SCG ร่วมกับพันธมิตร หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนแก้ปัญหาขยะและ PM 2.5

เอสซีจีจับมือ 180 พันธมิตร แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วย circular economy ด้าน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้ผู้ผลิตรับภาระนำสินค้าที่พังแล้วมารีไซเคิล

วันนี้ (9 พ.ย. 2563) “เอสซีจี” จัดงานสัมมนา SD Symposium ปีที่ 11 แบบนิวนอร์มอลด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Actions for Sustainable Future โดยมีผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ SMEs นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)

ภายในงานมีการพูดคุยร่วมหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา 4 ด้านของประเทศไทย ได้แก่ 1. สร้างระบบน้ำหมุนเวียน ให้พร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า 2. ส่งเสริมเกษตร ปลอดการเผา 100% ภายในปี 2022 เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ลดโลกร้อน 3. การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ 4. สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ green and clean construction

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตร circular economy เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 45 รายในปีที่ผ่านมา เป็น 180 รายในปีนี้

“โควิด-19 ทำให้ขยะเพิ่มมากขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป มีการใช้หน้ากากและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะเดียวกันโควิด-19 ก็ทำให้โลกเราตื่น ต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมกับสิ่งใหม่ ๆ”

เราเชื่อว่า circular economy เป็นทางออกในการลดปัญหาขยะ ซึ่งตอนนี้ควรโฟกัสใน 4 ด้าน

1. การสร้างระบบน้ำหมุนเวียน เพื่อให้พร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า ด้วยการให้ความรู้การเกษตรแก่เกษตรกร และคนที่ตกงานใน กทม. แล้วกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัดเพื่อไปทำการเกษตร ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อม ๆ กับภาคเอกชน ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทย

2. ช่วยเกษตรไม่ให้เผาเศษพืช เพราะจะสร้างปัญหาหมอกควันพิษ และฝุ่น PM 2.5 ทั้งเป็นการเพิ่มโลกร้อน โดยตั้งเป้าลดการเผา 100% ในปี 2565 ส่งเสริมให้เกษตรกรหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

3. การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง มี roadmap ชัดเจน มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิล และให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก

4. เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ green and clean construction โดยรัฐเป็นต้นแบบกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ และใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบสิทธิพิเศษทางภาษี

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในวันนี้ คนไทยทุกคนต้องช่วยกันแก้ เพราะไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน แต่หากทุกคนไม่เข้มงวดทำตามกฎระเบียบ ท้ายที่สุดก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

วราวุธ ศิลปอาชา

“การรักษาความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนตามหลักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติใน 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง”

ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเเป็นโมเดลที่จะทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ แต่ต้องมุ่งเน้น 4 ด้าน ด้านที่ 1 การผลิตของภาคอุตสาหกรรม ต้องส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีความทนทานมากขึ้น ใช้ได้นานขึ้น จะได้ไม่กลายมาเป็นขยะอย่างรวดเร็ว ต้องผลักดันการใช้หลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) คือการให้ผู้ผลิตรับภาระความรับผิดชอบในการจัดการขยะจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น เมื่อผู้บริโภคใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพังแล้ว ผู้ผลิตต้องนำมารีไซเคิลใหม่

ด้านที่ 2 การใช้งานและการบริโภค สนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และมี eco-label ที่แสดงให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าชิ้นนี้ซื้อปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าไหร่ และผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกลิตภัณฑ์ ด้านที่ 3 การจัดการขยะหรือของเสีย ส่งเสริมให้แยกขยะ และรีไซเคิลขยะตามบ้าน โดยทางกรุงเทพฯ มีแผนจะลดปริมาณขยะฝังกลบให้เหลือ 38% ภายในปี 2578 และด้านที่ 4 การใช้วัตถุดิบรอบ 2 ด้วยการ recycle และ up-cycle