ธนาคารปู บ้านบางโรง จ.ภูเก็ต ตามแนวพระราชดำริ สู้วิกฤตหนี้

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

ท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวกรากของคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องโครงสร้างอำนาจใหม่และมรสุมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โถมใส่เศรษฐกิจทุนนิยมจนพังราบเป็นหน้ากอง

ทว่ายังมีพื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชนบ้านบางโรง หมู่ที่ 3 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต “แหล่งพักพิงสุดท้าย” ที่ยังยืนอยู่ยั้งยืนยง โดยมี “เศรษฐกิจพอเพียง” รากไม้ที่หยั่งลึก-ร้อยรัดวิถีชุมของคนในชุมชน

“เสบ เกิดทรัพย์” ผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์
“เสบ เกิดทรัพย์” ผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์

“เสบ เกิดทรัพย์” ผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์ บ้านบางโรง เล่าที่มา-ที่ไปแนวคิดการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เข้มแข็ง เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของชาวบ้านในชุมชน และซื้อที่ดินคืนจากนายทุน

จากก้าวแรกของ “กองทุนปลดเปลื้องหนี้สิน” สู่ “ธนาคารชุมชน” ปัจจุบันเติบใหญ่เป็น “กลุ่มออมทรัพย์” ที่มีเงินหมุนเวียงหลักร้อยล้านบาท

“ที่มาของกลุ่มออมทรัพย์ เกิดจากปัญหาของชุมชนบ้านที่มีมาหลายช่วงอายุคน เรื่องการเมือง สังคม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเรื่องการบริหารจัดการชุมชน เกิดเป็นความแตกแยก”

อดีตนักการเมืองท้องถิ่นที่ผิดหวังกับระบบราชการ-ผลประโยชน์ที่ไม่ยั่งยืน ในปี 2538 เขาได้ศึกษา-วิจัยเพื่อ “หาคำตอบ” ให้กับตัวเองว่า “เราจะช่วยชุมชนได้อย่างไร” และเริ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนตั้งแต่ปี 2522 – อยู่กับป่าชายเลนมากว่า 20 ปี

เขาเล่าว่า แต่เดิมพื้นที่ป่าชายเลนถูก “นายทุน” กว้านซื้อไปทั้งหมด เนื่องจากป่าชายเลนเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของรัฐ ป่าชายเลนในภูเก็ต 3-4 หมื่นไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 หมื่นกว่าไร่ หอย-ปู-ปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดน้อยถอยลง

“ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม มีแต่สัมปทานป่าชายเลน สัมปทานเผาถ่าน ถามว่าทำไม (นายทุน) ถึงซื้อได้ ต้องไปถามรัฐดู นากุ้ง (ร้าง) 7-8 ร้อยไร่ทำไมออกโฉนดได้ พอคสช.มาปุ๊บก็ยึดกลับมา”

“เมื่อก่อนชาวบ้านตัดไม้ถูกจับนะ แต่นายทุนเอาแมคโครลง ทำไมลงได้ ปัญหาก็ตกอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านตัดไม้ด้วยมีดพร้า ด้วยขวานจะได้เป็นไร่ได้ไง อย่างเก่งก็เอา (ไม้) ไปทำเล้าไก่ ทำบ้าน ที่อยู่อาศัย แต่นายทุนลงเป็นไร่”

“รัฐบาลเองยังเอาไปเป็นสาธารณะประโยชน์เยอะ เตาเผาขยะที่ภูเก็ต 4-5 ร้อยไร่ป่าชายเลนทั้งนั้น การเคหะก็เป็นป่าชายเลน ชาวบ้านอยู่ก็ต้องซื้อมา ไม่ได้บุกรุก ถ้าชาวบ้านไม่มีที่อยู่จริง ๆ ไม่เกินกว้าง 5 เมตร ยาว 20 เมตรก็มีบ้าง แต่ไม่เยอะ”

“บังเสบ” เริ่มค้นคว้าอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2545 เพื่อตอบข้อกังขาในใจว่า “อนุรักษ์แล้วได้อะไรขึ้นมา” โดยประยุกต์หลัก “ศาสนาอิสลาม” น้อมนำ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ “ในหลาวงรัชกาลที่ 9” เป็น “เข็มทิศนำทาง”

เส้นทางการวิจัยตลอด 5 ปี ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ-ล้มลุกคลุกคลาน ใช้ “เงินส่วนตัว” เพื่อซื้อพันธุ์ไม้ที่หายไปจากชุมชนเพื่อปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนอนุรักษ์ในพื้นที่ 500-600 ไร่ ที่มีอยู่เดิม 3,000 ไร่ ปัจจุบันยังวิจัยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ

“อนุรักษ์ไปแล้วไม่ได้ผล ชาวบ้านยังบอกว่า ทำไมรัฐไม่อนุรักษ์ ตั้งงบประมาณด้านอนุรักษ์น้อยมาก แต่ถ้ารอรัฐบาลหรือรอให้คนใดคนหนึ่งทำ ผลกระทบเกิดขึ้นกับเรา”

“ปูม้า 1 ตัวมีไข่ประมาณ 3 แสนตัวที่พระเจ้าให้มา ถ้าเอา 3 แสนตัวมาฟื้นฟู ฟักไข่ เป็นธนาคารปูม้าและปล่อยกลับไป 120 วันมีปูขนาด 3 ตัวต่อกิโลฯ แล้ว มุสลิมเชื่อว่าทุกอย่างที่พระเจ้าให้มาเป็นผู้สร้างทั้งหมด”

“สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงบอกว่าให้อนุรักษ์ต้นไม้ เพราะน้ำคือชีวิต เวลาหน้าแล้งเกิดพลัดใบเพื่อคายน้ำออกมา ฤดูฝนสร้างเก็บน้ำไว้ลำต้น ไม่มีเงินสักบาทอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำกิน ไม่มีอาหารกินอยู่ไม่ได้”

เขาเล่าย้อนกลับไป “จุดเริ่มต้น” การนำ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” คือการมีโอกาสเรียนรู้ว่าจากโรงเรียนสวนจิตรลดามา จนสามารถนำมาร “ถอดรหัส” เข้ากับหลักศาสนาอิสลาม

“อนุรักษ์เพื่อกินเพื่อใช้ ถ้าอนุรักษ์ไม่กินไม่ใช้แล้วจะอนุรักษ์ทำไม เราไม่ได้แต่คนอื่นได้ เป็นอานิสงส์ หลักศาสนาบอกว่า ทำมือซ้าย มือขวาไม่รู้ เวลาทำบุญทำทานให้คนยากจน ทำมือซ้าย มือขวาไม่รับรู้”

การทุ่มน้ำพักน้ำแรงหมดหน้าตักของ “บังเสบ” เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลน 5-6 ปีที่ผ่านมา “ผลิดอกออกผล” หลังเกิดโควิด-19 ชาวบ้านในชุมชนบ้านบางโรง จากก่อนหน้านี้ละบ้านเกิด-วิถีชายเลน มุ้งหน้าสู่เมืองใหญ่-ระบบทุนนิยม

“ชาวบ้านที่ทำทัวร์ มีรถตู้ มีสปีดโบท รับจ้าง ค้าขาย กลับมาทอดแห ซื้อเรือ ซื้ออวน ออกทะเลหาปลาเก๋า บางคนได้ 2 พัน 3 พัน 5 พัน หมื่นหนึ่งก็มีต่อคืน จากเดิมที่มีแต่คนไปขับรถตู้ แต่วันนี้คนกลับมาลงทะเลเยอะ กลับมาอยู่แบบพอพียง”

 

ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า และธนาคารปูม้า จังหวัดภูเก็ต ของกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านบางโรง เป็นตัวอย่างของการสร้างอาชีพเชิงอนุรักษ์ จนสามารถเลี้ยงตัวเองและชุมชน จนสามารถปลดหนี้ได้ นอกจากนี้ยังมี “หอยกันพันปี” ที่สามารถนำสร้างอาชีพ-สร้างรายได้กิโลกรัมละ 800-1,000 บาท

“วิกฤตตอนนี้จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเอาตัวรอดให้ได้ คนภูเก็ตไม่ใช้ทรัพยากรแบบทำลายล้าง ไม่ละโมบ”
การท่องเที่ยวเกษตร เชิงอนุรักษ์ป่าชายเลนแห่งบ้านบางโรง ที่มีสภาพพื้นที่เป็นปากอ่าว-น้ำสีเขียวมรกต

“สุดลูกหูลูกตา” จึงเป็น ผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวไทย-มุสลิมที่เรียบง่าย-สมถะ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็น Signature

แม้ภูเก็ตจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว แต่กลุ่มออมทรัพย์บ้านบางโรง เป้าหมายไม่ใช่ท่องเที่ยว แต่เป้าหมาย คือ การอนุรักษ์ เป็น “อนุรักษ์ที่กินได้”

ที่ผ่านมาเกิดปัญหาจากการท่องเที่ยวเข้ามาในภูเก็ตทำให้เกิดปัญหาการขายที่ดิน เพราะที่ดินต้นทุนสูง จึงเกิดเป็น “ฉันทามติ” ของชาวบ้านในชุมชนบ้านบางโรง จึงไม่ได้รับผลกระทบจากจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปเพราะโควิด-19

“เมื่อก่อนเคยทำโฮมสเตย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้รับงบประมาณจาก สสส. มาเพียงชั่วครู่ชั่วยามก็หายไป พอเปลี่ยนนายกอบจ. นายกอบต. งบประมาณโอนเข้ามาสุดท้ายเป็นผลประโยชน์ของผู้นำ”

“ผมตั้งคำถามว่า คุณขายที่ดินไปแล้ว คุณจะทำท่องเที่ยวยังไง เหมือนคนป่าตองยังต้องขับรถรับจ้าง คนป่าตองต้องไปนั่งเฝ้าสวนตัวเอง ไปเปิดรั้ว-ปิดประตูโรงแรม ไปเป็นยาม แล้วจะคิดไปขายที่ทำไม”

 

สำหรับ “กลุ่มออมทรัพย์บ้านบางโรง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 จากสมาชิกเริ่มต้น 35 คน เงินหมุนเวียน 27,500 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 1,500 คน เงินหมุนเวียน 100 ล้านบาท เป็นเงินของคนในชุมชน แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-สร้างอาชีพ

“เราไม่มีระบบดอกเบี้ย เพราะถือว่าเป็นบาป และยังมีสวัสดิการให้ถ้าไม่ขาดผ่อน 3 เดือน ภายใน 1 ปี ไม่ขาดค่าหุ้นเลย ไปนอนโรงพยาบาลผมจ่ายให้คืนละ 300”

“ถ้าเป็นสมาชิกทั้งสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ มาออมกับผมเดือนละ 230 บาทต่อเดือน นอนโรงพยาบาลให้คืนละ 700 บาท เสียชีวิตได้ 35,000 บาท”

“บังเสบ” ทิ้งท้ายว่า โควิด-19 กระทบทั้งจังหวัด นักท่องเที่ยวไม่มี เพราะภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่ได้ยึดหลักการทำมาหากินแบบธรรมชาติ และ “ต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด (มาตรการรัฐบาล) 300 500 บาท ถ้าวันนี้เขาไม่ให้คุณก็อด”