“กล้วยน้ำว้า JIB” พลิกชีวิตเกษตรกร

ช่อทิพย์ อุฮุย เจ้าของกิจการกล้วยน้ำว้า แบรนด์ JIB
ช่อทิพย์ อุฮุย เจ้าของกิจการกล้วยน้ำว้า แบรนด์ JIB
คอลัมน์ CSR Talk

“กล้วยน้ำว้า JIB” กลายเป็นสินค้าภาคเกษตรในรอบปี 2020 ที่ฝ่าฟันกระแสโควิด-19 จนทำให้เกษตรกร และคนในชุมชนจังหวัดเพชรบุรียิ้มร่าเพราะนอกจากจะไม่ตกงาน ยังรับทรัพย์เพิ่ม จากเดิมส่งกล้วยเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นวันละ 1,800 แพ็ก หรือ 3,600 ลูก

แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ขยับเพิ่มเป็น 2,800 แพ็ก 5,600 ลูกต่อวัน จนสามารถสร้างอานิสงส์คนรักสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากร้านเซเว่นฯ ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายด้วยโปรโมชั่น มีบริการ 7-Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอยู่บ้านก็ช็อปปิ้งได้สะดวกสบาย

โดยล่าสุดเจ้าของกิจการสามารถคว้า “เงินล้าน” ได้ในที่สุด

“ช่อทิพย์ อุฮุย” หรือ “จิ๊บ” เจ้าของกิจการกล้วยน้ำว้า แบรนด์ JIB ย้อนเรื่องราวชีวิตให้ฟังว่าหลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยึดอาชีพขายส่งกล้วยหอม, กล้วยน้ำว้า โดยจะขับรถจากจังหวัดเพชรบุรีไปขายที่กรุงเทพฯ และชลบุรี เฉลี่ยวันละ 80-100 กิโลกรัม เป็นเวลานานกว่า 5 ปี จนกระทั่งอายุ 20 ปี แต่งงานมีครอบครัว กลับมาขายส่งกล้วยที่บ้านเกิด บริเวณตลาดท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

“ก็มีขายกล้วยหอม, กล้วยน้ำว้า, กล้วยไข่ เฉลี่ยวันละเกือบ 4 ตัน กิจการกล้วยเหมือนว่าจะราบรื่น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2557-2559 ได้รับผลกระทบจากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ราคาผลไม้ตกต่ำ กล้วยเหลือเยอะมาก”

“จึงแก้ปัญหาด้วยการนำไปขายต่อโรงงานแปรรูป แต่ก็ถูกกดราคาจนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท ตอนช่วงที่กล้วยล้นตลาด เราขายกล้วยแทบไม่ได้เลย ต้องส่งโรงงานแปรรูป แต่ก็ถูกกดราคาจนต่ำ นอกจากนั้น โรงงานที่รับซื้อกล้วยยังจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ขณะเดียวกัน คู่แข่งก็เยอะขึ้นมาก สุดท้ายแบกรับต้นทุนไม่ไหว จึงขอยุติส่งกล้วยให้โรงงาน แล้วเดินเข้าไปหาร้านเซเว่นอีเลฟเว่น”

“นับว่าช่องทางร้านสะดวกซื้อเป็นเป้าหมายใหม่ในชีวิต มีอยู่วันหนึ่งเอากล้วยไปส่งโรงงาน แต่แล้วจู่ ๆ โรงงานไม่รับซื้อ โดยที่ไม่บอกเหตุผล รู้สึกท้อแท้หมดหวัง เบื่อหน่ายกับความไม่แน่นอน จึงขับรถไปคลังสินค้าซีพี ออลล์ เข้าไปขอเบอร์ฝ่ายจัดซื้อลองโทรศัพท์ปรึกษา บอกว่าจะขายกล้วยน้ำว้า และได้รับการติดต่อกลับ โดยให้นำกล้วยน้ำว้าเข้าไปขายในร้านเซเว่นฯ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก”

“ช่อทิพย์” เล่าต่อว่า กว่าสินค้าจะออกสู่มือผู้บริโภคต้องให้ได้มาตรฐาน ต้องกลับมาสร้างโรงแพ็กกล้วย ใช้เวลา 4 เดือน บนพื้นที่ขนาด 52 ตารางวา ลงทุนไป 8 แสนบาท กล้วยน้ำว้าจึงวางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 พร้อมกับส่งร้านเซเว่นฯ สาขาภาคใต้ วันละ 500 แพ็ก แพ็กละ 2 ลูก หลังจากนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด ส่งเซเว่นฯกว่า 1,000 สาขา ส่งกล้วยวันละ 6,000 ลูก หรือราว 3,000 แพ็กต่อวัน

“โดยใช้พื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปลูกเองจำนวน 20 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 5 และรับซื้อจากเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี 16 สวน ในพื้นที่เพาะปลูกราว 300 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ผลที่ได้รับคือเราได้ช่วยเหลือเกษตรกร 5 อย่าง คือ การประกันราคา, ให้ถุงห่อกล้วย, ลงตรวจแปลงกล้วย, เก็บเกี่ยวผลผลิต และให้เกษตรกรยืมเงินลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย รายละ 5,000 บาท เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเกือบทั้งหมด”

“สำหรับระยะเวลาการเก็บเกี่ยวกล้วยน้ำว้า จะมีการตัดกล้วยทุกวัน โดยแต่ละสวนเว้นรอบนาน 10 วัน ขนาดกล้วยที่เลือกใช้ต้องปลูก 12-14 เดือน น้ำหนักต่อลูก 80 กรัม หลังเก็บกล้วยมาจากสวน จะพักไว้ในห้องแอร์ก่อนขาย 2 วัน เพื่อให้ยางแห้ง”

“จุดเด่นของกล้วยน้ำว้า JIB เป็นกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์กาบขาว, กาบเขียว และปากช่อง 50 รสชาติจะเหนียวหนึบ หวาน รสชาติดี เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่กรรมวิธีการบ่ม ช่วยให้กล้วยมีเนื้อที่ละเอียดแตกต่างจากที่อื่น”

“ช่อทิพย์” บอกว่า ในส่วนของรายได้ปี 2561 มีรายได้ประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ขยับขึ้นมา 4 ล้านบาท ล่าสุด ในปี 2563 ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 7 ล้านบาท โดยเกษตรกรทั้ง 16 สวนที่ส่งกล้วยป้อนผลผลิตให้เรา แต่ละสวนจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 60,000 บาท

“ยอดขายปีนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากช่วงวิกฤตโควิด-19 จากเดิมส่งกล้วยวันละ 1,800 แพ็ก ช่วงโควิด-19 ขยับเพิ่มเป็น 2,800 แพ็ก ได้อานิสงส์คนรักสุขภาพเพิ่มขึ้น อีกทั้งคนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ที่สำคัญได้รับความช่วยเหลือจากร้านเซเว่นฯหลายอย่าง อาทิ กระตุ้นยอดขายด้วยโปรโมชั่น รวมถึงการบริการ 7-Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอยู่บ้านก็ช็อปปิ้งได้”

หลังจากที่ร่วมงานกับบริษัท ซีพี ออลล์ ผ่านไปสักระยะ “ช่อทิพย์” เผยความในใจว่าจากที่เป็นคู่ค้ากันมา 3 ปี ได้รับการช่วยเหลือทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่สร้างโรงงาน มีทีมตรวจสอบคุณภาพเข้ามาให้คำแนะนำ ช่วยออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ตั้งราคาขาย วางแผนการตลาด และอื่น ๆ”

“ซึ่งเราไม่คิดว่าองค์กรใหญ่จะให้ความสำคัญกับแม่ค้าตัวเล็ก ๆ ที่เรียนจบไม่สูง เรียกว่าซีพี ออลล์ ช่วยสร้างงานที่มั่นคง มีออร์เดอร์ที่แน่นอน และมีระยะเครดิตในการชำระเงินที่ทำให้ SMEs บริหารจัดการการเงินได้อย่างคล่องตัว กระจายรายได้ช่วยสร้างรอยยิ้มให้ชาวสวนไม่ต้องโค่นต้นกล้วยในยามที่ราคาตกต่ำ

“ที่สำคัญ ลูกน้องทุกคนมีงานทำ ไม่มีใครตกงานเลย ด้วยความรักในสินค้าเกษตรที่คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ควบคู่กับความขยัน ทุ่มเทเกินร้อย ประกอบกับได้รับการสนับสนุนที่ดีจากซีพี ออลล์ วันนี้กล้วยน้ำว้า แบรนด์ JIB จึงครองใจลูกค้ารักสุขภาพได้ไม่ยาก”


ซึ่งไม่ธรรมดาเลย