RISE สำรวจ 400 องค์กร พบ 91% มีนวัตกรรมแต่ไม่สร้างผลลัพธ์ชัดเจน

นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์

RISE สำรวจนวัตกรรมของ 400 องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบ 91% ไม่สามารถขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นและไม่มีผลลัพธ์ชัดเจน จึงสร้างโมเดล CIMM วัดผลเพื่อเร่งสปีดระดับนวัตกรรมองค์กร

นวัตกรรมองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะนำองค์กรไปสู่การมีผลิตภัณฑ์ การบริการ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ เหตุผลนี้จึงทำให้ไรส์ (RISE) หรือ สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ทำการสำรวจนวัตกรรมองค์กรของ 400 องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้พบว่า หลายองค์กรไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรกับการสร้างนวัตกรรมองค์กร ไรส์จึงพัฒนาเครื่องมือในการวัดระดับนวัตกรรมองค์กรต่าง ๆ เพื่อช่วยให้สามารถกำหนดแผนงานและวางแนวทางในการขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง

“นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง RISE เปิดเผยว่า องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 83% ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กร แต่หลายองค์กรยังต้องเผชิญกับความท้าทายตลอดเส้นทางการสร้างนวัตกรรม (innovation journey) เนื่องจากการสร้างนวัตกรรมเป็นเส้นทางที่ใช้เวลายาวนาน และมีความแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ อีกทั้งในแต่ละองค์กรมีทรัพยากรไม่เหมือนกัน

“91% ของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการทำนวัตกรรมองค์กร แต่ส่วนใหญ่ยังเจอความท้าทายในด้านการเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน และปัญหาที่ไม่สามารถสเกลหรือขยายนวัตกรรมให้ไปในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ จึงทำให้ไม่มั่นใจว่า ควรมุ่งไปทางไหนต่อ เพื่อไปถึงเป้าหมายด้านนวัตกรรมที่องค์กรได้วางไว้”

เราจึงได้พัฒนาโมเดลวัดระดับนวัตกรรมองค์กร หรือ Corporate Innovation Maturity Model (CIMM) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดองค์กรต่าง ๆ ว่ามีการทำนวัตกรรมองค์กรอยู่ในระดับใด เพื่อช่วยให้สามารถกำหนดแผนงานและวางแนวทางในการขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยแบ่งระดับของการสร้างนวัตกรรมองค์กรเป็น 5 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น (newcomer) ระดับสำรวจ (explorer) ระดับท้าทาย (challenger) ระดับเชี่ยวชาญ (practitioner) และระดับแชมเปี้ยน (champion) โมเดลดังกล่าวจะเปิดตัวในงาน RISE Rethink พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการเร่งสปีดนวัตกรรมในปี 2564 ในวันที่ 13 พ.ย. 2563 ที่เกษร ทาวเวอร์

“นพ.ศุภชัย” อธิบายว่า ระดับ newcomer คือ องค์กรตระหนักว่านวัตกรรมสำคัญ และมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่มีแผนงานหรือเป้าหมายด้านนวัตกรรม

ระดับ explorer คือ องค์กรที่มีแผนด้านนวัตกรรมองค์กรแล้ว แต่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านกระบวนการทางความคิด (mindset) และชุดทักษะที่ใช้ในการสร้างนวัตกรรมให้กับบุคลากร

ระดับ challenger คือ องค์กรที่มีแผนและบุคลากรที่มี mindset ที่พร้อมสำหรับการสร้างนวัตกรรมองค์กรแล้ว แต่ยังขาดชุดทักษะในการสร้างนวัตกรรมองค์กรขึ้นมาให้เห็นผลลัพธ์จริง ระดับเชี่ยวชาญ

ระดับ practitioner คือ องค์กรที่สามารถสร้างนวัตกรรมองค์กรได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนทางธุรกิจอย่างชัดเจน

ระดับ champion คือ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม และมีผลลัพธ์จากการสร้างนวัตกรรมเป็นรูปธรรม และสร้างความยั่งยืนของธุรกิจใหม่จากนวัตกรรม

“จากการศึกษากับองค์กรกว่า 400 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกว่า 46% มีการสร้างนวัตกรรมองค์กรอยู่ในระดับ explorer และกว่า 28% อยู่ในระดับ challenger ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เป็นว่า องค์กรส่วนใหญ่แม้จะรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นในการสร้างนวัตกรรมองค์กร แต่ยังเผชิญกับความท้าทายในการลงมือทำและปรับใช้กลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน”

“นพ.ศุภชัย” แนะนำว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับนวัตกรรมองค์กรคือ บุคลากร และเทคโนโลยี สามารถทำให้องค์กรสร้างนวัตกรรมองค์กรให้ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด

โดยด้านบุคลากร ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ความพร้อมของผู้นำ (leadership) ศักยภาพของทีมงาน (team capability) และกระบวนการภายในองค์กร (organizational process) ด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ระบบนิเวศน์ (ecosystem) เครื่องมือ (tools) และข้อมูล (data) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับการเติบโตของนวัตกรรมองค์กร

นับว่านวัตกรรมองค์กรเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน