Read, Live and Learn สร้างการเรียนรู้ในทุกช่วงชีวิต

Read,Live and Learn

คำกล่าวที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละแค่ 8 บรรทัด” อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้หรือ TK Park พบว่าคนไทยอ่านหนังสือจาก “สื่อต่าง ๆ” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่ม, อีบุ๊ก, บทความในสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์รวมกันแล้ว 80 นาทีต่อวัน

“กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park บอกว่าประเด็นที่น่าสนใจจากการอ่านว่ามีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ และมีปัจจัยแทรกซ้อนอย่างโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว

ส่งผลให้หลายสถานที่จำเป็นต้องปิดบริการชั่วคราว และพื้นที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เซ็นทรัลเวิลด์เองก็อยู่ในจังหวะที่กำลังปิดปรับปรุง และเปิดพื้นที่บริการชั่วคราว

กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park

“ส่งผลให้ห้องสมุดออนไลน์ของอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่ให้บริการสื่อดิจิทัลด้านการอ่านการเรียนรู้ได้รับความนิยมขึ้นมา เพราะให้บริการยืมหนังสือได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งยังทำให้ผู้อ่านเข้าถึงหนังสือได้กว่า 20,000 เล่ม ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

“ผลปรากฏว่าในช่วงดังกล่าวมียอดผู้ยืมสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า และถึงแม้การแพร่ระบาดภายในประเทศจะลดน้อยลง แต่ยอดการยืมและใช้บริการห้องสมุดออนไลน์ไม่ได้ลดลงเลย แสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ และคุ้นชินกับการอ่านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว”

“โดยหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และยืมมากที่สุดอันดับ 1 คือ แนวนวนิยาย จึงทำให้ตีความได้ว่าในชีวิตประจำวันมีแต่ความตึงเครียด ผู้คนจึงต้องการพาตัวเองเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ เพื่อเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง”

“การอ่านนิยายจึงช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านมีจินตนาการดียิ่งขึ้น การนึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือออกมาให้เห็นเป็นภาพนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์ และการอ่านนิยายทำให้เราต้องจดจ่ออยู่กับเรื่องราวในหนังสือ ทำให้เกิดสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานหรือการเรียนทำได้ดี”

“นอกจากนี้ การอ่านนิยายยังช่วยเพิ่มทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือ empathy อย่างมีนัยสำคัญ เพราะคนอ่านจะรับรู้ถึงภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว เกิดเป็นความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด ตัวละครแต่ละตัวถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น ผลการศึกษายังพบอีกว่า คนที่อ่านนิยายประจำจะสามารถปรับตัวเข้าสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นกว่าคนที่ไม่อ่านด้วย”

“กิตติรัตน์” กล่าวต่อว่า ตอนนี้หนังสือแนวพัฒนาตัวเองได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สาเหตุเพราะโรคโควิด-19 เข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการ และมีคนตกงานจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้คนอยู่เฉยไม่ได้ จำเป็นต้องตื่นตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับโลกในอนาคตที่ทักษะบางประการจะหายไป และทักษะอื่น ๆ จะทวีความสำคัญขึ้นมาแทน

“อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการอ่านเยอะ เรียนรู้มาเยอะ ลงมือทำเยอะ และผิดพลาดมาเยอะ การร่วมแชร์ไอเดียในประเด็นต่าง ๆ กับผู้อื่นถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการคิด และเรียนรู้ได้มากกว่าการคิดตัวเดียว ทั้งยังช่วยให้รู้วิธีทำงานกับคนอื่นด้วย รู้มารยาทว่าอะไรควรจบในห้องประชุม รู้ว่าอะไรไม่ควรนำออกไปเผยแพร่ข้างนอกวงสนทนา”

“นอกจากนี้ ความคิดดี ๆ สามารถมาจากคนได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในบางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องใช้ไอเดียจากคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะมีความสำคัญ และมีประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น หากต้องการทำบริการเพื่อกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น การเอาผู้ใหญ่มาช่วยกันออกไอเดียเพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“ดังนั้น จงอย่าหยุดเรียนรู้ อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง ซึ่งสถาบันอุทยานการเรียนรู้พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างปัญญาให้ประชาชน”

เพื่อก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้