115 กิจการ สถานภาพยั่งยืน

ประกอบบทความ
คอลัมน์ CSR Talk

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของ 115 กิจการ ในงาน “The State of Corporate Sustainability in 2020” พร้อมแนะนำเครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะการดำเนินงานองค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล “ESG benchmark” ตามชุดตัวชี้วัดที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (WFE) แนะนำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องได้ประมวลข้อมูลความยั่งยืนของ 115 กิจการที่เป็นสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (sustainability disclosure community : SDC) จัดทำเป็นรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการปี 2563

จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ทั้งองค์กรสมาชิก SDC และองค์กรที่สนใจทั่วไป สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม

“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในการเปิดตัวรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการปี 2563 ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานผ่านมาว่า เนื้อหาในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI

หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (environmental, social and governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges : WFE)

และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) ตามแนวทาง GCI (guidance on core indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting : ISAR)

“ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์” วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานของกิจการในประเด็นความยั่งยืนตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI เชื่อมโยงกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (culture of health business practice : COHBP) ที่เผยแพร่โดย GRI เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2563

“สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิดใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์, ด้านนโยบายและสวัสดิการ, ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมสุขภาพ, ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ, การประกันสุขภาพ, ความมั่นคงในตำแหน่งงาน, ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น”

การเปิดตัวรายงานฉบับนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังจัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ESG Benchmark : The New Corporate Sustainability Tool” เพื่อแนะนำเครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะการดำเนินงานองค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่พัฒนาขึ้นโดยอ้างอิงชุดตัวชี้วัด ESG ที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (WFE) แนะนำ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถเปรียบเทียบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG กับองค์กรอื่นในลักษณะของลำดับรายสาขา (sector ranking) และลำดับโดยรวม (overall ranking) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“วรณัฐ เพียรธรรม” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่าเครื่องมือ ESG benchmark ที่พัฒนาขึ้น เป็นภาคต่อของเครื่องมือการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG rating ที่ริเริ่มจัดทำในปี 2558 มาสู่เครื่องมือการจัดลำดับสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ranking ที่เอื้อให้กิจการสามารถเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงานด้าน ESG ระหว่างองค์กรทั้งในระดับอุตสาหกรรมและในภาพรวม

ภายในงานครั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังจัดพิธีมอบรางวัล Sustainability Disclosure Award ประจำปี 2563 ให้แก่องค์กรสมาชิก SDC ที่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอันประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการ

รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน โดยรางวัลที่มอบให้กับองค์กรในปีนี้ ประกอบด้วย Sustainability Disclosure Award จำนวน 34 รางวัล Sustainability Disclosure Recognition จำนวน 42 รางวัล และ Sustainability Disclosure Acknowledgement จำนวน 20 รางวัล

องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการปี 2563 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าวที่เว็บไซต์ของสถาบัน
ไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป