8 องค์กรยักษ์ผนึกกำลัง ยึดวิถียั่งยืน ชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และพันธมิตรเครือข่าย จัดงานสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปี ภายใต้หัวข้อ “ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน” ที่นับว่าเป็นการรวมตัวกันของภาคต่าง ๆ ที่เข้ามาระดมสมองกันเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ เพราะผ่านมาเรื่องของ “การสร้างความยั่งยืน” ถูกพูดถึงในหลายเวที แต่ไม่ถูกนำมารวบยอดทางความคิดสักที

สำหรับครั้งนี้ไม่เพียงจะมี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน หากยังมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) มาร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
ช่วยคิด ช่วยทำ ทำงานทางเดียวกัน

ฉะนั้น ในมุมมองของ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงมองว่านับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง ที่บนเวทีสัมมนาแห่งนี้มีการพูดคุยกันในมิติที่หาทางออกให้กับโลกในอนาคตอย่างยั่งยืน ทั้งยังช่วยกันสะท้อนความคิดต่อทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ไปได้

“ดังนั้น ถ้ามองย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยพบกับวิกฤตเศรฐกิจ โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ของปี 2563 ติดลบ 12.2% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง สาเหตุหลักมาจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ผู้คนต่างตื่นตระหนกไปตาม ๆ กัน ในปีนี้รัฐบาลจึงเพิ่มงบประมาณแผ่นดินเป็น 3.3 ล้านล้านบาท และยอมขาดทุนมากถึง 6.2 แสนล้านบาท เพื่อสู้กับวิกฤตต่าง ๆ”

“แต่ความเป็นจริงตลอดที่ผ่านมา คือ งบประมาณแผ่นดินมีสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 20-25% ของ GDP อีก 75-80% อยู่ในมือของเอกชนว่าจะนำพาเศรษฐกิจของประเทศไปทางไหน และเมื่อพิจารณารายงานของกรมธุรกิจการค้าที่ระบุว่า ธุรกิจรายใหญ่ที่สุด 1% มีสัดส่วนยอดขายมากถึง 73.7% ของทั้งประเทศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของประเทศ และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

ดังนั้น การจะทำให้คนไทยในประเทศอยู่ดีมีสุข และผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และทำงานไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จได้”

วิถีไทยสู่ความยั่งยืน

กลยุทธ์ 4 ประสาน 3 ประโยชน์

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวต่อว่า ด้านมูลนิธิปิดทองหลังพระฯเห็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดหลังการล็อกดาวน์ หลายธุรกิจไปต่อไม่ได้ ส่งผลให้มีคนจำนวนมากตกงาน และต้องเดินทางกลับชนบท คณะกรรมการของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจึงปรึกษาหารือกันว่า เราน่าจะต้องหางานมารองรับคนกลุ่มนี้ ที่สุดจึงชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนมาหารือ จนเกิดเป็นโครงการจ้างแรงงานผู้ตกงานมาพัฒนาแหล่งน้ำ และการเกษตรในชนบท

“อันสอดรับกับมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 ที่เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติระยะที่ 1 ปี 2561-2565 เป้าหมาย 6,114 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคัดเลือก 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุดรธานี, ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี และกำลังขยายไปอีก 6 จังหวัดต่อจากนี้ เพราะเป้าหมายของโครงการคือการพัฒนาแหล่งน้ำไปพร้อม ๆ กับช่วยเหลือคนตกงาน ในรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า 4 ประสาน 3 ประโยชน์ ซึ่งหมายถึงการประสานระหว่าง 4 ฝ่าย ได้แก่ ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ, ราชการทั้งส่วนกลางจังหวัด และท้องถิ่น, ภาคเอกชน และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ส่วน 3 ประโยชน์ คือ แหล่งน้ำได้รับการฟื้นฟู, สร้างอาชีพด้วยการทำเกษตรแบบประณีตทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาด จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ในชุมชน”

ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินโครงการจำนวน 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) เงินลงทุน 48.8 ล้านบาท จนสามารถสร้างโครงการทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างอาชีพรวม 107 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 43 อำเภอ ของ 3 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2563) ทั้งยังมีการจ้างคนตกงานรวม 358 ราย แบ่งออกเป็น จังหวัดอุดรธานี 83 ราย, ขอนแก่น 145 ราย และกาฬสินธุ์ 130 ราย จนทำให้ครัวเรือนรับประโยชน์ 5,320 ครัวเรือน ทั้งยังมีพื้นที่รับประโยชน์ 30,990 ไร่ ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

คิดใหม่ ไทยก้าวต่อหลังโควิด-19

นอกจากนั้น ยังมีโครงการในเชิงนโยบายที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯชักชวนองค์กรสำคัญ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำโครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อมาช่วยกันหาข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรทำอะไรบ้างเมื่อโควิด-19 คลี่คลายลง ทั้งนั้น เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าดีขึ้น และยั่งยืน สำหรับเรื่องนี้กำลังจะได้ข้อสรุปราวปลายเดือน พ.ย. 2563

สำหรับโครงการนี้มีกรอบความคิด หรือประเด็นการวิเคราะห์หลายประเด็นสำคัญด้วยกัน เช่น 1) บริบทของสังคมโลก และประเทศไทยก่อนวิกฤตโควิด-19 และเมื่อโควิด-19 ส่งผลอะไรต่อสังคมโลก และประเทศไทย 2) สังคมโลกเปลี่ยน ประเทศไทยต้องปรับอะไรบ้าง และทิศทางที่ควรจะเป็นเช่นไร 3) คนไทยมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด และหากจำเป็นต้องปรับ หรือเปลี่ยน ต้องเตรียมการอย่างไร และ 4) หารูปแบบ หรือโมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย

สร้างแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว ดัชนีการบริโภค การผลิตปรับตัวขึ้นมาตามลำดับ การท่องเที่ยวภายในประเทศก็กลับสู่ระดับเกือบเป็นปกติ แต่เราไม่มีทางจะกลับไปจุดเดิมก่อนโควิด-19 ได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศเราเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางมายาวนาน จากสาเหตุคุณภาพประชากร คุณภาพเทคโนโลยี แรงงานมีอัตราเพิ่มน้อยที่สุดในอาเซียน และกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

“ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องเร่งทำงานกันอย่างหนัก และต้องไปทิศทางเดียวกัน ไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดี และยั่งยืนกว่าเดิม ตอนนี้ 50 ประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินงานตามแนวทางสร้างความยั่งยืน Green Recovery Plan หรือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คิดถึงสิ่งแวดล้อม ที่ลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดอันสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งภาครัฐและเอกชนแต่ละประเทศกำลังร่วมกันปรับรื้อธุรกิจบางสาขาเพื่อพลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส”

“ในขณะที่ World Economic Forum มีการคาดการณ์ว่า ตอนนี้ประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาพลังงานสะอาด ทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยจะส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านเหรียญ และเพิ่มการจ้างแรงงาน 395 ล้านคน ภายใน 10 ปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประเทศไทย และในทางตรงข้าม หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในสภาพภูมิอากาศ อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงถึง 600 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 2643”

ดังนั้น การรวมตัวของภาครัฐ และภาคเอกชน บนเวที “ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าจะ “ร่วมคิด ร่วมทำ” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้อนาคตของประเทศไทยอย่างไรต่อไป

เพราะโลกใบนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

แต่เป็นของมนุษยชาติทุกคน ?