3 องค์กรโลกจัดเวทีสาธารณะ ปรับทัศนคติเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติหญิง

อียู – ไอแอลโอ – ยูเอ็น วูแมน จัดเวทีสาธารณะมุ่งเปลี่ยนแปลงทัศนคติเยาวชนและประชาชนต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ เพื่อช่วยขจัดความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิงข้ามชาติในไทย

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันสากลเพื่อการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (International Day for the Elimination of Violence against Women) ด้วยเหตุนี้ 3 หน่วยงาน “อียู – ไอแอลโอ – ยูเอ็น วูแมน” จึงร่วมกันจัดแคมเปญ “ส่องประกายคนรุ่นใหม่ หัวใจเท่าเทียม” (Spotlight on Generation Equality) เมื่อวานที่ผ่านมา (25 พ.ย. 2563) หวังกระตุ้นคนรุ่นใหม่เป็นแนวร่วมในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และร่วมขจัดอคติและการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติหญิง โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อคนรุ่นใหม่

“ซาร่าห์ นิบส์” รักษาการผู้อำนวยการ องค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าแรงงานข้ามชาติในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้รับความเดือดร้อน ทั้งจากการถูกเลิกจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม ปัญหาการขอรับบริการสุขภาพและสังคมที่ไม่เท่าเทียม เป็นต้น

“โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติหญิง ซึ่งต้องเผชิญความเสี่ยงและความเปราะบางสูง ด้วยมีสิ่งกดทับในสองมิติ ด้านหนึ่งคือ อำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิง และอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และอีกด้านหนึ่งคือ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ซึ่งแสดงออกผ่านการกระทำที่เลือกปฏิบัติ เช่นการกีดกันการเข้าถึงบริการหรือการคุ้มครองต่าง ๆ รวมถึงการคุ้มครองทางสังคม”

สอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการเซฟ แอนด์ แฟร์ (Safe and Fair) ที่ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ในการสำรวจทัศนคติของเยาวชนไทยต่อแรงงานข้ามชาติ โดยพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ร้อยละ 30 ของเยาวชนที่ร่วมทำการสำรวจมีความคิดว่า แรงงานข้ามชาติที่ประสบความรุนแรง ไม่ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หากไม่มีสถานะการย้ายถิ่นที่ถูกต้อง

ดังนั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ อันจะมีส่วนช่วยยุติการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิงข้ามชาติและยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการเซฟ แอนด์ แฟร์จึงได้จัดแคมเปญส่องประกายคนรุ่นใหม่หัวใจเท่าเทียมขึ้น โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การจัดบรรยายพิเศษเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การจัดแคมป์อบรมสำหรับผู้นำเยาวชน พร้อมทั้งการจัดเวทีสาธารณะ Spotlight on Generation Equality ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการขจัดความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ

“แกรม บักเลย์” ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO) เปิดเผยว่า จากการประมาณการของอ ILO ปี 2561 พบแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีจำนวนกว่า 11.6 ล้านคน โดย 5.2 ล้านคนเป็นแรงงานหญิงซึ่งเข้ามาทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ภาคก่อสร้างและอื่น ๆ

แกรม บักเลย์

​”สำหรับประเทศไทย สถิติล่าสุดระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวน 3.9 ล้านคน และส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งช่วยเติมเต็มการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย นอกจากนี้ สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มาจากแรงงานข้ามชาติยังมีมากถึงร้อยละ 4.3 – 6.6″

​ถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จะเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม ทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง แต่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานหญิง ยังคงเผชิญกับปัญหาจากทัศนคติคนในสังคม จนเป็นเหตุให้ถูกกีดกัน ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการต่าง ๆ ถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงเกิดความรุนแรง

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและขจัดการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติหญิง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามข้อ SDG 5 – ความเท่าเทียมทางเพศ SDG 8 – งานที่มีคุณค่า SDG 10 – การโยกย้ายอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ และ SDG 16.2 – การยุติการละเมิดการแสวงหาประโยชน์การค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ จำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ปลอดภัยและเป็นธรรม รวมถึงการป้องกันความรุนแรงโดยผ่านการฝึกอบรมและการรณรงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ

ด้าน “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีนโยบายป้องกันและตอบสนองต่อความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง โดยได้รับการสนับสนุนข้อแนะนำและเทคนิคจากยูเอ็น วูแมนระดับภูมิภาค และยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่ยูเอ็นพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการในการประกาศสัตยาบันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในปี 2562 ที่ผ่านมา

ในปี 2563 มธ. ได้ขยายความร่วมมือกับโครงการ เซฟ แอนด์ แฟร์ ดำเนินโครงการ Spotlight Initiative ขยายผลเรื่องการยุติการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิงข้ามชาติและยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ผ่านกิจกรรมการอบรมหลักสูตรสปอตไลท์ เทรนนิ่ง แคมป์ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งนักศึกษาที่เข้ารับการอบรมนอกจากจะได้รับความรู้ความเข้าใจ และเกิดทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติแล้ว ยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติหญิง ในการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติหญิงอีกด้วย

“ในปี 2564 มธ.และยูเอ็น จะขยายความร่วมมือเพื่อผลักดันประเด็นความรุนแรง ด้วยเหตุแห่งเพศสภาพและการยุติความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติมากขึ้น”