เปิดอาชีพใหม่ เป็นที่ต้องการในอนาคต งานสายเกม-คู่หูผู้สูงวัย

REUTERS/David Jackson

งานสายเกมรุ่งเพราะธุรกิจเกมเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ก็มีงาน non-IT ที่เป็นที่ต้องการในอนาคตเพิ่มขึ้นด้วย เช่น งานคู่หูผู้สูงวัย และนักเขียน

ความเปลี่ยนแปลงบนโลกโดยเฉพาะจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้คนต้องปรับทักษะ และมองหาช่องทางประกอบอาชีพที่เป็นที่ต้องเสมอ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมเทรนด์อาชีพที่กำลังเป็นที่นิยม และแนวโน้มงานในอนาคตจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้

วงการ eSports ความบันเทิงแบบใหม่

eSport Player และ Game Caster เป็นอาชีพในฝันของเด็กหลายคนทั่วโลก

“วริทธิ์นันท์ ไตรรัตโนภาส” Director of Operations บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในไทยปี 2562 มีมูลค่าถึง 2.2 หมื่นล้านบาท จากการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของอีสปอร์ต

“ตอนนี้การดู caster หรือ streamer กลายเป็นความบันเทิงแบบใหม่ ที่คนกำลังให้ความสนใจมากขึ้นทุกปี และตลาดเกมใหญ่ขึ้นทุกปีทั่วโลก มีนักพัฒนาเกม (game developer) สร้างเกมใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้งานสาย eSport Player และ Game Caster สามารถยึดไปอาชีพหลักได้ โดยงานสายนี้มักเป็นในลักษณะฟรีแลนซ์ หรือภายใต้สัญญาระยะสั้น-ยาวกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ คนที่สนใจทำอาชีพนี้ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเก่งเสมอไป แต่ถ้ามีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ สามารถเล่าเรื่องให้คนชอบได้ ดูแล้วสนุก ก็สามารถทำเป็นได้”

ทั้งนี้ ถึงแม้ธุรกิจหลายอย่างจะมีรายได้ถดถอยช่วงนี้แต่ธุรกิจเกมเติบโตต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักข่าวเอพีที่รายงานเมื่อ (5 พ.ย. 2563) ว่า บริษัท “นินเทนโด” (Nintendo) ผู้ผลิตวิดีโอเกมสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของเกมซูเปอร์มาริโอและโปเกมอน มีกำไรเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงโควิด-19 โดยผลประกอบการครึ่งแรกของปีงบประมาณนี้ (เม.ย. – ก.ย. 2563) มาอยู่ที่ 2.13 แสนล้านเยน (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว มีกำไร 6.2 หมื่นล้านเยน เป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์คนอยู่บ้านเล่นเกมช่วงโควิด-19 ระบาด

“อินฟลูเอนเซอร์” นักรีวิวตัวยง

“สุวิตา จรัญวงศ์” CEO และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore (เทลสกอร์) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์กว่า 50,000 ราย กล่าวว่า ในมุมมองคน Gen Z คำว่าอาชีพอาจจะตกยุค แต่จะให้ความสำคัญกับแหล่งรายได้ที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต

ในอดีตผู้บริโภคมีมักฟังจากแบรนด์ที่ทำโฆษณาสื่อสารผ่านดาราดัง ๆ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเทรนด์ผู้บริโภคกลายมาเป็นคนพูดถึงสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และบางคนได้รับความเชื่อใจจากผู้บริโภคคนอื่น ๆ ด้วยทักษะการสื่อสารที่ดึงดูด และดูจริงใจ ทำให้มีคนติดตามจำนวนมาก จนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่สร้างรายได้จากการรีวิว เพราะแบรนด์เข้าหาพวกเขาเพื่อให้พวกเขาพูดถึงแบรนด์ของตนเองบ้าง

“อินฟลูเอนเซอร์เป็นที่นิยมเนื่องจากสร้างรายได้ค่อนข้างสูง เมื่อก่อนการทำคอนเทนต์อาจเน้นหน้าตา ชื่อเสียง แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับ KOC (Key Opinion Customer) หรือการเข้าถึงลูกค้าจริง ๆ อย่างไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์แบบรีวิว ซึ่งแม้จะมีสปอนเซอร์แต่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าการโฆษณาที่มีรูปแบบเดียวกันทุกแพลตฟอร์ม ทั้งยังสามารถวัดการมีส่วนร่วม (engagement) การเข้าถึง (reach) หรือบทสนทนาเกี่ยวกับแบรนด์ และสรุปรายงานได้อย่างชัดเจน”

งานเทคโนโลยีผสมผสานอาร์ต

อีกสายงานที่น่าสนใจเป็นงานที่ผสมผสานเทคโนโลยีและศิลปะเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าสนใจ

“เกียรติยศ พานิชปรีชา” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Bit.studio Academy กล่าวว่า อุตสาหกรรมด้านครีเอทีฟ เทคโนโลยีคือศาสตร์ที่นำเทคโนโลยีมาผสมดีไซน์อาร์ท ซึ่งเทคโนโลยีอาจใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI), Machine Learning, คอมพิวเตอร์กราฟิก หรืออื่น ๆ มาผสม รวมถึงการมีอินเทอร์แอคทีฟระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในงานต่าง ๆ

“ครีเอทีฟ เทคโนโลยีอาจไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย แต่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญมาก ซึ่งคนไทยที่มีจุดแข็งเรื่องความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว จึงควรผลักดันการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ”

คู่หูผู้สูงวัย

ไม่ใช่เพียงงานสายไอทีเท่านั้นที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต แต่ยังมีงาน non-IT ใหม่ ๆ ด้วย

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนมากกว่า 2 พันล้านคน เนื่องจากอายุขัยโดยทั่วไปยาวนานขึ้นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เรื่องของสังคมผู้สูงอายุจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่สร้างความกังวลที่สุดในอนาคต ด้วยเหตุนี้ “Resumeble” ผู้ให้คำปรึกษาด้านงานในสหรัฐอเมริกาจึงคาดการณ์ว่า อาชีพรับจ้างเป็นเพื่อนกับผู้สูงวัยจะเป็นที่ต้องการอย่างมากระหว่างปี 2568 ถึงปี 2593

“คนที่ทำอาชีพนี้จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังผู้สูงอายุ และช่วยเหลือพวกเขาในการทำกิจวัตประจำวัน และแม้แต่การพาพวกเขาออกไปเดินเล่น ความสามารถที่จำเป็นสำหรับงานนี้ ได้แก่ ความอดทน การเอาใจใส่ ความกระตือรือร้น และทักษะการสังเกต เพื่อดูว่าผู้สูงอายุกำลังประสบปัญหาทางอารมณ์อยู่หรือไม่ เช่น ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล”

นักเขียนผู้อยู่เบื้องหลังโลกออนไลน์

ดูเหมือนว่าทั้งวิดีโอคอนเทนต์และพอดแคสต์กำลังเป็นที่นิยม แต่เบื้องหลังวิดีโอและพอดแคสต์ดัง ๆ หลายชาแนล มีนักเขียนอยู่เบื้องหลัง ที่ทำหน้าที่คิดประเด็น เขียนคอนเทนต์และบทพูดทั้งหมดก่อน

สำนักบรรณาธิการ “The Startup” ระบุว่า “วิดีโอมีพาวเวอร์เหนือกว่าข้อความ แต่ผู้คนจะอ่านเสมอ อาจไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นจดหมายข่าวทางอีเมล คำอธิบายภาพบนโซเชียลมีเดีย บล็อก ในขณะที่ AI กำลังพยายามแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ตลาดคอนเทนต์ แต่ไม่คิดว่า AI จะมีความสามารถทางด้านศิลปะภาษาได้เท่ามนุษย์ ในการเล่นคำและเล่นกับความรู้สึกผู้อ่าน”

งาน HR จะยังไม่หายไปไหน

AMCAT บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มทดสอบความสามารถคนเพื่อการจ้างงานจากประเทศอินเดีย ระบุว่า ถึงแม้หลายองค์กรได้ใช้เทคโนโลยีมาแทนงานบางอย่างในฝ่ายบุคคล แต่นั่นไม่ได้ทำให้คนทำงานบริหารด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource – HR) มีความสำคัญน้อยลง ในความเป็นจริงงาน HR เป็นหนึ่งในงานที่มีความต้องการมากที่สุดในขณะนี้และคาดว่าจะเป็นเช่นนั้นในอนาคตด้วย

“งานของทรัพยากรบุคคลอาศัยปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นหลัก พวกเขาได้รับการคาดหวังให้จัดการสิ่งต่าง ๆ ดูแลสำนักงานให้มีประสิทธิภาพ และต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น งานด้านทรัพยากรบุคคลจึงไม่น่าจะหายไปในอนาคตและจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”