TCP Spirit ชู “บ้านตุ่นโมเดล” จัดการต้นน้ำยั่งยืน

ต้องยอมรับว่าจังหวัดพะเยามีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาที่ไหลกระจัดกระจาย เช่น กว๊านพะเยา, หนองเล็งทราย, แม่น้ำยม, แม่น้ำอิง และแม่น้ำลาวที่หล่อเลี้ยงคนพะเยามาจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะตำบลบ้านตุ่น ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญ เพราะมีต้นน้ำทอดยาวจากยอดดอยหลวงผ่านที่ราบลุ่มเกษตรกรรม จนถึงกว๊านพะเยาอันเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาและยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาหลากหลายสายพันธุ์ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำอิงไปรวมตัวกับแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย

ทว่า ในอดีตราว 30 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านบางส่วนมีการบุกรุกพื้นที่ป่าด้วยการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและไร่เลื่อนลอยบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ จนทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน ขณะเดียวกัน ตะกอนที่ไหลมากับน้ำยังทำให้ลำห้วยตุ่นที่อยู่ในพื้นที่ตื้นเขินส่งผลให้ขาดแคลนน้ำในการดำรงชีวิต และไม่สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลบ่าได้

แต่จากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมาตลอด 25 ปี ทำให้ลำห้วยตุ่นกลับมามีความอุดมสมบูรณ์และมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

กิจกรรมฐานนักสิบสายน้ำ

ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถทำเกษตรกรรมและมีน้ำใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ จนสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีโดยมีชุมชนและเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากลำห้วยตุ่นถึง 11 หมู่บ้าน หรือ 1,683 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากร 5,462 คน

นอกจากนี้ ยังขยายผลความสำเร็จสู่ความช่วยเหลือแก่ชุมชนอื่น ๆ อีกด้วย จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ “บ้านตุ่นโมเดล” ถึงทุกวันนี้

ผลเช่นนี้จึงทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP จัดกิจกรรม TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ “ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited” ด้วยการพาอาสาสมัครคนรุ่นใหม่กว่า 65 คน เรียนรู้ความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ “บ้านตุ่นโมเดล” ณ ชุมชนบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า นอกจากวิกฤตโควิด-19 ในปีนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ วิกฤตภัยแล้งที่รุนแรง และยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรเสียหายไปจนถึงเกิดการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP

ดังนั้น ในฐานะที่กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม ซึ่งใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต จึงมีความตั้งใจในการสร้างการเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“โดยผสานพลังคนรุ่นใหม่จากทีมอาสาสมัคร TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ นำโดยอเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador และทูตสันถวไมตรีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมาร่วมเคียงข้างอาสาสมัคร TCP Spirit เป็นปีที่ 3”

“ทั้งยังลงมือดูแลต้นน้ำและเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากบ้านตุ่นโมเดล เพื่อสร้างความเข้าใจในฐานะคนปลายน้ำ และส่งต่อเพื่อให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

“นอกจากนั้น อาสาสมัคร TCP Spirit ยังมีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อจะได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำ จากวิทยากรของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวมถึงชุมชน”

“การศึกษาเส้นทางธรรมชาติเพื่อทำความรู้จักกับโครงสร้างของป่าไม้ต้นน้ำ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาและแนวทางแห่งความสำเร็จ การขุดลอกลำเหมือง การทำประปาภูเขา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น รวมถึงการปลูกต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการผืนป่าต้นน้ำ เช่น ต้นไผ่ และหญ้าแฝก”

กิจกรรมปลูกต้นไผ่

“ความคาดหวังของ TCP ผมอยากทำให้เกิดการส่งต่อความคิด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติผ่านอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นภาพของชุมชนที่เขาลงมือบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน ดังจะเห็นว่าคนเมืองซึ่งเป็นคนปลายน้ำใช้น้ำอย่างไม่ค่อยคิด แต่สำหรับคนต้นน้ำอย่างชุมชนกลับคิดเยอะ”

“ดังนั้น ถ้าแต่ละชุมชนมีความคิดในลักษณะเดียวกัน ประเทศจะเข้มแข็งมากขึ้น ผลเช่นนี้จึงทำให้ผมอยากขยายโครงการออกไปให้กว้างขึ้น เพราะปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่รุนแรงขึ้นทุกปี ดังนั้น เราเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจน้ำจึงต้องมาคิดว่าทำอะไรได้อีกบ้าง ที่สำคัญต้องมาจากพื้นฐานที่ดี และความต้องการของแต่ละชุมชนด้วย”

อันไปสอดคล้องกับแนวคิดของ “ดร.รอยล จิตรดอน” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิดวางแผนปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นจนเกิดการมีส่วนร่วมระดับประเทศ อย่างบ้านตุ่นโมเดลตรงลำห้วยตุ่นมีการกำหนดกฎระเบียบเพื่อจัดสรรน้ำให้ทุกชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอ เช่น มีการกำหนดวันปล่อยน้ำ และมีคณะกรรมการจัดการน้ำทุกหมู่บ้าน

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

“สำหรับการกระจายน้ำแบบบ้านตุ่นโมเดล แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ, กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำและกลางน้ำจะจ่ายน้ำ 3 วัน และปิดเพื่อสะสมน้ำอีก 10 วัน ในขณะที่ปลายน้ำจะจ่ายน้ำ 4 วัน ทุกปีชาวบ้านทุกคนจะรวมกันขุดลอกลำราง ลำเหมือง และดายหญ้า เตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการรับน้ำ การแก้ไขปัญหาลักษณะนี้จึงต้องมีการส่งต่อไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในการแก้ไขระดับประเทศต่อไป”

“เพื่อให้สอดคล้องกับนักวิชาการทั่วโลก ไม่ว่าจะยุโรป จีน สหรัฐ ที่ต่างมองว่าประเทศไทยคือจุดศูนย์กลาง ที่เรียกว่า world water security ความมั่นคงเรื่องน้ำของโลก เพราะเราอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ของแม่น้ำอิรวดี, สาละวิน, เจ้าพระยา และแม่น้ำโขง ถ้าเราบริหารจัดการดีจะกลายเป็น world food security และนี่คือจุดแข็งของประเทศไทยที่แท้จริงไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม”

ถึงตรงนี้ “อเล็กซ์ เรนเดลล์” กล่าวเสริมว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากต้นตอของปัญหา เพราะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วมจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำเช่นกัน

ฉะนั้น การเป็น TCP Spirit Brand Ambassador ถึง 3 ปี ทำให้ผมได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้ที่พัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมลงมือแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กับทุกคน และโอกาสที่ส่งต่อพลังความตั้งใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับอาสาสมัครที่จะเติบโตเป็นพลังแห่งการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในอนาคตต่อไป

อเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador
อเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador

“ผมเคยทำเรื่องน้ำมาหลายแห่ง รวมทั้งเคยศึกษาระบบท่อน้ำตามชุมชนต่าง ๆ ซึ่งมีปัญหามากมายที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน แต่สำหรับบ้านตุ่นโมเดลผมเห็นชุมชนทุกคน ทั้งผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านมาร่วมกันสร้างกฎกติการ่วมกัน รวมถึงได้เห็นภูมิปัญญาจัดการน้ำแบบง่าย ๆ อย่าง แตรูปปากฉลาม รวมถึงต๊าง สำหรับช่วยระบายน้ำ ส่งน้ำ ควบคุมปริมาณน้ำ ที่ทำให้ชุมชนแต่ละแห่งอยู่ร่วมกันได้”

“อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าอาสาสมัครจะเริ่มเห็นเป็นภาพเล็กภาพน้อยแล้วว่าน้ำสำคัญอย่างไร ต้องจัดการอย่างไร แล้วขั้นต่อไปต้องเอาภาพเหล่านั้นมาต่อจิ๊กซอว์กันให้ได้”

ขณะที่ “สม หลวงมะโนชัย” หรือ “พ่อสม” ตัวแทนจากชุมชนตำบลบ้านตุ่นกล่าวว่า นอกจากการร่วมกันดูแลน้ำแล้วยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการน้ำประกอบด้วย “แตรูปปากฉลาม” ซึ่งเป็นเครื่องผันน้ำไปยังที่สูงโดยไม่ใช้พลังงานด้วยการนำมาประยุกต์ใช้จากการผันน้ำแบบดั้งเดิมของล้านนา มีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมมาตั้งกั้นบริเวณรอยต่อของลำเหมืองของทั้งสองสาย ดังนั้น เมื่อกระแสน้ำพัดมาจะมีแรงดันให้น้ำส่วนหนึ่งไหลไปยังที่สูงกว่าได้ และบางส่วนก็ไหลลงลำเหมืองเดิม

สม หลวงมะโนชัย ผู้คิดค้นแตปากฉลาม
สม หลวงมะโนชัย ผู้คิดค้นแตปากฉลาม

“ปัจจุบันแตรูปปากฉลามช่วยกระจายน้ำอย่างทั่วถึง ทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและครัวเรือนชาวบ้านตลอดสายน้ำก็มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีต๊างนา ร่องน้ำที่ใช้ในการลำเลียงน้ำเข้านา และยอยน้ำ ร่องน้ำที่ใช้ทยอยน้ำออกจากนาอีกด้วย”

นับว่าเป็นการประยุกต์เครื่องมือจากภูมิปัญญาชาวบ้านให้มาสอดรับกับการแก้วิกฤตครั้งนี้อย่างน่าสนใจ