“เกาะยาวน้อย ยาวใหญ่” กกพ.ชูต้นแบบ “เกาะพลังงานสะอาด”

เกาะพลังงานสะอาด

หลังจากสถาบันอาศรมศิลป์เข้ามาดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพัฒนาเครือข่ายพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะ เพื่อการพึ่งพาอย่างยั่งยืน หรือโครงการเกาะพลังงานสะอาด ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว ครอบคลุมทั้งเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา มาตั้งแต่ปี 2562

ด้วยการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้โซลาร์เซลล์ในพื้นที่ รวมถึงแนวทางออกแบบอาคารประหยัดพลังงานภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

จนถึงวันนี้ชุมชนทั้ง 2 เกาะได้นำโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้ในภาคเกษตรแล้วหลายราย รวมถึงมีการนำมาใช้ภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชนเกาะยาวน้อย ซึ่งเป็นอาคารแห่งใหม่ที่ออกแบบโดยอาศรมศิลป์ และก่อสร้างโดยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของคนเกาะยาวน้อย และความรู้ด้านโซลาร์เซลล์

ที่สำคัญ ยังนำมาสู่การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน “Doing Koh Yao” ที่รวมช่างท้องถิ่นจากเกาะยาวน้อย และยาวใหญ่ ร่วมกันบริการให้ความรู้ ติดตั้งซ่อมแซมโซลาร์เซลล์แก่ชุมชนในราคาถูก ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของโครงการภายในระยะเวลา 1 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562

“ดร.อรรชกา สีบุญเรือง” กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การสนับสนุนโครงการเกาะพลังงานสะอาด เกิดจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักให้กับคนในท้องถิ่น

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“ฉะนั้น กกพ.นอกจากจะทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน หรือโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว ยังมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยนำพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน มาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย จึงได้ริเริ่มแนวคิดพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้”

“โดยร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 97(5)”

“โดยเป้าหมายสำคัญของแนวคิดพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือ ต้องมีความเข้าใจ และเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ยิ่งเฉพาะประชาชน ที่สำคัญ ต้องขยายผลจนก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายพลังงานชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน

“อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ที่ 7 (SDG7) ซึ่งเน้นการสร้างการเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างทั่วถึง ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมขับเคลื่อนการผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สร้างผลกระทบให้กับพื้นที่ที่ลงดำเนินการ หรือหมายถึงไม่ใช่แค่เข้าไปส่งเสริมประชาชน แต่ต้องทำให้คนอยู่ได้ และต่อยอดต่อไปได้ด้วย”

“ถึงแม้ว่าจะมีหลายโครงการที่เสนอเข้ามาให้กองทุนสนับสนุน แต่สำหรับโครงการในพื้นที่เกาะยาวน้อย ยาวใหญ่ของสถาบันอาศรมศิลป์ มีจุดเด่นหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการทำงานที่เน้นศึกษา และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้ลงมือทำ”

“ดร.อรรชกา” กล่าวอีกว่า ชุมชนเกาะยาวทั้งสองมีความเข้มแข็งอยู่แล้วจากการรวมกลุ่มกันผลักดันเรื่องท่องเที่ยวจนเป็นที่รู้จัก และตอนนี้หลังจากอาศรมศิลป์เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้กับชาวบ้าน พร้อมกับนำช่างเข้ามาสอนการติดตั้ง ซ่อมแซมโซลาร์เซลล์ ทำให้ดิฉันมองเห็นความเอาจริงเอาจังของชุมชนที่เริ่มเข้าใจ ตระหนักถึงการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์จนเกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดโดยเฉพาะ

“เพราะวันนี้โซลาร์เซลล์ราคาไม่แพงเหมือนเช่นในอดีตแล้ว เนื่องจากมีการส่งเสริมให้ใช้ทั่วโลก ประเด็นสำคัญคือโซลาร์เซลล์ต้องใช้แสงแดด แต่ภาคใต้แดดน้อย ทั้งยังมีฝนตกบ่อยครั้ง ชาวบ้านสามารถประยุกต์โซลาร์เซลล์กับแบตเตอรี่ใช้ได้เอง สามารถประกอบเองได้ ซ่อมเองได้แล้ว ซึ่งทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคต”

“ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ” ผู้จัดการโครงการ (ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์) กล่าวว่า สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาที่สนใจการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน สังคม พร้อมกับนำความรู้ที่มีเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดผลดีต่อสังคม ดังนั้น การเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนเกาะยาวน้อย ยาวใหญ่ เกิดจากเรามองเห็นกระแส go green ของภาคใต้ ที่อยากจะพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี

ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ (ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์)
ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ (ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์)

“อีกทั้งยังพบว่าเกาะยาวเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มขับเคลื่อนเรื่องท่องเที่ยวมานาน จึงเข้ามาร่วมงานกับชุมชน จัดกระบวนการให้คนในชุมชนได้มาทำความเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการติดตั้งโซลาเซลล์จากช่างที่อยู่ภายนอกเกาะ รวมถึงช่วยสร้างพื้นที่ต้นแบบในการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ ออกแบบอาคาร ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วางระบบการใช้งาน ตลอดจนการดูแลรักษา ร่วมกับชาวบ้านทุกขั้นตอน”

“ที่สำคัญ ยังใช้วิชาความรู้ของอาศรมศิลป์ในการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน เช่น ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกาะยาวน้อย และพลังงานโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์ข้อมูลชุมชนตำบลเกาะยาวน้อย”

“นอกจากเป็นจุดนัดพบสำหรับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวยังเป็นพื้นที่จัดแสดงเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่อยู่คู่เกาะยาวน้อยมานาน อาศรมศิลป์ออกแบบอาคารให้โดยมีหลักการคือออกแบบให้มีช่องเปิดรับแสงแดดเข้ามา และให้หลังคาสามารถป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ แต่ก่อสร้างโดยทีมช่างเกาะยาว อยู่ในหลักการ zero energy นำโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคา ทำให้ไฟฟ้าที่ใช้ภายในอาคารจะผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

ในส่วนของเกาะยาวใหญ่ยังออกแบบอาคารวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao ในลักษณะเดียวกัน สำหรับเรื่องนี้ “จรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว” ตัวแทนช่างจากวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao กล่าวเสริมว่า อาคารวิสาหกิจ Doing Koh Yao เป็นแหล่งซื้อขายแผงโซลาร์เซลล์ และศูนย์รวมช่างโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชาวบ้านเข้ามาติดต่อขอข้อมูลในกลุ่มวิสาหกิจของเรา”

จรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว ตัวแทนช่างจากวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao
จรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว ตัวแทนช่างจากวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao

“ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มช่าง 17 คน ที่ไม่มีความรู้ไฟฟ้าพื้นฐานเลย มาอบรมกระบวนการเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ทั้งหมดกับอาศรมศิลป์ และช่างภายนอกเกาะ จนตอนนี้มีช่างที่ผ่านการอบรมสามารถติดตั้งซ่อมแซมแล้วทั้งหมด 5 คน

“เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจโซลาร์เซลล์ เพราะราคาแพงมาก 1 แผ่นราคาเป็นหมื่น แต่ตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ 2-3 พันบาท คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นคนบนเกาะราคายังแพงอยู่ดี เพราะกว่าจะสั่งซื้อ กว่าจะจ้างช่างจากข้างนอกข้ามทะเลมาราคาก็สูงขึ้น”

“ผมมองว่าถ้ามีช่างชุมชนเป็นคนในพื้นที่ช่วยติดตั้ง ดูแลให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน และบนเกาะได้เองจะดีกว่า จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา ซึ่งอนาคตผมคาดว่าทีมช่างจะช่วยกันสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้าน พร้อมกับขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นจนทำให้เกาะของเรากลายเป็นเกาะพลังงานสะอาดที่แท้จริง”

“จเร เริงสมุทร” เกษตรกรเจ้าของรักผักฟาร์ม บ้านน้ำจืด ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จังหวัดพังงา กล่าวว่า มีการนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งในพื้นที่เกษตรด้วยเพื่อช่วยลดต้นทุน และลดการใช้แรงงานคน เนื่องจากคนบนเกาะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพมากกว่าหนึ่งอาชีพ เช่น บางคนก็ทำค้าขายด้วย ท่องเที่ยวด้วย บ้างก็ทำประมง ทำให้ต้องบริหารจัดการเวลาการทำงานในแต่ละวันให้มีประสิทธิภาพ

จเร เริงสมุทร เกษตรกรเจ้าของรักผักฟาร์ม บ้านน้ำจืด ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จังหวัดพังงา
จเร เริงสมุทร เกษตรกรเจ้าของรักผักฟาร์ม บ้านน้ำจืด ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จังหวัดพังงา

“สำหรับผมทำเกษตร โดยนำเทคโนโลยีระบบน้ำพ่นหมอกมาใช้ ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมกับสมาร์ทโฟน สูบน้ำขึ้นมาจากที่เก็บโดยใช้โซลาร์เซลล์ ถือว่าช่วยประหยัดเวลาได้มาก เพราะเมื่อก่อนรดน้ำทีก็ใช้เวลาทั้งเช้า-เย็น แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโซลาร์เซลล์ก็ใช้เวลาแค่ 10 นาทีพอ ไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ในพื้นที่เกษตรยังเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และนำไปใช้กับตู้แช่ผักได้”

“ผักที่ผมปลูก ได้แก่ ผักกาดขาว, กวางตุ้ง, ผักบุ้ง, ผักสลัด ผักเหล่านี้ผมปลูกแต่ละครั้งไม่มาก เพราะใช้ตลาดนำการผลิต คือ ผู้บริโภคต้องการก่อนแล้วค่อยมาผลิต จากนั้นนำมาขายที่หน้าบ้าน เหลือค่อยส่งขายตลาดชุมชน จนตอนนี้รายได้จากผักเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 6-7 พันบาทแล้ว ทำให้ผมมีกินมีใช้จ่ายอย่างสบาย”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว