ม.อ.ปรับตัวสู่มืออาชีพ ชูดิจิทัลแพลตฟอร์มตอบโจทย์นักศึกษา

การบริหารจัดการองค์กรท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความท้าทายหลายด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19, ดิจิทัลดิสรัปชั่น และภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายสำหรับผู้นำองค์กร ที่ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจ แต่ผู้นำสถาบันการศึกษาคงต้องทำงานหนักขึ้น และพยายามปรับกลยุทธ์ให้เร็วเพื่อสร้างความเติบโต

ซึ่งเหมือนกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สถาบันการศึกษาชั้นนำในภาคใต้ และประเทศไทยที่ก่อตั้งมานานกว่า 53 ปี มีทั้งหมด 5 วิทยาเขต ได้แก่ หาดใหญ่, ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต และตรัง ที่ในปีนี้ต้องปรับตัว และเพิ่มความหลากหลายให้กับสถาบันมากยิ่งขึ้น

“ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อพร้อมรับมือกับโลกปัจจุบันเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมภาคอื่น ๆ

โดย ม.อ.ถือเป็นมหาวิทยาลัยหลัก (comprehensive university) ที่มีทุกศาสตร์อยู่ร่วมกัน เพื่อใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการเป็นตัวกลางในการพัฒนาภาคใต้ และประเทศไทย เราจึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเร่งความเร็วในการทำงาน และการสื่อสารแบบ 2 ทาง

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

“ผมมุ่งสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็น semi-virtual university (มหาวิทยาลัยที่มีการเปิดการเรียนการสอนกึ่งทางไกล) ที่สามารถให้บริการแบบ 24 ชม. และเพิ่ม open-learning platform เปิดสอนคนทั่วไปในหลักสูตรระยะสั้นให้มากขึ้น”

“ตอนนี้เราเปิดสอนไปแล้วกว่า 20 หลักสูตรที่เหมาะกับคนทำงาน เพราะเราไม่สามารถจำกัดการทำงานด้านให้ความรู้แก่นักศึกษาเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เนื่องจากอัตราเกิดในประเทศไทยมีน้อยลง จะส่งผลให้จำนวนเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยน้อยลงในอนาคต เราจึงต้องเตรียมขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นตั้งแต่ตอนนี้”

“แนวโน้มของจำนวนนักศึกษาที่ ม.อ. ถือว่ายังทรงตัว โดยปัจจุบันมีนักศึกษาปริญญาตรี 32,000 คน ปริญญาโทและเอก 4,000 คน ส่วนนักศึกษาเข้าใหม่ในปีการศึกษา 2563 มีประมาณ 8,500 คน ส่วนปีการศึกษา 2562 มีนักศึกษาเข้าใหม่ 9,000 คน”

“ทิศทางหลักอีกอันหนึ่งของเราคือการสร้างให้มหาวิทยาลัยเป็น international community และมี global platform ในเรื่องสำคัญ ๆ ที่มหาวิทยาลัยมีความเป็นมืออาชีพ เช่น ด้านสุขภาพ, การแพทย์, อาหาร และเกษตร ซึ่งเราได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับสูงของประเทศในศาสตร์ดังกล่าว รวมถึงด้านการท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ที่มีความน่าสนใจมาก เพราะเราตั้งอยู่ในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว”

“นอกจากนั้น เรามีกลยุทธ์สร้าง visibility (การมีตัวตน) ในต่างประเทศ ด้วยการร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งสถาบันการศึกษาในทวีปเอเชีย และยุโรป โดยเรามีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนล่างค่อนข้างมาก ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งความร่วมมือกับต่างประเทศมีทั้งเรื่องการรับนักศึกษา การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดย ม.อ. มีเปิดรับนักศึกษาจากต่างประเทศ”

“ซึ่งปีการศึกษา 2563 ที่เปิดรับไปเมื่อ กรกฎาคม 2563 มีผู้สมัครประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่จากประเทศจีน และเรียนที่วิทยาเขตภูเก็ต เพราะเราสร้างให้ภูเก็ตเป็น international campus ใช้ 3 ภาษา คือ ไทย, อังกฤษ และจีน มีนักศึกษาไทยและต่างชาติรวมกันประมาณ 3,000 คน”

แต่เนื่องจากช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังมีการควบคุมการเข้าประเทศ ทำให้นักศึกษาจากต่างประเทศต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง ม.อ.กำลังดูนโยบายของภาครัฐ และประสานกับทางมหาวิทยาลัยเครือข่ายและเอเยนซี่ที่จีน เรื่องนักศึกษาจะสามารถมาเรียนที่ไทยต้นปีหน้าได้หรือไม่ เนื่องจากทางมหา’ลัยมีความพร้อมในการช่วยเหลือนักศึกษาในการกักตัวตามระยะเวลาที่ภาครัฐกำหนด เพราะมีหอพักของมหาวิทยาลัย

“ผศ.ดร.นิวัติ” กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยสร้างผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในวงกว้าง จากการประกาศล็อกดาวน์เมืองทั่วประเทศที่ส่งผลให้ธุรกิจการค้าในรูปแบบเดิม ๆ ต้องหยุดชะงักไป

อย่างไรก็ตาม ช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์ หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) กลายเป็นช่องทาง
จำหน่ายสินค้าที่มีความสำคัญสอดรับวิถีชีวิตใหม่ (new normal)

“ม.อ.จึงก่อตั้งตลาดออนไลน์ PSU Bazaar ขึ้นบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้ครอบครัวของบัณฑิตจบใหม่ หรือผู้ที่ประสบภาวะตกงาน สามารถใช้ช่องทางตลาดออนไลน์ที่เราสร้างขึ้น เพื่อหารายได้เสริมในช่วงวิกฤต PSU Bazaar จึงกลายเป็นศูนย์กลางขายสินค้าตลาดออนไลน์ในเขตพื้นที่ภาคใต้

โดยมีกลุ่มสินค้าและบริการหลากหลายมากกว่า 70 หมวด ประกอบด้วย กลุ่มผักและผลไม้สด, กลุ่มอาหาร อาหารทะเล ของหวานและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องดื่มเบเกอรี่”

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจบริการที่พักโรงแรม และรีสอร์ต รวมไปถึงกลุ่มงานเกษตร และอุปกรณ์การเกษตร ที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งกลุ่มผู้ซื้อ หรือผู้เข้าใช้บริการอย่างครบครัน

โดยในช่วงระยะเวลา 7 เดือน (เมษายน-ตุลาคม 2563) มีจำนวนสมาชิกทั้งกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าราว 50,855 คน และมีเงินสะพัดหมุนเวียนในการซื้อขายในกลุ่มไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5 แสนบาท ที่สำคัญ ทีมงานศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กรของ ม.อ.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

“โดยวางกรอบการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำคลิปวิดีโอแบบสั้น ในรูปแบบภาษาไทย พร้อมจัดทำคำบรรยายภาษาจีน และอังกฤษ ส่งผลให้ ม.อ.คว้ารางวัลประกวดคลิปวิดีโอสั้น 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ วิดีโอสั้น ภาษาไทย”

“พร้อมจัดทำคำบรรยายภาษาจีน และอังกฤษ และคว้ารางวัลชนะเลิศบทความ My story of fighting COVID-19 ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสำนักเลขาธิการเครือข่ายอยู่ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน”

นับว่า ม.อ.มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล และเชื่อมโยงต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่สถาบันการศึกษาที่เหมาะกับยุคนิวนอร์มอลอย่างแท้จริง