คำถามจาก “ซับคอนแทร็กต์” ทำไมจ้างต่างด้าวไม่ได้ ?

แรงงานต่างด้าว

“กิจการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง จ้างแรงงานไทยได้ แต่ทำไมจ้างคนต่างด้าวไม่ได้” เป็นคำถามที่กระทรวงแรงงานยังไม่มีคำตอบให้กับกลุ่มกิจการรับเหมาแรงงาน ภายหลังจากการแก้ปัญหาช่วงที่ประเทศไทยถูกลดอันดับมาตรฐาน หรือ tier จาก tier 2 มาอยู่ที่ tier 3

หรืออธิบายง่าย ๆ คือ ประเทศไทยไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโรฮีนจา

หลังจากนั้นการแก้ไขปัญหานี้ก็ระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกิดการจับกุมผู้ค้ามนุษย์ การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นต้น

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวนอกเหนือจากการใช้เป็นกรอบในการเดินหน้าแก้ไขการค้ามนุษย์แล้ว แต่ก็มีเอฟเฟ็กต์อื่น ๆ มากระทบกับธุรกิจจัดหาแรงงานด้วย ผลกระทบที่ว่านี้คือ กฎหมายดังกล่าวระบุให้กิจการรับเหมาแรงงานไม่สามารถจ้างคนต่างด้าวได้

ผลกระทบที่ว่า เป็นข้อกังขาของธุรกิจรับเหมาแรงงานอย่างมากว่า กฎหมายฉบับนี้จำกัดสิทธิในการทำธุรกิจของเอกชนโดยภาครัฐที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล โดยกระทรวงแรงงานในขณะนั้นไม่มีการอธิบายถึงเหตุผลที่ชัดเจน และหยิบยกประเด็นที่ว่า ตรวจสอบพบบริษัทจัดหางานเถื่อน ทำให้ต้องออกกฎหมาย

ซึ่งสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชกำหนดดังกล่าวตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยชูประเด็นที่ว่า รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานโดยคนไทย เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเจ้าของโรงงานผลิตสินค้าให้ได้มากกว่า 95% ของสถานประกอบการทั่วประเทศ

อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างโอกาสการเท่าเทียมให้ธุรกิจขนาดเล็กได้ขยายตัวต่อไปในอนาคต เหมือนกับที่ประเทศจีนที่ประชากรได้รับการสนับสนุนให้สร้างงานผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก ซึ่งศักยภาพของคนไทยต้องถือว่าไม่แพ้คนจีนหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง

“อิสรีย์ ภักหาญสวัสดิ์” นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการค้าผู้ประกอบการรับเหมาแรงงาน ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อมาถึง 3 ปี จนถึงวันนี้มีกิจการรับเหมาแรงงานปิดกิจการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายแล้ว การตรวจสอบพบว่ามีบริษัทจัดหางานเถื่อนลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวนั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทต้องทำผิดกฎหมายทั้งหมด ในทางปฏิบัติอาจเรียกได้ว่า ภาครัฐละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการหรือไม่

เมื่อย้อนกลับดูเส้นทางของสมาคมการค้าผู้ประกอบการรับเหมาแรงงาน ในการผลักดันให้แก้กฎหมาย หรือกลับไปใช้กฎหมายเดิมที่ดีอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการแรงงานวุฒิสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ข้อเท็จจริงความแตกต่างระหว่างนายหน้ากับบริษัทรับเหมาแรงงาน หรือ subcontract

โดยก่อนหน้านี้หากสนใจทำธุรกิจรับเหมาแรงงาน จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจ้างคนต่างด้าวที่เรียกว่า “ใบโควตา” จากกระทรวงแรงงาน ในขณะนั้นได้เกิดกลุ่ม “นายหน้า” ที่ไม่ได้ทำกิจการรับเหมาแรงงานจริง แต่กระทรวงแรงงานก็อนุมัติโดยไม่มีการตรวจสอบคัดกรองแต่อย่างใด เป็นที่มาของกลุ่ม “นายหน้าเถื่อน” และคนกลุ่มนี้นั้นแวดวงแรงงานระบุว่า เป็นผู้ทำเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ยังมีการพบว่า มีแรงงานร้องเรียนว่า ต้องจ่ายค่าจ้างทำเอกสารในราคาที่แพงเกินจริง มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีกรณีตัวอย่างในช่วงปี 2558-2559 ที่มีการดำเนินคดีทางวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นด้วย

ซึ่งแวดวงแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มนายหน้าเถื่อนเหล่านี้ที่เอื้อประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลกับรัฐบาลว่า กิจการรับเหมาแรงงานคือต้นตอการค้ามนุษย์ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยถูกลดอันดับมาตรฐาน โดยที่ไม่มีการตรวจสอบซ้ำเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง สุดท้ายจึงเกิดพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าวขึ้นมา

ต่อประเด็นนี้ “อิสรีย์” ระบุว่า บริษัทรับเหมาแรงงานไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดการจ้างงานแบบเหมาช่วงขึ้นแต่เป็นความต้องการของผู้ประกอบการโรงงาน ที่ต้องการแรงงานด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ที่แรงงานคือส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากของภาคธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงทางด้านแรงงาน เพื่อเดินเครื่องการผลิตอย่างเต็มกำลัง มีคุณภาพและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ฉะนั้นอยากให้ภาคสังคม รวมถึงแวดวงผู้ประกอบธุรกิจเข้าใจให้ถูกต้องว่าบริษัทรับเหมาแรงงาน มีฐานะเป็นนายจ้างของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเห็นภาพได้ชัดเจนถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

“บริษัทซับคอนแทร็กต์ ที่มีฐานะเป็นนายจ้างตัวจริง ประกอบธุรกิจจริงตามกฎหมาย แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นนายหน้าแทนนายหน้าตัวจริงนั้นกลับไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวได้ในทุกกรณี แต่มีลูกจ้างได้เฉพาะที่เป็นแรงงานคนไทย”

“ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ฉะนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของธุรกิจรับเหมาแรงงาน พร้อมทั้งรับฟังข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ธุรกิจคนไทยสามารถทำงานบริการได้ และที่สำคัญคือ เป็นนายจ้างของแรงงานต่างด้าวได้เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ”

ทั้งนี้ “อิสรีย์” ยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ และยังได้รับการผ่อนผันให้สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้ ทั้งที่กฎหมายฉบับเดิมก็กำหนดให้จ้างได้เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานขึ้นในประเทศ ภาครัฐกลับผ่อนปรนให้บริษัทต่างชาติเหล่านี้ให้สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้


ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาครัฐจะพิจารณานโยบายใหม่ เพื่อสร้างนักลงทุนไทยให้แข็งแกร่งในบ้านของตัวเอง