูกาล ปีไหนแล้งจะมีน้ำไม่เพียงพอ แม้จะมีการขุดบ่อน้ำก็ยังไม่พอใช้ การทำการเกษตรจึงเป็นแบบพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว นิยมใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้มีต้นทุนสูง ขายผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากขาดความรู้ในการทำการเกษตรยุคใหม่ ชาวบ้านจึงไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

อนุชภูมิ จารุจินดา
อนุชภูมิ จารุจินดา

“เมื่อมูลนิธิปิดทองฯเข้ามาจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักงานประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือศึกษาการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง และนำประสบการณ์ องค์ความรู้ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ต้นแบบของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และพื้นที่อื่น ๆ มาพัฒนา ด้วยการจัดหาน้ำให้10 หมู่บ้าน โดยเข้ามาสำรวจ และหาแหล่งน้ำที่จะมาใช้ทำการเกษตร”

“ช่วงที่เข้ามาปีแรก ต.ทุ่งโป่ง มีพื้นที่ทำเกษตร 18,000 ไร่ ใช้น้ำได้จริงแค่ 2,476 ไร่ จึงมีการหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องของระเบียบ กติกาการใช้น้ำ มีการตั้งกติการ่วมกันและบริหารจัดการน้ำร่วมกัน หลักการคือทางเราจะใช้กระบวนการเริ่มจากทำประชาคมกับชาวบ้านก่อน เพราะการดำเนินงานต้องมาจากความต้องการของชาวบ้าน จากนั้นเราถึงจะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ แต่ชาวบ้านเกษตรกรคนที่รับประโยชน์จะต้องเสียสละแรงงานตนเองด้วย”

“อนุชภูมิ” เล่าต่อว่า นอกจากนั้นเรายังมีการพัฒนาระบบน้ำ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงคลองส่งน้ำสถานีสูบน้ำบ้านหนองผือ (สายพอง), โครงการปรับปรุงฝายแบบ มข-27 จำนวน 2 จุด ซึ่งเป็นฝายเดิมที่มหา’ลัยขอนแก่นออกแบบให้ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งเก่ามาก ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เราจึงสร้างฝายใหม่แบบ มข-58 จำนวน 1 จุด เพื่อให้แข็งแรงคงทน มีบันไดปลาโจนให้เป็นที่พักของปลาสามารถกลับขึ้นไปวางไข่เหนือน้ำได้ เพราะปกติเวลาออกแบบฝายน้ำจะสูง ต่ำไม่เท่ากัน ปลาไม่สามารถขึ้นไปได้

“รวมถึงโครงการต่อท่อส่งน้ำจากคลองส่งน้ำสถานีสูบน้ำบ้านจระเข้, ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) และได้ชักชวนชาวบ้านให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมให้ทำการเกษตรตามศาสตร์พระราชา ทั้งปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ เมื่อมีผลผลิตก็นำมารวมกลุ่มกันจำหน่าย เพื่อไม่ให้ชาวบ้านไปทำงานต่างถิ่น แต่อยากให้พวกเขาทำกินบนพื้นที่ของตนเอง โดยทางมูลนิธิปิดทองฯเป็นผู้หาตลาดมารองรับผลผลิต จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชตามความต้องการของตลาดได้”

“ตลอดผลการดำเนินงาน 5 ปีผ่านมาพื้นที่รับประโยชน์จากระบบน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,476 ไร่ เป็น 10,339 ไร่ ทำให้เกษตรกร 625 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตร 18,150 ไร่ มีผลผลิตข้าวรวม 1,178,520 กิโลกรัม จำนวนเฉลี่ยครัวเรือนละ 1,147.5 กิโลกรัมต่อ ครัวเรือน/ปี สามารถปลูกพืชผัก และพืชไร่ได้ตลอดปี อาทิ ข้าวโพดหวาน, อ้อย ส่วนพืชสวน อาทิ มะพร้าว, กล้วย ด้วยการนำไปขายตามตลาดชุมชน, โรงพยาบาลศรีนครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ร้านโมเดิร์นเทรด อาทิ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร จนมีรายได้ 1,112,321 บาท (ข้อมูล ต.ค. 62-ก.ค. 63) และเกษตรกรบางรายเลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริมด้วย”

จนที่สุดจึงเกิดการรวมกลุ่มพึ่งตนเอง 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกอ้อย ต.ทุ่งโป่ง 2.วิสาหกิจชุมชนปุ๋ย 3.กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก ต.ทุ่งโป่ง 4.กลุ่มไก่ประดู่หางดำ 5.กลุ่มข้าวโพดหวาน 6.กลุ่มมะพร้าวน้ำหอม 7.กลุ่มข้าวเชิงพาณิชย์ 8.กลุ่มปอเทือง 9.กลุ่มระบบน้ำ 10.ธนาคารชุมชน”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกอ้อย ต.ทุ่งโป่ง, กลุ่มข้าว และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก สามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดภายนอกได้เองแล้ว ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องขององค์ความรู้ในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพจากหน่วยงานจากภายนอก เช่น บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มาช่วยส่งเสริมการขึ้นทะเบียนให้เกษตรกลุ่มอ้อยให้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับเงินช่วยเหลือ สนับสนุน ตามสิทธิประโยชน์

มีสถานีขนถ่าย เพื่อเกษตรกรรายย่อยสามารถส่งขายอ้อยอย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ของร้านโมเดิร์นเทรด อาทิ เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการให้เกษตรกรผู้ปลูกผัก เช่น การวางแผนการปลูก, การดูแลควบคุมคุณภาพ และปริมาณผลผลิตต่อเนื่องเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

ถึงตรงนี้ “อนุชภูมิ” กล่าวอีกว่า แผนการทำงานในระยะต่อไปคือการพัฒนาแหล่งต้นน้ำ พัฒนาระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำเกษตร และขยายผลระบบน้ำกระจายสู่แปลงเกษตร หรือระบบน้ำหยด การส่งเสริมพืชหลังนา พืชทางเลือก และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ ปลูกผักตลอดปี, ผลิตปุ๋ยขาย, ปลูกอ้อย, ปอเทือง, ข้าวโพดหวาน และเลี้ยงไก่ รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการกลุ่ม กองทุนที่ดี มีการพัฒนาศักยภาพสมาชิกให้มีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ และการยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน และให้มีปริมาณที่เหมาะสม สม่ำเสมอ

จรูญ สุขโนนทอง
จรูญ สุขโนนทอง

“จรูญ สุขโนนทอง” สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระฯ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในอดีตทำงานลูกจ้างรับเหมาก่อสร้างที่กรุงเทพฯมา 20 ปี จนกระทั่งกลับบ้านได้ไม่นานพอดีมูลนิธิปิดทองฯเข้ามาช่วยซ่อมแซมแหล่งน้ำ และจากที่เคยเป็นพื้นที่แห้งแล้งมีน้ำน้อยกลับกลายเป็นพื้นที่ชุ่มชื้น เหมาะกับการปลูกพืช และทำมาหากินได้ตามปกติ จึงทำให้ดิฉันหันมาปลูกพืชสวนโดยเริ่มตั้งแต่ปลูกไว้กินเองก่อน เช่น ผักบุ้ง, กะเพรา, โหระพา, ฟักเขียว

“จากนั้นดิฉันก็เลี้ยงวัว, ไก่ จนนำไปขายมีรายได้ โดยเฉพาะตลาดภายนอกที่มูลนิธิปิดทองฯรวบรวมให้เอาไปขายจนทำให้ดิฉันมีออร์เดอร์ทุกวัน ทั้งยังทำให้มีรายได้ตั้งแต่ 400-1,000 บาททุกวัน ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีกว่าก่อสร้างมาก จนไม่อยากกลับไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯอีก แต่ที่ดีมากไปกว่านั้นคือการได้ทำงานบนที่ดินของตัวเอง ตอนนี้ดิฉันมีความสุขมาก ๆ”