ตรวจสุขภาพพนักงาน แก้โรคเครียดจากโควิด-19 ด้วย AI

พนักงาน

อาจเป็นเพราะมหันตภัยไวรัสโควิด-19 นำการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ ๆ มาสู่วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความเครียด และความกังวลด้านความปลอดภัยจากไวรัส จนส่งผลกระทบความมั่นคงในอาชีพ

ดังนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหลายองค์กรจึงให้ความสำคัญในการใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น เพราะมีผลต่อความต่อเนื่อง และประสิทธิผลของธุรกิจ ซึ่งหลายองค์กรในหลายประเทศได้ใช้ AI (artificial intelligence-ปัญญาประดิษฐ์) ในการเข้ามาดูแลสุขภาพจิตพนักงานในช่วงโควิด-19 มากขึ้น

ขณะที่ “ออราเคิล” (Oracle) ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนา human capital management (HCM) cloud (การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลระบบคลาวด์) และซอฟต์แวร์วางแผนข้อมูล และทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (enterprise resource planning-ERP) จึงจัดทำการสำรวจเกี่ยวกับภาวะผู้นำ และทัศนคติของพนักงานเกี่ยวกับสุขภาพจิต ทัศนคติต่อปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ หรือ chatbot ในสถานที่ทำงานร่วมกับ “เวิร์กเพลซอินเทลลิเจนซ์” (workplace intelligence)

ด้วยการสำรวจความคิดเห็นพนักงาน ผู้จัดการ ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารระดับสูง อายุ 22-74 ปี จำนวน 12,347 คน จากประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมนี, อินเดีย, ญี่ปุ่น, จีน, บราซิล และเกาหลี เมื่อหลายเดือนผ่านมา ทั้งนั้นเพื่อต้องการตรวจสอบสุขภาพของพนักงานในหลายประเทศว่าเป็นดั่งที่ตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

“ทวีศักดิ์ แสงทอง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2020 ถือเป็นปีที่สร้างแรงกดดันแก่แรงงานทั่วโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนทำงานทั่วโลกเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และความเหนื่อยล้ามากขึ้น

“ปีนี้พนักงานทั่วโลกกว่า 70% มีความเครียด และความวิตกกังวลในสถานที่ทำงานมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งความเครียด และความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลเชิงลบต่อสุขภาพจิตของแรงงานจำนวน 78% ทั่วโลก โดยก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้น (38%), การขาดสมดุลของชีวิตส่วนตัวและงาน (35%), ความเหนื่อยล้า (25%), ความหดหู่จากการไม่ได้เข้าสังคม (25%) และความโดดเดี่ยว (14%)”

“สำหรับแรงกดดันใหม่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มความเครียดในสถานที่ทำงานจากที่มีอยู่เดิม โดยคนทำงานส่วนใหญ่ (42%) มีความกดดันที่ต้องปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐาน, 41% กดดันจากการรับมือกับภารกิจประจำวัน และงานที่น่าเบื่อหน่าย และ 41% มีภาระงานที่ยุ่งยากจนไม่สามารถบริหารจัดการได้”

“ดังจะเห็นว่าโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพจิตในที่ทำงานให้แย่ลง แต่พวกเขายังรู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นที่บ้านด้วย โดย 85% กล่าวว่าปัญหาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงาน เช่น ความเครียด, ความวิตกกังวล และความหดหู่ ส่งผลถึงชีวิตส่วนตัวที่บ้าน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันมากที่สุด ได้แก่ คนจำนวน 40% นอนหลับไม่เต็มอิ่ม, 35% สุขภาพร่างกายทรุดโทรม, 33% ความสุขในบ้านลดลง, 30% ความสัมพันธ์ในครอบครัวย่ำแย่ และ 28% ปลีกตัวแยกจากมิตรสหาย”

“ทวีศักดิ์” อธิบายต่อว่าเมื่อชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวเริ่มไม่มีเส้นแบ่ง จากการที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) ในช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลทำให้คน 35% ทำงานมากขึ้น 40 ชั่วโมงต่อเดือน และ 25% เกิดความอ่อนล้าจากการทำงานมากเกินไป

การทำงานทางไกล (remote work) หรือทำงานจากบ้านมีทั้งข้อดีและข้อเสียโดยพนักงาน 62% พบว่า remote work มอบความสุขมากกว่าที่เคย โดย 51% ระบุว่าพวกเขามีเวลามากขึ้นสำหรับครอบครัว, 31% การนอน และ 30% สะสางงานให้สำเร็จ

“ขณะเดียวกันพนักงาน 85% กล่าวว่า ความเครียด, ความกังวล และความหดหู่จากการทำงาน ส่งผลกระทบถึงชีวิตส่วนตัวที่บ้านด้วย และ 84% ประสบปัญหาขณะทำงานจากที่บ้าน โดยส่วนใหญ่ (41%) ไม่สามารถแยกแยะเวลาระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว”

“และ 33% รับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ความเครียดและความกังวล ทั้งนี้ ผู้คน 42% กล่าวว่า ความเครียด, ความกังวล และความหดหู่ในการทำงานทำให้ความสามารถสร้างผลิตผลของพวกเขาลดต่ำลง และ 40% ระบุว่าสิ่งนี้นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดมากขึ้น”

“พนักงานทั่วโลกต้องการให้บริษัทมีตัวช่วยในการส่งเสริมสุขภาพจิตของพวกเขามากกว่านี้ โดยพนักงาน 76% เชื่อว่าบริษัทควรมีการปกป้องสุขภาพจิตของแรงงานมากกว่านี้, 51% สังเกตว่าบริษัทเพิ่งเริ่มมีการส่งเสริมสุขภาพจิตซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19, 83% ต้องการให้บริษัทของตนใช้เทคโนโลยีเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงาน”

“36% ต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพด้วยตนเอง, 35% ต้องการบริการให้คำปรึกษาตามคำขอ, 35% ต้องการเครื่องมือตรวจสุขภาพเชิงรุก, 35% ต้องการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นเพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหรือการทำสมาธิ และ 28% ต้องการโปรแกรมแชตบอตเพื่อตอบคำถามด้านสุขภาพ”

“หลายองค์กรในหลายประเทศได้ใช้ AI, หุ่นยนต์ และ chatbot เข้ามาดูแลสุขภาพจิตพนักงานในช่วงโควิด-19 มากขึ้น จากผลสำรวจทัศนคติของคนทำงานทั่วโลกพบว่าส่วนใหญ่ (68%) เข้าหาเทคโนโลยีมากกว่ามนุษย์เมื่อต้องการความช่วยเหลือ และการปรึกษา”

“มีพนักงานเพียง 18% ที่ชอบพูดคุยกับมนุษย์มากกว่า โดย 80% ยอมรับหากบริษัทจะนำหุ่นยนต์มาเป็นนักบำบัด หรือที่ปรึกษา เนื่องจากส่วนใหญ่ (34%) เชื่อว่าหุ่นยนต์สามารถพูดคุยได้โดยไม่ตัดสินพวกเขา, 30% คิดว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่ปราศจากอคติ และ 29% สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว”

“ทวีศักดิ์” กล่าวด้วยว่า ออราเคิลมีแอปพลิเคชั่นสำหรับ HR (human resource) บนระบบ cloud และมีฟังก์ชั่น digital assistant (ที่ปรึกษา/ผู้ช่วยดิจิทัล) ที่เป็นระบบ AI ช่วยให้คำปรึกษากับพนักงาน ซึ่งผลประกอบการของออราเคิลทั่วโลกในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในช่วงมิถุนายน-สิงหาคม 2020 ภาพรวมธุรกิจเติบโต 2% แต่ถ้าเทียบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของคลาวด์มีการเติบโตสูงถึง 33% ตรงนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หลายองค์กรทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจใช้ AI และหุ่นยนต์ดูแลพนักงานมากขึ้น

“จากผลสำรวจพนักงานทั่วโลก พบว่า 75% เชื่อว่า AI สามารถเยียวยาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานของพวกเขาได้ เพราะ 31% รู้สึกว่า AI ให้ข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์, 27% บอกว่า ลดภาระงาน และความเหนื่อยล้า และ 27% บอกว่าลดความเครียดผ่านการช่วยจัดลำดับงาน นอกจากนั้น 63% มองว่า AI สามารถเพิ่มกำลังการผลิต, 51% ชอบ AI เพราะทำให้มีวันหยุดพักร้อนยาวนานขึ้น, 54% เพิ่มระดับความพึงพอใจในงาน และ 52% ยกระดับความสุขโดยรวม”

ผลการศึกษาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องใหญ่ในช่วงเวลานี้ รวมถึงในทศวรรษต่อไปด้วยองค์กรต่าง ๆ จึงต้องเริ่มพูดคุยถึงสุขภาพจิตของพนักงาน และการแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหา

ถึงจะทำให้พนักงานมีสุขภาพจิตที่ดีในการรับมือกับมหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้