ตั้งรับขาดแคลนแรงงาน ใช้ Big Data เก็บข้อมูลต่างด้าว

เอฟเฟ็กต์จากโควิด-19 ยังคงกระทบต่อภาคธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาเดินเครื่องการผลิต

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วิสูตร พันธวุฒิยานนท์” ประธานบริหาร บริษัท เอชอาร์.ไดเจสท์ จำกัด และนายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงานที่มีลูกค้ารายใหญ่มากกว่า 50 ราย ถึงสถานการณ์แรงงาน และทิศทางธุรกิจรับเหมาแรงงานหลังโควิด-19 เป็นอย่างไร

วิสูตร พันธวุฒิยานนท์ ประธานบริหาร บริษัท เอชอาร์.ไดเจสท์ จำกัด
วิสูตร พันธวุฒิยานนท์ ประธานบริหาร บริษัท เอชอาร์.ไดเจสท์ จำกัด

ในวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก “วิสูตร” ฉายภาพตลาดแรงงานในขณะนี้ว่า ตามข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจภาคการบริการ

หากมองในมุมของกิจการรับเหมาแรงงาน แบ่งภาคธุรกิจออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) ธุรกิจที่ดีแบบถาวร และ

2) ธุรกิจดีแบบไม่ถาวร

ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะโรงงานเหล่านี้รับผลิตสินค้า (OEM) ให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ป้อนให้บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แม้แต่หุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ปรับราคาขึ้นทั้งกระดาน อย่างบริษัทไมโครซอฟท์ก็กลับมาทำกำไรได้สูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงบริษัทแอปเปิลด้วย

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานการผลิตชั่วคราวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย ไม่สามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดได้ ยกตัวอย่างการผลิตพรินเตอร์บางยี่ห้อได้ให้โรงงานในประเทศไทยเป็นผู้ผลิตแทน

จากเดิมที่เคยผลิตชิ้นส่วนอยู่ราว 2,400 ล้านตัว ปรับการผลิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 4,000 ล้านตัว เพราะได้คำสั่งซื้อมาจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ต้องหยุด shutdownประเทศ ทำให้มีความต้องการแรงงานเข้าไปซัพพอร์ตการผลิตอีกราว 1,000 คน เอชอาร์จึงจัดส่งแรงงานเข้าไปเสริมการผลิตให้แล้ว

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศ “วิสูตร” บอกว่า ค่อนข้างทรงตัว แถมมีรถยนต์ที่มียอดขายจากการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่เดิมทีคนญี่ปุ่นจะนิยมเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ แต่ตอนนี้หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น เพราะกังวลจากการระบาดของโควิด-19

ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รวมแล้วกว่า 1,000 อัตรา อีกเหตุผลคือแม้ว่าการขายรถยนต์ใหม่จะน้อยลง แต่รถยนต์ต้องเปลี่ยนยางตามอายุการใช้งาน นั่นหมายถึงว่าจะมีความต้องการแรงงานจากอุตสาหกรรมยางมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับภาวะการขาดแคลนแรงงานข้างต้น “วิสูตร” ระบุว่า เกิดขึ้นจากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของประชากรไทย “น้อยมาก” จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้้น เริ่มส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงอายุตั้งแต่ 18-45 ปี อีกทั้งเมื่ออายุ 40-50 ปี แรงงานส่วนใหญ่จะกลับบ้านต่างจังหวัด และไม่กลับเข้ามาในระบบงานอีก และในขณะนี้มีนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยมากขึ้นอีกด้วย

“แรงงานที่ขาดแคลนในขณะนี้อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตยางรถยนต์ เมื่อประเมินจากจำนวนรถยนต์ที่มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 1,000 ล้านคัน ต้องมีเปลี่ยนยาง ยางจึงมียอดขายดีขึ้น จึงทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมาที่ไทย และธุรกิจที่สวนทางในขณะนี้คือเทคโนโลยี, แผงวงจร ฯลฯ”

“เนื่องจากมาร์จิ้นค่อนข้างสูงบริษัทใหญ่จากสหรัฐอเมริกาย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ไต้หวัน จนกลายเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ พวกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังดีอยู่แบบสวนทาง แต่ไม่ได้ดีทั้งกระดาน”

“สมมุติว่ามีชิ้นส่วนรวมทั้งสิ้นกว่า 240 ตัว อาจจะดีเพียง 30 ตัว รถยนต์ยังดีอยู่ตรงที่ว่าต้องจับตากันเดือนต่อเดือน ซึ่งบางโรงงานถ้าไม่มีออร์เดอร์เข้ามายังไม่หยุดไลน์ผลิต แต่อาจจะไม่มีโอที เมื่อโรงงานไม่มีโอที แรงงานบางส่วนก็ไหลออกแน่นอน ต้องตั้งรับให้ดี”

แม้จะเป็นกิจการรับเหมาแรงงานติดอันดับท็อปทรีของประเทศก็ตาม “วิสูตร” ยอมรับว่าแม้จะเป็นบริษัทใหญ่แต่หาแรงงานยากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปีเหมือนในขณะนี้ และเพื่อให้การหาแรงงานเป็นระบบมากขึ้น

ล่าสุดเขาจึงตัดสินใจลงทุนสร้างระบบ big data จัดเก็บข้อมูลแรงงานทั้งหมดเอาไว้ ปัจจุบันมีข้อมูลรวมกว่า 150,000 คน จากแรงงานที่เคยทำงานร่วมกันรวมกว่า 200,000 คน ซึ่งจะช่วยให้ขั้นตอนการจัดหาแรงงานตามลูกค้าสั่งได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

“บริษัท เอชอาร์.ไดเจสท์ เปิดดำเนินการมา 17-18 ปีแล้ว จนบางคนที่เคยทำงานกับเราต่างก็มีครอบครัวไปจนหมดแล้ว ซึ่งหากรุ่นลูกสนใจจะเข้ามาทำงานก็เข้ามาได้ แต่ปัจจุบันต้องบอกว่าเราผิดฝาผิดตัวไป ตรงที่ว่าพ่อ-แม่ ไม่อยากให้รุ่นลูกต้องมาทำงานหนัก”

“อย่างเช่นงานในโรงงานหรือเป็นชาวไร่ชาวนา ส่งลูกเรียนให้จบปริญญาตรี แต่ตอนนี้ตลาดไม่ได้ต้องการคนจบปริญญามากนัก ฉะนั้น เด็กที่เรียนจบใหม่จึงหางานยากยอมที่จะตกงาน แต่ไม่ต้องการลดวุฒิลงมาทำงาน และส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว mindset และพฤติกรรมของคนในยุคนี้ก็เปลี่ยนไปคือไม่ทำงานร้อน งานเหนื่อย”

“วิสูตร” ยังระบุอีกว่า นักศึกษาจบใหม่มีความคิดที่จะทำงานในภาคการเกษตรมากขึ้น เพราะได้อยู่บ้านเกิดมีรายได้ที่ 10,000 บาทต่อเดือนก็เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแล้ว ไม่ต้องรับภาระค่าเช่าที่พักและค่าครองชีพก็ไม่สูงเหมือนกับในเมืองใหญ่ ยิ่งทำให้แรงงานในระบบน้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่ต้องผชิญเท่านั้น เพราะประเทศในกลุ่ม CLMV ทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน คือ

1) ภาครัฐจะต้อง synergy ระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อระดมสมองในการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจรมากขึ้น

และ 2) สร้างคนทำงาน-แรงงานที่มีคุณภาพ และคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของตลาดในขณะนี้อย่างมาก คือ ต้องพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษาคือ ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ด้วยการปลูกฝังกันตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา

“แต่ตอนนี้ผมมองว่า cycle ทำไม่ทันแล้ว เมื่อโควิด-19 หมดไป ภาพรวมระบบแรงงานจะอั้น และเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยง อีก 2 ปีต้องอยู่ให้ได้ รัฐบาลต้องพยายามหารูปแบบใหม่ในการจูงใจแรงงาน และแรงจูงใจสำหรับนักลงทุน”

“การสนับสนุนการลงทุนโดยใช้เครื่องมือด้วยการส่งเสริมลงทุนจาก BOI ผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นเรื่องภาษีเป็นหลัก แต่ถามว่าจะนำแรงงานมาจากไหน สมมุติว่าวันนี้เรามีโรงงานอยู่ราว 5,000 โรงงาน ถ้าเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานใหม่อีก 1,000 โรงงาน ความต้องการแรงงานที่ 500 คนต่อแห่ง รวมจำนวนแรงงานกว่า 500,000 คน ถามว่าจะเอามาจากไหน ผมอยู่ในวงการยังตอบคำถามนี้ไม่ได้เลย”

ในช่วงท้าย “วิสูตร” บอกว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะต้องเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคธุรกิจจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

อีกทั้งหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลยในอีก 7 ปีข้างหน้าประเทศจะต้องเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ภาครัฐอาจจะต้องใช้วิธีสนับสนุนให้คนมีลูกอย่างน้อย 2 คน เหมือนอย่างที่ประเทศจีน และสิงคโปร์กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้