“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ” บริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสงยั่งยืน

ตลอดเวลาผ่านมาเอสซีจีมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อความยั่งยืนภายใต้คณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งยังเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของแผนงานการดำเนินธุรกิจด้วยการจัดให้มีการดูแลผ่าน 3 มิติ คือ มิติด้านสังคม, มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้น การที่เอสซีจีร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อสนับสนุนชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเรียนรู้และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากรุนแรง และน้ำแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากในภาคใต้ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ไขด้วยตนเอง

จึงนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เอสซีจีดำเนินตามกรอบใน 3 มิติ ดังที่กล่าวมา จนที่สุดจึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จนขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

เบื้องต้น “ชนะ ภูมี” รองประธานธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ชุมชนทุ่งสงเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มอยู่บ่อยครั้ง การบริหารจัดการในอดีตเป็นปัญหาเดียวกันกับอีกหลายชุมชนในประเทศไทย

ชนะ ภูมี รองประธานธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี
ชนะ ภูมี รองประธานธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

“จนทำให้ในปี 2559 เอสซีจีจึงสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะ ต.ถ้ำใหญ่ และ ต.นาหลวงเสน บริเวณชุมชนทุ่งสงด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนฯ”

“ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจึงพัฒนามาเป็นระบบน้ำดื่มชุมชนต่อไป ด้วยการวางระบบท่อส่งน้ำจากภูเขาผ่านช่องเก็บไปยังถังพักสำรองในระบบน้ำของชุมชนเพื่อเข้าสู่ระบบกรองน้ำดื่มสำหรับบริโภคในทุกครัวเรือน ทั้งยังนำน้ำบางส่วนไปทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่”

“ฉะนั้น ขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ครอบคลุม 4 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง ฟื้นฟู-กักเก็บ-สำรองในพื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านวังไทร โดยความร่วมมือของชุมชนและเยาวชนด้วยการปลูกไม้ท้องถิ่นและสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น จนทำให้ชาวบ้านอำเภอทุ่งสงมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอ สามารถรอดพ้นจากวิกฤตภัยแล้งในปี 2562″

“สอง ป่าต้นน้ำ ผลิตน้ำมาใช้และดื่ม ซึ่งปัจจุบันโรงกรองน้ำดื่มสะอาดชุมชนตำบลนาหลวงเสนผลิตน้ำดื่ม 6 พันลิตรต่อวัน จนทำให้ชาวบ้านมีน้ำสะอาดบริโภคอย่างพอเพียง ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มถึง 3,000 บาทต่อเดือน”

“สาม มั่นคงเครือข่าย รู้เท่าทันสถานการณ์น้ำ โดยคนในชุมชนร่วมเป็นเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ตำบลถ้ำใหญ่ และถ้ำวัง โดยมีศูนย์กลางระบบการจัดการภัยพิบัติที่ตำบลถ้ำใหญ่ พร้อมขยายเครือข่ายร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสง จนปัจจุบันมีสถานีโทรมาตรตรวจวัดปริมาณฝน และวิทยุสื่อสารเพื่อแจ้งเตือนภัย ในกรณีฝนตกหนัก”

“ทั้งนั้น เพื่อช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอีกทางหนึ่ง สี่ เกษตรครัวเรือน พอเพียง สุขใจ ด้วยการให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็นสระน้ำประจำสวน อีกส่วนเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค และอีกส่วนปลูกพืช เพาะปลูกเพื่อบริโภคและขายด้วย”

ปรากฏว่าจุดเริ่มต้นจากเกษตรกรเพียง 2 ราย ขณะนี้มีเกษตรกรหันมาใช้การทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ทั้งหมด 16 ราย ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพวกเขาเล็งเห็นแล้วว่าการดำเนินการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงถึง 343,403 บาทต่อปี

ขณะที่ “ดร.รอยล จิตรดอน” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวเสริมว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนฯ ที่นี่เป็นลำดับ 24 ที่ดำเนินการมา วัตถุประสงค์คือเพื่อให้ชาวชุมชนนำองค์ความรู้จากบทเรียนความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน เพื่อเกิดการทำงานร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ

“เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสกับพวกเราในปี 2554 ว่า การจัดการน้ำชุมชนนั้นเห็นความสำเร็จในบางชุมชนแล้ว ให้ชุมชนชาวบ้านที่มีความรู้ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์การจัดการและพัฒนาในพื้นที่มาช่วยกันขยายผลไปยังชุมชนอื่น ผมจึงคิดว่าการจับมือกับภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงค่อนข้างเน้นความสำเร็จที่เห็นชุมชนบริหารจัดการภายในชุมชนกันเองได้ เพราะเมื่อเขาทำได้ เขาก็จะไปช่วยชุมชนอื่นต่อไป”

“ตอนนั้น ต.ถ้ำใหญ่ และ ต.นาหลวงเสน ประสบปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มหนักมากในปี 2560 จนทำให้สะพานกับถนนเสียหายหนักมาก หากซ่อมแซมต้องใช้งบประมาณสูงถึง 50 ล้านบาท”

“พอเราทราบข้อมูลแทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการซ่อมแซมสะพานกับถนน แต่เรากลับแก้ปัญหาด้วยการปลูกป่า ทำแก้มลิง และแก้ปัญหาที่การบริหารจัดการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปรากฏว่าเราเสียเงินเพียง 2 แสนบาทเท่านั้นเอง และตอนนี้ความเสียหายจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มก็ค่อย ๆ หมดไป”

ถึงตรงนี้ “นิวัฒน์ ยึดมั่น” ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวเสริมว่า บริเวณ ต .ถ้ำใหญ่ และ ต.นาหลวงเสน มีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน 9,267 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 21,200 คน ส่วนใหญ่ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว และที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง และดินโคลนถล่มเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นที่ต้นน้ำ

นิวัฒน์ ยึดมั่น ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
นิวัฒน์ ยึดมั่น ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

“จนตอนหลังชุมชนทุ่งสงน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาบริหารจัดการน้ำชุมชนเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 222 ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำสำรอง ทำสระแก้มลิง ปรับรูปที่ดินมาทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่”

“พร้อมสร้างเครือข่ายชาวบ้านให้ช่วยกันบริหารจัดการน้ำเพื่อครอบคลุมทั้ง 2 ตำบล ทั้งยังมีการปลูกไม้ท้องถิ่น จนทำให้มีการเพิ่มปริมาณน้ำได้มากถึง 22,220 ลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกัน ก็สร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จนทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากถึง 101,000 บาทต่อปี”

“จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำรองในระบบสูงถึง 60,655 ลูกบาศก์เมตร จนทำให้ชาวบ้านในอำเภอทุ่งสงรอดพ้นจากภัยแล้งทั้งอำเภอ เพราะป่าต้นน้ำ 295 ไร่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญการพัฒนาระบบน้ำดื่มชุมชนทำให้ชาวบ้านใน 53 ครัวเรือนมีโอกาสดื่มน้ำสะอาด ผมจึงคิดว่าการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนดีขึ้น”

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง