‘ประเทศอังกฤษ’ เฟ้นหาคนไทยเก่งคิดนวัตกรรมลดโลกร้อน

สหราชอาณาจักรจับมือทรู ดิจิทัล พาร์ค จัด Bangkok Climate Change Hackathon ชวนคนรุ่นใหม่ใช้ทักษะสตาร์ทอัพหาวิธีแก้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุ่นเครื่องก่อนงาน COP26 ที่อังกฤษ

“สหราชอาณาจักร” ร่วมกับ “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” จัดงาน Bangkok Climate Change Hackathon เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ร่วมการแข่งขันนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยใช้รูปแบบการทำงานแบบสตาร์ทอัพและมีหัวข้อการแข่งขันที่สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่จะจัดในปีหน้า ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยการแข่งขันจัดขึ้นเมื่อ 7-8 พ.ย. 2563 และได้ทีมผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อย

นางสาวอเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวว่า งาน Bangkok Climate Change Hackathon มีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายให้เกิดโซลูชั่นและนวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“การจัดงานครั้งนี้โฟกัสที่เรื่องเทคโนโลยีสะอาด (clean technology) และการสร้างความตระหนักถึงศักยภาพในการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green recovery) จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน ยังเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะจัดขึ้นที่สหราชอาณาจักรในปีหน้าด้วย”

อเล็กซานดรา แมคเคนซี

โจทย์การแข่งขันของมีหลายมิติและสอดคล้องกับหัวข้อการจัดประชุมงาน COP26 ดังนี้ 1. การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสะอาด (clean growth) 2. กลไกด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) 3. การปรับตัวและการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต (adaptation and resilience) และ 4. การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solutions)

นอกจากนั้นมีการจัดสัมมนาออนไลน์ 3 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม สตาร์ทอัพ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐของไทยและต่างประเทศ

“เราได้คัดเลือก 17 ทีมผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เพื่อร่วมเวิร์คชอปที่ช่วยพัฒนาแนวความคิดและออกแบบธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเวิร์คชอปเรื่อง Product Prototyping และ Application Development พร้อมทั้ง Perfect the Pitch 101 ที่เสริมทักษะการนำเสนอเพื่อชนะใจนักลงทุน โดยทุกทีมได้รับโอกาสในการพบปะพี่เลี้ยงแบบตัวต่อตัว ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อช่วยแนะนำแต่ละทีมในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในโลกแห่งความจริง”

ทีม 4Change

หลังจากการนำเสนอแนวความคิดและแผนธุรกิจก็ได้ทีมผู้ชนะคือ 4Change ประกอบด้วย นายศิวกร วัชราเวคิน และนางสาวแพรวพรรณ ชีวมงคล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางสาวอภิชาดา อัชนันท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางสาววริศรา วัลลภศิริ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวพิสชา ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล จาก University of California, Berkley สหรัฐอเมริกา

ทีม 4Change จะได้รับรางวัลมูลค่ากว่า 360,000 บาท ประกอบด้วย เงินสด 60,000 บาท และสิทธิ์นั่งทำงานที่ Co-working space ของทรู ดิจิทัล พาร์ค 1 ปี มูลค่า 270,000 บาท รวมถึงได้เครดิตของ Amazon Web Services มูลค่า 30,000 บาท พร้อมได้รับการสนับสนุนเป็นเวลา 1 ปีจาก Department for International Trade (DIT) ที่ช่วยสตาร์ทอัพเฟ้นหานักลงทุนในสหราชราชอาณาจักรที่มีความสนใจตรงกัน

นางสาววริศรา ตัวแทนทีม 4Change กล่าวถึงไอเดียของทีมว่าเกิดจาการเห็นปัญหาการทิ้งโฟมปักดอกไม้ให้เป็นขยะถึงปีละ 3.4 ล้านชิ้น โฟมเป็นประเภทขยะที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่าจะมีจำนวนมากและสร้างผลกระทบมหาศาล ทางทีม 4Change จึงเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อว่า Biosys เป็นบล็อกปักดอกไม้ที่ย่อยสลายได้ เพราะทำมาจากขยะอาหารและสามารถหมุนเวียนนำกลับไปเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืชได้

“โครงการ Bangkok Climate Change Hackathon ช่วยพัฒนาความคิดของเราให้เป็นรูปร่าง และออกมาเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ จากการเข้าร่วมแข่งขันทำให้ได้ความรู้และทักษะด้านธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่สำคัญคือได้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแล และงานนี้ได้ทำให้พวกเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเปลี่ยนแปลงโลกได้เช่นกัน”


สำหรับทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ Laika นำเสนอแนวคิดการผลิตอาหารสุขภาพสำหรับสุนัขที่ทำจากแมลง ซึ่งมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าอาหารสุนัขทั่วไป และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ Sapien มีแนวคิดนำสาหร่ายขนาดเล็กมาปลูกบนพื้นผิวอาคารด้านนอก ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพื่อลดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังนำสาหร่ายไปใช้ในการผลิตน้ำมันชีวภาพได้อีกด้วย โดยผู้ชนะทั้ง 3 ทีมจะร่วมนำเสนอแนวคิดที่มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้