คนรุ่นใหม่กับความยั่งยืน

คอลัมน์ CSR Talk
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนที่องค์การสหประชาชาติมีอายุครบ 75 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกสามารถสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่อายุของสหประชาชาตินั้นเกือบจะเทียบเท่ากับอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นของประชากรโลก แต่อนาคตของทุกคนย่อมอยู่ในมือของผู้ที่เพิ่งมาใหม่ และนั่นคือเยาวชนคนหนุ่มสาวของพวกเรา

“กีต้า ซับบระวาล” @SabharwalGita ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และ “ดร.อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา” @UN_Armida รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาวที่เป็นผู้ประกอบการสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาของประเทศไทย และของโลก

โดย UN มองว่า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่คือบ่อเกิดของนวัตกรรม และพลวัตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจเหล่านี้สร้างงาน และแสวงหาหนทางในการเลี้ยงชีพให้กับคนนับล้าน การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และเสียงของคนรุ่นใหม่ในการทำงานเพื่อท้าทายปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม และโอกาสทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีอยู่แล้วคือ “ความตระหนักรู้” ต่อปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้เคลื่อนไหวในรูปแบบของผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อรับมือต่อปัญหาเร่งด่วนต่าง ๆ รวมถึงโควิด-19 และกำลังนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่อิงกลไกตลาดอย่างมีนวัตกรรม ซึ่งแตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมที่เน้นเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจ

การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการให้สามารถใช้ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างแท้จริง โดยประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงมี 3 ประการ คือ

หนึ่ง เราต้องแน่ใจว่าผู้นำทางธุรกิจรุ่นใหม่นั้น คำนึงถึงจุดประสงค์ทางสังคมควบคู่ไปกับผลกำไร การศึกษาคือหัวใจสำคัญการบรรลุเป้าหมายนี้และรัฐบาลจะมีบทบาทหลัก เช่น การจัดตั้งศูนย์ผู้ประกอบการของรัฐบาลปากีสถาน ซึ่งมีภารกิจเพื่อสนับสนุนนักศึกษา และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการหาวิธีแก้ปัญหาทางธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมสำหรับปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สอง เราต้องขยายผลการใช้แนวทางแก้ปัญหาทางการเงินที่มีนวัตกรรม โดยใช้การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกมาเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการจัดหาเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า รัฐบาลไทยได้ผ่านพระราชกฤษฎีกาการยกเว้นรัษฎากร เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม และผู้ลงทุนในกิจการเพื่อสังคมเรียบร้อยแล้ว

สำหรับตัวอย่างในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) และกองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) ได้ให้การสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ เช่น iFarmer ในประเทศบังกลาเทศ

เพื่อให้สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นดิจิทัลเพื่อวางระบบการจัดสรรผลกำไร ระหว่างนักลงทุนในเมือง และสตรีผู้ประกอบการทางเกษตรกรรมในชนบทในการซื้อ และการจัดการปศุสัตว์

หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดการปศุสัตว์ (การเลี้ยงและการจำหน่ายโคกระบือ) นักลงทุนและผู้ประกอบการสตรีจะแบ่งปันผลกำไร ในขณะที่ iFarmer จะได้รับส่วนแบ่งในรูปของค่าธรรมเนียมการจัดการ

อย่างไรก็ตาม จากการปิดเมืองจากสถานการณ์โควิด-19 ในบังกลาเทศ ทำให้ iFarmer จำต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้รูปแบบธุรกิจของพวกเขาอยู่รอด ซึ่งในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์ iFarmer สามารถปรับรูปแบบธุรกิจและเปิดการเจรจา เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ได้ ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาหลายเดือน

สาม การส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัล แม้ว่าเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะนำมาซึ่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับงาน และอนาคตของการทำงาน

แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีศักยภาพในการกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการจำนวนมาก และวิธีการทำธุรกิจใหม่ ๆ ดังเช่นที่เอสแคปกำลังสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพประเภทเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech เช่น Aeloi Technologies เพื่อพัฒนาการเงินดิจิทัล และแนวทางแก้ปัญหาสีเขียวสำหรับผู้ประกอบการสตรี

โดยเป้าหมายของ Aeloi คือ การระดมทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้ประกอบการสตรีรายย่อย เพื่อให้แหล่งทุนมีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบและเข้าถึงได้โดยใช้โทเคนดิจิทัล (digital token) และเพื่อสร้างการเชื่อมโยงแบบดิจิทัลระหว่างผู้ให้ทุนและผู้ขายคาร์บอนเครดิต

โดยเฉพาะกับกลุ่มรถมินิบัสไฟฟ้าในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ระบบของพวกเขาช่วยให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนทุก ๆ 1 ดอลลาร์จะถูกนำไปใช้สร้างระบบขนส่งที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ผ่านการให้ข้อมูลการติดตามสภาพอากาศและผลกระทบทางสังคมตามเวลาจริง

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ประกอบการสตรีต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าผู้ประกอบการชายอย่างมากในการเริ่มต้นและขยายธุรกิจของพวกเขา ผู้ประกอบการสตรีทั่วทั้งภูมิภาคมักต้องเผชิญกับกรอบกฎหมายที่ปิดกั้น การเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำกัด การขาดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถ และบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เลือกปฏิบัติ เราต้องการแนวทางแก้ปัญหาที่เน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาเครื่องมือ และสร้างระบบนิเวศที่จำเป็นในการเอื้อให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้ประกอบการได้

ด้วยประเด็นเหล่านี้ เอสแคปจึงเปิดตัวโครงการ “Catalyzing Women’s Entrepreneurship” จนถึงปัจจุบันโครงการได้ช่วยให้ผู้ประกอบการสตรีมากกว่า 1,000 ราย ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรม การเข้าถึงแหล่งทุน การจ้างงาน และโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ

วันครบรอบ 75 ปีของสหประชาชาติ จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทศวรรษใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการฟื้นตัวจากวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ณ วินาทีนี้ เราต่างเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงการแก้ปัญหาอย่างมีนวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่