แค่ใจก็เพียงพอ “นิสสัน” ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม

นิสสัน

ถือเป็นอีกปีที่ “นิสสัน” เดินหน้าจัดโครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมยั่งยืน อันเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่นิสสันดำเนินมาตลอด 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 สำหรับปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 นิสสันยกระดับจากเปิดรับสมัครให้คนทั่วไป

โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ และคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการจัดการขยะ การสร้างมูลค่าให้กับวัสดุที่มีในแต่ละชุมชน สู่การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

รวมถึงผู้ประกอบการ สตาร์ตอัพ หรือเอสเอ็มอี ส่งโครงการออกแบบนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม, สังคมเมือง และวิถีการดำเนินชีวิต เข้ามายังโครงการเพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง

“ราเมช นาราสิมัน” ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในการภารกิจสำคัญของนิสสันคือการสนับสนุนความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งโครงการแค่ใจก็เพียงพอ ถือเป็นโครงการหลักที่นิสสันดำเนินมาตลอด

โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Nissan Social Innovation Platform 2020” อันสอดคล้องกับเป้าประสงค์ (corporate purpose) ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม อันเป็นหัวใจสำคัญในการตอบสนองต่อพลวัตทางสังคม พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงานรวมถึงพาร์ตเนอร์ทุกภาคส่วนด้วย

ราเมช+ชยภัค
ชยภัค ลายสุวรรณ (ซ้าย) ราเมช นาราสิมัน (ขวา)

สอดคล้องกับ “ชยภัค ลายสุวรรณ” ผู้จัดการทั่วไป สายงานการสื่อสาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวว่า โครงการแค่ใจก็เพียงพอเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2560 โดยปีแรกต้องการส่งเสริมแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย ด้วยการเฟ้นหาบุคคลต้นแบบ 10 คนที่น้อมนำคำสอนแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการทำงาน และการใช้ชีวิต

“จึงได้พาผู้สมัครร่วมโครงการไปเยี่ยมชมบุคคลต้นแบบเป็นระยะทางทั่วประเทศกว่า 1,500 กม. และปีต่อมาขยับความร่วมมือสู่มหาวิทยาลัย โดยร่วมกับนักศึกษาปี 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำงานร่วมกับชุมชนจังหวัดเพชรบุรี ด้วยแนวคิดนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมทักษะ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผ่านกระบวนการรีไซเคิล พร้อมดีไซน์ให้มีความสวยงาม จนกลายเป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชุมชนสามารถผลิต และนำไปจำหน่ายได้”

“จากการดำเนินงานผ่านมาพบว่ายังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่น ความไม่ต่อเนื่อง เราจึงขยายโอกาสด้วยการเปิดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมพัฒนาความยั่งยืนสู่ชุมชน ด้วยโจทย์การจัดการกับวัสดุของเหลือใช้ในท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมอัพไซเคิล โซลูชั่น”

“โดยมีนักศึกษาทั่วประเทศให้ความสนใจ และเข้าร่วมโครงการมากถึง 138 ทีม จาก 33 มหาวิทยาลัย เพื่อทำการคัดเลือกเข้ามาลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดจันทบุรี พร้อมกับออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ จนได้ทีมชนะเลิศ เป็นทีมที่นำเปลือกหอยนางรมเหลือทิ้งจำนวนมากมาทำเป็นอิฐบล็อกสำหรับใช้งาน”

“เรามองว่าที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการคือการเรียนรู้ อาจจะยังไม่ต่อเนื่อง จึงคิดว่าปีต่อมาต้องขยายสู่ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น และตั้งเป้าว่าผลงานทุกผลงานจะต้องตอบโจทย์สังคมมากกว่านี้ และถูกนำไปใช้ได้จริง”

“โดยเน้นหลักเกณฑ์ที่ชัดขึ้น คือ 1.เป็นเรื่องของการส่งเสริมแนวคิดด้านนวัตกรรม 2.การหาโซลูชั่นหรือการหาการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนให้กับสังคม และ 3.โจทย์นวัตกรรมจะต้องตอบโจทย์เพื่อสังคมทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ สังคมเมือง, สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิต ที่สำคัญจะต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือหากเป็นโครงการที่เคยทำมาแล้วจะต้องมีการอัพเดตแนวคิดให้ใหม่ขึ้น”

“ชยภัค” กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน และส่งผลงานเข้ามาทั้งสิ้น 187 โครงการ ซึ่งทั้งหมดผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการจนได้ 12 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

โดยทั้ง 12 ทีม จะเข้าร่วมกิจกรรมเพาะบ่มนวัตกร และแฮกกาธอน (Hackathon) เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2564 ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐาน และกระบวนการสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

“เพื่อได้เรียนรู้กับเทคโนโลยีไอทีล้ำสมัยจากไมโครซอฟท์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ทุกโครงการก้าวข้ามขีดจำกัดในยุคดิจิทัล นอกจากนั้น สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยยังเตรียมหลักสูตรเพื่อเสริมองค์ความรู้ด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการสร้างเรื่องราว (storytelling) เพื่อนำไปสู่การรับรู้ ยอมรับ และนำไปใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “ชาลิณี พิพัฒนพิภพ” หนึ่งในทีมที่ผ่านเข้ารอบ ผู้จัดทำโครงการ “เซ็นเซอร์วัดคุณภาพน้ำนม” กล่าวเสริมว่า เซ็นเซอร์วัดคุณภาพน้ำนม เป็นเทคโนโลยีตรวจการติดเชื้อเต้านมอักเสบของฟาร์มโคนมทั่วประเทศบนแพลตฟอร์มการประมวลผล AI ที่คิดค้นขึ้นมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่จากหลายแห่ง เพราะพบว่าปัญหาที่เกษตรกรโคนมส่วนใหญ่พบคือโคเป็นโรคเต้านมอักเสบ

“ปกติแล้วเกษตรกรจะใช้น้ำยา CMT (California mastitis test) ซึ่งเป็นวิธีการประเมินปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม ด้วยการเติมสารลดแรงตึงผิว ซึ่งจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนมแตกและจะมีความหนืด โดยเกษตรกรจะใช้สายตาพิจารณาจากความหนืดของน้ำยา”

“ซึ่งลักษณะความหนืดจะแบ่งเป็นระดับ 1, 2, 3 เช่น หากมีความหนืดระดับ 2 ถือว่าเป็นโรคเต้านมอักเสบชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าระดับมากกว่านี้แสดงว่านมอาจจะติดเชื้อหรือเสีย ขณะเดียวกันการตรวจวัดน้ำนมไม่ได้ตรวจแค่เกษตรกรขั้นตอนเดียว แต่ต้องผ่านการตรวจจากพ่อค้าคนกลางอีก หรือฟาร์มที่รับซื้อเพื่อส่งไปขายเป็นผลิตภัณฑ์ หากไม่มีความแม่นยำ หรือผลตรวจไม่ตรงกัน ให้เกิดการสูญเสียรายได้”

“เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยกับเกษตรกรโคนมได้ จากความสนใจเรื่องนี้ จึงมาร่วมกับทีมวิจัยในการสร้างอุปกรณ์เซ็นเซอร์ขึ้นมาช่วยตรวจวัดน้ำนมให้สามารถวิเคราะห์ว่าน้ำนมของวัวตัวไหนเป็นโรคเต้านมอักเสบระดับใด พร้อมกับเอาระบบ AI อัจฉริยะเข้ามาประมวลผล”

“ตอนนี้พัฒนาระบบไปได้แล้ว 50% แต่ยังต้องพัฒนาต่อไปอีก เพราะงานวิจัยไม่ใช่ทำแล้วจบ หรือสำเร็จเลย ต้องแก้ไข พัฒนา ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเรามุ่งหวังจะทำให้งานถูกนำไปใช้ได้จริง เพื่อลบข้อกล่าวหาที่ว่างานวิจัยมักขึ้นหิ้ง”

“ขณะที่เกษตรกรก็มีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยดำเนินการ เพราะจากที่ได้พูดคุยกับเกษตรกร พบว่าเกษตรกรสมัยนี้ไม่ได้ล้าหลัง ตอนนี้พวกเขาก้าวไปพร้อมกับเราแล้ว ดังนั้น ถ้าเราทำได้จริงเขาก็พร้อมที่จะรับนำไปใช้พัฒนาอาชีพของเขา”

“เตชิษฐ์ ภู่ทอง” ตัวแทนจากทีม “ลุยสวน Application” บอกว่า ทีมของผมเกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ลุยสวน” เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานแบบครบวงจร เพราะพวกผมเห็นว่าปัญหาเรื่องการเกษตรในสังคมไทยมีหลายประเด็นที่แก้ไขยาก เช่น ปัญหาโดนพ่อค้าคนกลางกดราคา หรือว่าเกษตรกรเข้าไม่ถึงช่องทางตลาด จึงทำให้มีรายได้ต่ำ

“ผมจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมเกษตรกรด้วยการเป็นตัวกลางในการขายสินค้า ทั้งการขนส่ง การทำโฆษณาสินค้าผ่านแอป ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Grab แพลตฟอร์มที่รวมหลายอย่าง ทั้งขนส่ง การซื้ออาหารดีลิเวอรี่ โดยแอปของเราที่คิดไว้จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน เมื่อมีออร์เดอร์สินค้าเข้ามา ก็จะไปรับสินค้าไปส่งจุดหมาย”

“นอกจากนี้ยังคิดไปไกลถึงการพัฒนาส่งออกเกษตร หรือเกษตรแปรรูปสู่ต่างประเทศด้วยการสร้างแบรนด์ลุยสวนขึ้นมา และรวบรวมสินค้ามาอยู่ในแบรนด์เพื่อเตรียมส่งออก โดยที่กระบวนการทุกอย่างเราจัดการให้ทั้งหมด”

“ส่วนเกษตรกรจะมีหน้าที่ดูแลคุณภาพสินค้าของเขาให้ดี ตามมาตรฐานที่เราวางไว้ ก็จะมีการตรวจวัดคุณภาพสินค้าแบบเรียลไทม์ ด้วยสมาร์ทเซ็นเซอร์ แล้วก็เอาเรื่องของสมาร์ทดาต้าลิงก์เข้ามาปรับใช้ ตอนนี้เริ่มต้นโครงการด้วยการเขียนแอปขึ้นมาแล้ว”


นับว่าน่าสนใจทีเดียว