แบรนด์ “โพนเชียงคาม” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

โพนเชียงคาม ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

หลังจากที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัชเข้ามาดำเนินโครงการ “ข้าวเพื่อสุขภาพ” ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จ.เลย เมื่อปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้กินดีอยู่ดี มีเศรษฐกิจดีขึ้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับยกระดับจากมาตรฐานจากเกษตรอินทรีย์แบบเดิมสู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (participatory guarantee system)

จนถึงวันนี้ วิสาหกิจชุมชนตำบลนาซ่าว มีผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ ข้าวอินทรีย์, ข้าวแต๋น TAN TAN, ชาหญ้าหวาน ภายใต้แบรนด์ “โพนเชียงคาม” ทั้งยังมีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปีจากการจำหน่ายสินค้าตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียง

รวมถึงช่องทางออนไลน์ เพื่อตอกย้ำแนวคิด “คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” อันเป็นหัวใจสำคัญการทำซีเอสอาร์ ภายใต้ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างยั่งยืนของอินทัช

สำหรับความร่วมมือระหว่างอินทัช และวิสาหกิจตำบลนาซ่าว เป็นการทำเกษตรอินทรีย์แบบ PGS แห่งแรกของโครงการ เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสม และมีการรวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างเข้มแข็งมาก่อนหน้า ซึ่ง PGS ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ซึ่งเป็นระบบการรับรองคุณภาพโดยชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง และต่อเนื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน เครือข่ายผู้บริโภค และหน่วยงานในพื้นที่ ภายใต้หลักการพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญคือเป็นเครื่องมือในการตรวจแปลงเกษตรชุมชน เพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิต และสร้างพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานรับรองของรัฐและเอกชนมีโอกาสขยายช่องทางการตลาดมากขึ้น จนทำให้เกิดการขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม

เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์
เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์

“เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น เน้นการมีส่วนร่วม มีการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่

“ดังนั้น จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ในพื้นที่ตำบลนาซ่าว อินทัชได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากทั้งสำนักงานเกษตร จ.เลย ดูแลกระบวนการเพาะปลูกให้มีความปลอดภัย สำนักงานพัฒนาที่ดิน อำเภอเชียงคาน ดูแลการปรับปรุงดิน และการผลิตสารชีวภัณฑ์อินทรีย์ที่ใช้ในการทำเกษตร, มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย แนะนำความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขณะที่ทางจังหวัดช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่”

“ผมหวังว่าวิสาหกิจศูนย์ข้าวชุมชนนี้จะกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้เห็นแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าแบรนด์โพนเชียงคาม เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายอื่นที่สนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์ และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานการทำงาน เกิดความมั่นคงทางอาหาร และการพึ่งพาตนเองในชุมชน จนนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน”

รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

อันไปสอดรับกับแนวคิดของ “รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่มาเสริมว่าวิสาหกิจชุมชนตำบลนาซ่าว ดำเนินการในพื้นที่ของ “ทำเนียบ อารยะศิลปธร” ผู้เป็นประธานวิสาหกิจชุมชน ทั้งยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อนที่อินทัชจะเข้ามา โดยเรามองเห็นว่าเขามีความตั้งใจที่จะยกระดับการเกษตรชุมชนของเขา จึงลงนามบันทึกความร่วมมือกันเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะมีการทำต่อเนื่อง

โดยเขาจะใช้พื้นที่ของตนเองเป็นศูนย์รวมวิสาหกิจ รวมกำลังชาวบ้านให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ และนำผลผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าว และพืชหลังนาอื่น ๆ มารวมกันขายตามท้องถิ่น เพื่อส่งไปขายตามพื้นที่ต่าง ๆ

“ที่สำคัญ ชุมชนยังนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าสินค้าในแบรนด์โพนเชียงคาม ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยจะนำความรู้ และงานวิจัยมาผนวกกับความสามารถในการผลิตของชุมชนเพื่อพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น จากข้าวเหนียวเป็นข้าวพองทอดกรอบ TAN TAN รสลาบ และรสน้ำอ้อยแมกคาเดเมีย จากต้นทุนข้าวกิโลกรัมละ 40 บาท สามารถทำ TAN TAN ได้ 13 กระปุก กระปุกละ 60 บาท เพิ่มรายได้เป็น 780 บาท และทำชาเพื่อสุขภาพจากข้าวและพืชสมุนไพร โดยไม่ใช้สารเคมี”

ชาเพื่อสุขภาพ
ชาเพื่อสุขภาพ

รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ทดลองแพลตฟอร์มทำการตลาดออนไลน์ผ่านเพจโพนเชียงคาม เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ในการขยายแนวคิดเรื่องการทำเกษตรปลอดภัย โปรโมตอัตลักษณ์ของตนเอง ตรงนี้อินทัชจะช่วยจัดทำคลิปวิดีโอ”

“รวมถึงการขายผลิตผลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และหลังจากเปิดเพจออนไลน์มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 62 จนสินค้าเป็นที่รู้จัก และตอนนี้รายได้จากขายออนไลน์ รวมแล้วอยู่ที่ หลักแสนกว่าบาท โดยจะมีสมาชิกวิสาหกิจชุมชนทำหน้าที่เป็นเลขาฯ เจ้าหน้าที่บัญชี บริหารจัดการเองทั้งหมด แบ่งสัดส่วนรายได้ให้กับสมาชิกผู้เป็นเจ้าของสินค้าโดยตรง”

“รัชฎาวรรณ” กล่าวต่อว่า ความคาดหวังของเราคืออยากจะยกระดับวิสาหกิจชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัยแห่งใหม่ในตำบลนาซ่าว พัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS เพื่อเสริมรายได้อีกช่องทาง เพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะหวังรายได้จากการปลูกข้าวนาปีอย่างเดียว

ที่ผ่านมาจึงมีการจัด “ตลาด(อยาก)นัดโพนเชียงคาม” สำหรับซื้อหาสินค้าปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใช้ฐานทุนทรัพยากร และวิถีวัฒนธรรมมาบูรณาการกับกิจกรรมต่าง ๆ ในตลาด เช่น เพนต์หน้ากากผีขนน้ำ ทำธุงใยแมงมุม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน อาทิ ส้มตำด้องแด้ง และข้าวปุ้นฮ้อน

 

โดยตลาดเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ ต.ค.ที่ผ่านมา ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่มายังตำบลนาซ่าว รวมถึงเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ ในอำเภอเชียงคาน

“นับตั้งแต่เปิดตลาดช่วงแรก ๆ ราวเดือน ต.ค. พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 2 สัปดาห์แรก (เฉพาะเสาร์-อาทิตย์) แล้ว 300 คน คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยว และผู้มาศึกษาเรียนรู้กว่า 2,000 คน และน่าจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจ และชุมชนรวมกว่า 800,000 บาทอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม “รัชฎาวรรณ” บอกว่า จากการดำเนินโครงการข้าวในพื้นที่ 6 จังหวัดก่อนหน้า อาทิ ชัยนาท, สุรินทร์, ขอนแก่น, นครศรีธรรมราช, กาญจนบุรี, พิษณุโลก อินทัชยังคงติดตามอย่างต่อเนื่องว่ามีการสร้างรายได้จากโครงการมากน้อยแค่ไหน

“โดยเฉพาะผลผลิตที่ได้จะมีการส่งเสริมให้ขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งเสริมให้วิสาหกิจแต่ละแห่งมีเพจเฟซบุ๊กของตนเอง และอนาคตมีแผนจะรวม knowledge sharing โมเดลต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของ 6 จังหวัด ในเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมช่องทางจำหน่ายมาทำเป็นมาร์เก็ตเพลซ เพื่อนำสินค้าทุกพื้นที่ของโครงการมารวมจำหน่าย”

“ซึ่งคาดว่าอาจจะปรากฏบนเว็บไซต์ของอินทัชเอง โดยผ่าน CSR แพลตฟอร์ม เพียงแต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ทั้งยังมีแผนขยายโครงการไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหาความเหมาะสมของพื้นที่ และปีหน้าต้องดูข้อกำหนด (requirements) ของแต่ละพื้นที่ต่อไปด้วย”

ทำเนียบ อารยะศิลปธร
ทำเนียบ อารยะศิลปธร

“ทำเนียบ อารยะศิลปธร” ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว กล่าวต่อว่าก่อนเป็นวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรในพื้นที่มีการปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ต่างคนต่างทำในวิถีเดิม ๆ คือเป็นเพียงผู้ปลูกข้าวเพื่อการบริโภคและขายในตลาดท้องถิ่น ทำให้ประสบปัญหาเรื่องของพ่อค้าคนกลาง สภาพดินเสื่อม ต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณมากขึ้น จนเป็นบ่อเกิดของปัญหาต้นทุนในการผลิตสูงถึง 6-7 พันบาท และสุดท้ายเมื่อได้ผลผลิต ก็ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้

“ผมจึงรวมกลุ่มกับชาวบ้านเรียนรู้ทำเกษตรอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยใช้เอง เป็นปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน จากแต่ก่อนที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีครั้งละถึง 50 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันเลิกใช้ปุ๋ยเคมี ปรับปรุงดิน โดยมีวิธีการ เช่น ปลูกปอเทือง ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอกและฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นใช้เอง ซึ่งทางเราเข้ามาสนับสนุน และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยคอยให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบ PGS จนทำให้สมาชิก และคณะกรรมการทำงานร่วมกันทุกกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องการทำเอกสาร การออกตรวจแปลง ตลอดจนการกำกับของคณะกรรมการ”

“ปัจจุบันมีการทำเกษตรแบบ PGS ร่วมกับอินทัช และรวมหน่วยงานต่าง ๆ จนทำให้มีเกษตรกรเข้าเป็นครอบครัวต้นแบบในการทำ PGS จำนวน 18 ครอบครัว บนพื้นที่ 60 ไร่ ทั้งยังมีแนวโน้มผ่านการรับรองในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 51 ไร่ ส่วนผลผลิตประกอบด้วยข้าว พืชหลังนา และอื่น ๆ เช่น ถั่วลิสง มันเทศ มะขาม ไผ่หวาน ฯลฯ”

“ส่วนสมาชิกชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาจนสามารถเป็นผู้ตรวจแปลงที่มีความรู้และได้รับการยอมรับถึง 8 คน กระทั่งทำหน้าที่ตรวจแปลงให้แก่สมาชิกร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยที่เป็นพี่เลี้ยง และผู้ให้มาตรฐานรับรองผลผลิต”

“เพราะเมื่อมีผลผลิต ชาวบ้านจะนำมารวมกลุ่มขายให้กับวิสาหกิจชุมชน โดยเราเป็นคนกำหนดราคาเอง และข้าวที่รับจากสมาชิกต้องผ่านการตรวจสอบสิ่งเจือปน จากนั้นจึงมีการนำไปขายทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัด เช่น อุดรธานี เพชรบูรณ์ ฯลฯ ที่สำคัญ พืชหลังการทำนาก็มีชา หญ้าหวาน ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ผลิตไม่ทัน”

“ผมมั่นใจว่าวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าวจะเป็นต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง เพื่อช่วยสนับสนุน และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยในระยะยาว”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว