ไมโครซอฟท์จับมือ 7 ภาคี พัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อจ้างงาน 250,000 คน

ไมโครซอฟท์ร่วมมือกับ 7 องค์กรรัฐ-เอกชน พัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพื่อการจ้างงานให้คนไทย นำร่อง 250,000 คนในปีแรก ตั้งเป้า 10 ล้านคน ขณะที่ DEPA ระบุเด็กไทยที่เรียนสายไอทีจบแล้วทำงานด้านนี้ไม่ถึงครึ่ง แนะให้คนไทยเรียนไอทีแบบ fast track เพื่อปรับทักษะแบบทันทีให้ได้งาน แทนเรียนหลักสูตรระยะยาวเพื่อเอาใบปริญญา

ผู้สื่อข่าว “ประชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (15 ธ.ค. 2563) ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศเปิดตัว ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ โดยจับมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชนกว่า 7 ภาคี มุ่งเป้าเสริมเรื่องการจ้างงานให้แก่คนไทย 250,000 ภายใน 1 ปี

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปีนี้คาดว่าจะมีกลุ่มงานที่หายไป และการจ้างงานใหม่จะเป็นการมองหาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญทางการใช้ทักษะดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

“จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 หรือมีผู้ว่างงานเกือบ 400,000 คน และคาดว่าในปีนี้จะมีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างจำนวน 8.4 ล้านคน จากแรงงาน 3 กลุ่ม ได้แก่

แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 1.5 ล้านคน และการจ้างงานในภาคบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยวและได้รับผลกระทบจากการที่สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ถูกปิด อีกจำนวน 4.4 ล้านคน ในขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนก็มีแนวโน้มต้องเผชิญกับอุปสรรคในการหางานตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดงาน”

ไมโครซอฟท์จึงชักชวนพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาร่วมโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยูเนสโก จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) และมูลนิธิกองทุนไทย โดยใช้แพลตฟอร์มของแต่ละองค์กรทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ยกระดับทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทยทั่วประเทศ นำร่องจำนวน 250,000 คน ภายในตุลาคม 2564 และจะขยายให้ได้ 10 ล้านคน

ในขณะที่ “ดร.รัฐศาสตร์ กรสูตร” รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า คนที่เข้าเรียนสายที่เกี่ยวข้องกับไอทีและคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยปีละประมาณ 2 หมื่นคน เรียนจบปีละ 14,000 คน เพราะระหว่างทางบางคนเปลี่ยนสายเรียน และบางคนเรียนไม่จบ ส่วนคนจบแล้วได้งานทำสายนี้ปีละไม่เกิน 6 พันคน


“ฉะนั้นการเรียนปริญญาซึ่งเป็นหลักสูตรระยะยาวอาจไม่ตอบโจทย์การมีงานทำในช่วงนี้ แต่การเรียนแบบ fast track หรือระยะสั้นจะเข้ามามีบทบาทมากกว่า โดยสามารถเลิกเรียนได้หลายทาง เช่น กสน. เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ หรือเรียนรู้ด้วยตนเองบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ความท้าทายคือ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันและรวบรวมแหล่งความรู้ให้อยู่ที่เดียว นอกจากนั้นต้องร้อยเรียงหลักสูตรร่วมกันให้เป็นระบบ และมีการทดสอบระหว่างทาง”