ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ก้าวทันโลกใบใหม่หลังโควิด-19

ในศตวรรษที่ 21 มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เข้ามาอย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่าโลกใบนี้กำลังอยู่ใน “โลกแห่งความผันผวน” หรือ “VUCA world” อันหมายความถึง “volatility” หรือ “โลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนไว”

ขณะที่ “uncertainty” หรือ “ความไม่แน่นอน” ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบความซับซ้อน และความคลุมเครือไม่ชัดเจน

ส่งผลให้ใครหลาย ๆ คนต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งในด้านการทำงาน การเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยี ไปจนถึงปรับเปลี่ยนทิศทางความฝันของตนเอง

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เพิ่มดีกรีความท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิตยิ่งขึ้นไปอีก จึงทำให้สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายด้านมาเปิดมุมมอง และให้แนวคิดในกิจกรรม Re : learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่ (ไม่) เหมือนเดิม เพื่อเตรียมรับมือกับโลกที่ไม่เหมือนเดิม โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมการเรียนรู้ของคนไทยในยุคหลังโควิด-19

มิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Flock Learning
มิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Flock Learning

“มิรา เวฬุภาค” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Flock Learning ได้ให้มุมมองในการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง 3 อย่าง คือ

หนึ่ง relearn ยอมรับว่า เราไม่รู้ เราจะเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ไปด้วยกันผ่านการสังเกตและการใช้เวลาร่วมกัน

สอง release ปล่อยวาง สร้างพื้นที่ของการสื่อสาร การรับฟังอย่างใส่ใจ (empathetic listening) ใช้ใจในการรับฟัง

สาม rerule สร้างข้อตกลงใหม่ร่วมกัน ทั้งการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัวและการทำงาน

“การเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 อย่างจะอยู่กับครอบครัวในสถานการณ์ผันผวน ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าอนาคตจะเกิดอะไรอีก อาจไม่ใช่แค่โรคระบาด แต่รวมถึงเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เป็นโอกาสดีที่ใช้จังหวะนี้ในการ rethink about learning อย่างแท้จริง”

กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park

ขณะที่ “กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park กลับบอกเล่าการเรียนรู้วิชานอกตำราเพื่อติดอาวุธในการพัฒนาตนเองในทักษะที่สำคัญ 2 ประการหลัก ๆ คือ

ประการแรก ทักษะในการเรียนรู้และการปรับตัว เวลาเราเจอความท้าทายใหม่ ๆ หลายครั้ง เรามักทำบนสัญชาตญาณเดิม แต่หากเรามีทักษะในการเรียนรู้ และการปรับตัวเราจะมองที่หลักคิด และเปิดใจที่จะเรียนรู้ หาข้อมูลใหม่ ๆ คุยกับผู้คนเพื่อแก้ปัญหา รับฟังว่าสิ่งที่เขาประสบพบเจออยู่คืออะไรและสิ่งนั้นส่งผลอย่างไรกับชีวิตเขา

ประการที่สอง ทักษะการคิด ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้ อาทิ design thinking กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือกระบวนการคิดในการแก้ปัญหา ออกแบบวิธีการหรือเครื่องมือ เพื่อตอบโจทย์ของปัญหานั้น และสร้างผลงานนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ผู้คน agile การปรับวิธีการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากการวางแผน และพัฒนาไปทีละนิด โดยมีการแบ่งซอยขอบเขตงานให้เล็กลง และพัฒนาต่อยอดในระยะถัดไป

ประการที่สาม analytical thinking การคิดเพื่อจำแนกแยกแยะองค์ประกอบของข้อมูลต่าง ๆ ออกเป็นประเด็นย่อย ๆ เพื่อเข้าใจสาเหตุของปัญหา และแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเป็นระบบ

“โดยแก่นแท้ระหว่าง 2 ทักษะ คือ การทำความเข้าใจความต้องการของคน การเข้าใจผู้ใช้ผู้รับบริการเป็นสิ่งจำเป็นมาก และควรเรียนรู้อย่างเร่งด่วน”

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

สำหรับ “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด 19 ระบาด ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

ดังนั้น จึงมี 3 ประเด็นหลักที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

หนึ่ง just in time เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นหลังโควิด หลายคนเริ่มมองว่าตัวเองต้องเรียนเรื่องอะไรเพื่อพัฒนาศักยภาพชีวิตให้อยู่รอด แล้วจะทำอย่างไรให้เข้าถึงสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว หลังเกิดโควิด-19 มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย ต่างกับเมื่อ 5 ปีก่อนที่หลายองค์กรพยายามผลักดันนวัตกรรมต่าง ๆ
แต่ไม่เกิดขึ้น

“พอเกิดโควิด คนในองค์กรทั้งเล็ก และใหญ่ กลับต้องการความรู้ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถทำอะไรออกมาอย่างเร็ว ฉะนั้น คำว่า just in time คือเรียนแล้วเอาไปใช้ได้เลย เรียนวันนี้ เอาไปใช้พรุ่งนี้เลย ไม่ใช่การเรียนรู้แบบเก่าที่เรียนแล้วไม่รู้จะนำไปใช้เมื่อไหร่”

สอง purpose driven การเรียนรู้ และการทำงานในปี 2020 กำลังเปลี่ยนไปอย่างที่ใครหลายคนอาจจะกำลังสับสน แต่สำหรับคนที่พอจับทางได้ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การเรียนรู้พร้อมกับพัฒนาตัวเอง เพราะความสามารถและทักษะใหม่ ๆ สำหรับโลกยุคนี้ คือ สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดต่อไปได้ในอนาคต โดยเฉพาะสายอาชีพ

“ทั้งนั้น เพราะ purpose driven คือ สิ่งที่เราเคยเรียนมาอาจจะใช้ไม่ได้ เช่น เมื่อก่อนทำมาร์เก็ตติ้งมาแบบหนึ่ง วันนี้อาจต้องเข้าใจดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งอีกรูปแบบหนึ่ง purpose driven จึงเป็นการมองดูที่เป้าหมาย หรืออนาคต และสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ เพื่อให้มองไปไกลขึ้นอีกว่าตัวเรายังอยากอยู่ในอาชีพเดิมต่อ หรือเปลี่ยนอาชีพใหม่ แล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไปถึงวัตถุประสงค์นั้น ๆ”

สาม truly blended ปัจจุบันการเรียนรู้ของผู้คนเน้นไปที่ truly blended มากขึ้น คือ ไม่ว่าจะเรียนแบบไหน เน้นการผสมผสานที่หลากหลาย โดยผู้คนเริ่มไม่หยุดอยู่นิ่งกับการเรียนรู้กับช่องทางเดิม ๆ และไม่เชื่อว่าการเรียนแบบเดียวจะเพียงพอ

ฉะนั้น รูปแบบการเรียนรู้ของคนยุคใหม่กำลังวิ่งไปสู่หลาย ๆ แบบ ผู้คนเริ่มขวนขวายให้เกิดซึ่งการเรียนรู้ และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้จริง ด้วยวิดีโอคลิป หรือ visual ต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น virtual classroom (ห้องเรียนเสมือน), webinar (สัมมนาออนไลน์), simulations (การจำลองการเรียนการสอนรูปแบบใหม่) และ one-on-one coaching (โค้ชตัวต่อตัว) เป็นต้น

“การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน แต่เริ่มต้นได้จากตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อการทำงาน การเรียนรู้เพื่อการปรับตัวใช้งานเทคโนโลยี รวมไปถึงการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะ และการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น เราจึงต้องเปิดใจ เปิดโอกาส เปิดกว้างทางความคิดของตนเอง และเรียนรู้ที่จะรับมือต่อความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดชีวิต”

ถึงจะทำให้การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากมหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้