พัฒนาสุขภาวะพนง.วงงานรัฐสภา ห่างไกลโรค NCDs ลดภาวะเสี่ยงโควิด

สสส. ร่วมกับ รัฐสภา และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ฯ พัฒนาสุขภาวะบุคลากรในวงงานรัฐสภาต่อเนื่องปีที่ 5 พร้อมพัฒนาคนต้นแบบสานต่อโครงการ

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในวงงานรัฐสภา และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรม “สุขภาพดีตามวิถีของบุคลากรในวงงานรัฐสภา” เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภา โดยโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการส่งเสริมสุขภาวะในวงงานรัฐสภา

1 ใน 3 บุคลากรวงงานรัฐสภาเป็นโรคกลุ่ม NCDs

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ต่างใช้เวลามากกว่า 50% ของแต่ละวันในสถานที่ทำงาน สสส. จึงมีแผนดำเนินงานเพื่อสร้างสุขภาวะองค์กรที่ดีทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรในระบบแรงงาน ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

สสส. ได้สนับสนุนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภาให้ดำเนินการโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในวงงานรัฐสภาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ซึ่งการจัดกิจกรรมล่าสุดนี้จะช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและสร้างสุขภาวะองค์กรที่ดี รวมถึงป้องกันและลดความเสี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ หรือภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นต้น

“จากรายงานผลตรวจสุขภาพประจำปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าบุคลากรในวงงานรัฐสภา มากกว่า 1 ใน 3 เป็นโรคประจำตัวจากกลุ่มโรคดังกล่าว”

เราจึงพัฒนาสื่อด้านสุขภาพ เพื่อใช้เป็นคู่มือเพื่อนำไปปฏิบัติด้านสุขภาวะ และสอดล้องกับสถานการณ์อันเป็นปัญหาในองค์กร รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นบุคลากรในวงงานรัฐสภากว่า 3,000 ราย และกลุ่มเป้าหมายรองที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชน อีกจำนวนหนึ่ง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ลำดับที่ 3 จากขวา)

ดึงผลสำรวจรักษาบุคคลากร

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภาร่วมกับ สสส. จัดทำโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ โดยอิงจากผลการสำรวจข้อมูลสุขภาพบุคลากรในวงงานรัฐสภา

“พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ มีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมสุขภาพขาดการใส่ใจดูแลควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย และหากได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจที่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นการป้องกันกลุ่มเสี่ยงให้กลับไปสู่กลุ่มปกติได้”

ทั้งนี้ บุคลากรในวงงานรัฐสภา มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,421 ราย แบ่งเป็น สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร 2,212 ราย และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 1,259 ราย

หนุนพนักงานต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสังคมฯได้นำหลักการใช้ความสุขพื้นฐานแปดประการ (Happy 8) เป็นเครื่องมือร่วมในการบริหารจัดการบุคคลากรวงงานรัฐสภา ในกิจกรรมการสร้างสุขภาวะองค์กรในช่วงที่ผ่านมา โดยเน้นการสร้างสุขทางกาย (happy body) และการสร้างสุขทางใจ (happy heart) พร้อมสร้างนักสร้างสุของค์กร (นสอ.) เป็นต้นแบบบุคคลากรสร้างสุข โดยปัจจุบันมี นสอ. จำนวน 253 คน ที่พร้อมสานต่อการทำงานในระยะที่ 3

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซ้าย) และชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร

“สำหรับเป้าหมายกิจกรรมต่อจากนี้ไป นอกเหนือจากการนำข้อมูลอ้างอิงจากผลสำรวจทางสุขภาพของบุคลากร ไม่ว่าเรื่องความเครียดในการทำงานสะสม และพฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสม ที่นำไปสู่ภาวะการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงการดูแลป้องกันโรคแพร่ระบาดในปัจจุบันที่เร่งด่วน อย่างโควิด -19 แล้ว ยังจะมีการนำนักสร้างสุของค์กรที่ผ่านการอบรมไปแล้วกลับมาเสริมความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะสามารถขยายผลต่อไปในเชิงนโยบายขององค์กร โดยจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างสุขทั้งกายและใจต่อไปยังคนรอบข้างต่อไป”