ซีเอสอาร์ “ไทยเบฟ” ส่งมอบบ้าน-ผ้าห่มต้านภัยหนาว

ต้องยอมรับว่าพันธกิจทางด้านซีเอสอาร์ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีหลายส่วนด้วยกัน แต่ทั้งนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการเพื่อสังคมในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม และชุมชน ก็ถือเป็นอีกพันธกิจหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องค่อนข้างเร่งด่วนก็ตาม ซึ่งเหมือนกับโครงการพิธีส่งมอบบ้านห้วยขาบ ณ บ้านสว้าเหนือ ตำบลดงหญ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่ทางไทยเบฟฯร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกองทัพบก จ.น่าน

ทั้งนั้นเพราะเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ผ่านมา “บ้านห้วยขาบ” ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มทำให้บ้านเรือนของประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถพักอาศัยอยู่ในที่เดิมต่อไปได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจทำให้ดินโคลนถล่มตามมาอีกเป็นคำรบสอง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างที่อยู่อาศัยถาวรจำนวน 60 หลัง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัย โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เป็นหลัก ด้วยการหารือกับชาวบ้านและผู้ออกแบบบ้าน

จนที่สุด จึงกลายเป็นบ้านที่ประยุกต์มาจากบ้านเก่าที่มีเอกลักษณ์ของชนเผ่าลั๊วะดั้งเดิม

มอบบ้าน

เบื้องต้น “สัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน บอกว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 อิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินติญ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน จนส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของภาคเหนือของไทย

สัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
สัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน

“โดยเฉพาะพื้นที่บ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านเนื่องจากเกิดเหตุดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีความชื้นสูง ประกอบกับฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาอุ้มน้ำจนอิ่มตัวถล่ม และไหลลงมาทับบ้านเรือนประชาชน ส่งผลให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย”

“ทางจังหวัดจึงประกาศให้บ้านห้วยขาบเป็นเขตภัยพิบัติ จนทำให้อพยพประชาชนมาพักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทั้งยังเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากพบรอยดินบนภูเขาแยกเป็นแนวยาวกว่า 200 เมตร กระทั่งต่อมาภาครัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงประสานขอความร่วมมือมายังไทยเบฟฯเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ และเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นมาใหม่”

พิธีส่งมอบบ้านห้วยขาบ

ถึงตรงนี้ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากไทยเบฟฯตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย จึงดำเนินการสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยถาวร โดยมีรูปแบบบ้านประยุกต์มาจากบ้านของชนเผ่าลั๊วะ ซึ่งเกิดจากการหารือร่วมกันระหว่างชาวบ้าน และผู้ออกแบบ

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

“จนได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก โดยกองทัพภาค 3 มาช่วยดำเนินการก่อสร้าง พร้อมกับให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการจ้างงานชาวบ้านจำนวน 46 คน เพื่อมาร่วมกันก่อสร้าง ซึ่งไม่เพียงเป็นการเพิ่มโอกาส และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชาวบ้านยังเป็นการส่งเสริมให้พวกเขานำความรู้ตรงนี้ไปประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตด้วย”

“ส่วนเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยถาวร เราได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ใช้พื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จำนวน 176 ไร่เศษ ด้วยการจัดสรรเป็นที่ดินทำกินแก่ชาวบ้านครัวเรือนละ 120 ตารางวา”

“ทั้งยังมีการวางระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งไฟฟ้า ประปา รวมถึงการฟื้นฟู พัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ผลิตกาแฟ โดยมีมาตรฐานการรับรองแปลงกาแฟอินทรีย์วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟห้วยขาบ จำนวน 43 ราย”

กาแฟน่าน

“รวมถึงการพัฒนาต่อยอดการสร้างแบรนด์ลั๊วะ คอฟฟี่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ผลิต เพราะกาแฟของที่นี่ไม่เพียงผ่านกระบวนการผลิตแบบ honey process หากยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รักสุขภาพอีกด้วย ที่สำคัญ เรายังส่งเสริมให้ชุมชนผู้ปลูกกาแฟพัฒนาสินค้าด้วยการแปรรูปเป็นสบู่กาแฟน้ำผึ้ง จนสร้างรายได้มากกว่า 1 แสนบาท”

“ขณะเดียวกันยังส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผสานความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน ด้วยการปลูกฟักทองอินทรีย์บนพื้นที่ว่างในชุมชนจำนวน 2 ไร่ จนทำให้เกษตรกรมีรายได้เลี้ยงครอบครัว และชุมชน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างเกษตรกรต้นแบบที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้าน และคนอื่น ๆ ต่อไป”

ถึงตรงนี้ “ธนวัฒน์ จรรมรัตน์” ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ ตำบลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า การได้รับมอบบ้านครั้งนี้เป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน และเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ไทยเบฟฯและหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยเมื่อปี 2561 ผมเชื่อว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนภูมิใจคือการได้บ้านที่เหมือนกัน และต้องขอบคุณทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ออกแบบบ้าน วางผัง และจัดสรรพื้นที่ให้

ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ ตำบลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ ตำบลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

“ผมต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เอื้ออำนวยความสะดวก โดยเฉพาะกรมป่าไม้ที่ช่วยประสานเรื่องที่ดินในเขตป่าสงวน จนทำให้มีการขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างบ้านถาวรจำนวน 60 ครัวเรือน 248 คน ตอนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้นมาก”

“แม้จะต้องทำมาหากินบนที่ดินเดิมที่อยู่ไกลจากที่นี่ประมาณ 4 กิโลเมตร เพราะแหล่งเพาะปลูกเราอยู่ที่เดิม ดังนั้น รายได้หลัก ๆ จึงมาจากการรับจ้างทั่วไป ส่วนรายได้รองคือการปลูกกาแฟ, ปลูกฟักทองอินทรีย์, ปลูกถั่วดาวอินคา และปลูกข้าวไร่เพื่อกินใช้ในครัวเรือน”

ขณะที่ “อดิศักดิ์ เทพอาสน์” ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า วันนี้เรามาส่งมอบบ้านห้วยขาบแห่งใหม่ให้กับทางจังหวัด และผู้ใหญ่บ้าน ตามที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้านพักจำนวน 60 หลัง ให้กับผู้ประสบภัยดินโคลนถล่มเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ผ่านมา

อดิศักดิ์ เทพอาสน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
อดิศักดิ์ เทพอาสน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

“ผมมีความรู้สึกว่าชาวบ้านในชุมชนกว่า 248 คน ได้ใช้ชีวิตใหม่ที่มีความปลอดภัยมากกว่าเดิม ทั้งยังมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม เพราะมีการส่งเสริมอาชีพ จากเดิมที่เคยปลูกกาแฟธรรมดา ๆ แต่ตอนนี้เริ่มมีการแปรรูปกาแฟ, ปลูกฟักทองอินทรีย์, ปลูกผักปลอดสารพิษ”

“ทั้งยังมีฝึกอบรมสร้างจิตอาสากู้ชีพกู้ภัยบริเวณบ้านห้วยขาบร่วมกับ อบต.เจ้าของท้องที่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือ เมื่อมีเหตุการณ์ประสบอุบัติเหตุฝนตกโคลนถล่มอีก เพราะว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์ตรง ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก พวกเขาจะได้เข้าไปช่วยชีวิตผู้ประสบภัยดินโคลนถล่มอีกครั้งอย่างปลอดภัย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไทยเบฟฯมามอบให้ในวันนี้”

ในวันเดียวกัน นอกจากไทยเบฟฯจะทำการส่งมอบบ้านหลังใหม่ให้แก่ชุมชนบ้านห้วยขาบครบ 60 หลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในภาคบ่ายไทยเบฟฯยังจัดทำโครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว ปีที่ 21 ณ โรงเรียนบ่อเกลือ หมู่ที่ 5 บ้านนาขวาง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน อีกด้วย

โดยความพิเศษของโครงการครั้งนี้นอกจากจะนำขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยการให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ทำการเก็บขวดพลาสติก PET จำนวน 7,600,0000 ขวด เพื่อนำส่งต่อให้กับบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกนำไปถักทอเป็นเส้นใยเพื่อทำเป็น “ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” จำนวน 200,000 ผืน

มอบผ้าห่ม

กล่าวกันว่า นับเป็นปีแรกที่ไทยเบฟฯนำเส้นใย PET มาใช้ในการผลิตผ้าห่ม ที่ไม่เพียงจะช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ยังช่วยลดปัญหาขวดพลาสติกอีกด้วย ที่สำคัญ ผ้าห่มผืนเขียวจะให้ความอบอุ่นมากกว่าเดิม เพราะมีองค์ประกอบของโพลีเอสเตอร์แทรกอยู่ในเส้นใยของผ้าห่มด้วย

สำหรับเรื่องนี้ “ฐาปน” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาทุกข์ให้แก่พี่น้องชาวไทย ด้วยการแบ่งปันไออุ่นให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือ และภาคอีสาน รวมทั้งสิ้น 15 จังหวัด

ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, สกลนคร, นครพนม, บึงกาฬ, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, เลย และภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, สุโขทัย, แพร่, พะเยา และน่าน แต่สำหรับการส่งมอบโครงการครั้งนี้เรามอบผ้าห่มจำนวน 15,000 ผืน สำหรับพี่น้องชาวจังหวัดน่าน

“ที่ผ่านมาเราทำโครงการครั้งแรกในปี 2543 ถึงวันนี้ผ่านมา 21 ปีเต็ม ที่ผ้าห่มผืนเขียวให้ความอบอุ่นแก่ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือ และภาคอีสาน ภายใต้การสานต่อปณิธานแห่งการให้ของท่านประธานเจริญ และท่านรองประธานคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้กล่าวว่า คนไทยให้กันได้”

“ผลตรงนี้ จึงเกิดการส่งมอบผ้าห่มจำนวน 200,000 ผืน ให้แก่พี่น้องผู้ประสบภัยหนาวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งยังจัดทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์อีกมากมาย ภายใต้แนวคิดมากกว่าความอบอุ่น คือ สังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”

“ในส่วนของผ้าห่ม 1 ผืน จะใช้ขวดน้ำ PET จำนวน 38 ขวด ดังนั้น ตลอดระยะเวลาของโครงการ เราแจกผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกไปทั้งหมด 2 แสนผืน ก็เท่ากับว่าเราใช้ขวดน้ำ PET จำนวน 7,600,000 ขวด ผลตรงนี้ จึงทำให้เรากำจัดขยะขวดพลาสติกไปได้ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญ เส้นด้ายจากขวด PET ทำให้เราใช้พลังงานลดน้อยลงถึง 60% ทั้งยังช่วยลดการปล่อย CO2 ถึง 32% เพราะเส้นด้ายเหล่านี้ที่ถักทอเป็นสิ่งทอที่รีไซเคิลได้ถึง 100%”

นับว่าไม่ธรรมดาเลย