มองจากมุม “TBCSD” ถึงเวลาภาคธุรกิจต้องช่วยกันรักษ์โลก

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) แถลงสรุปผลงานปี 2563 และทิศทางการขับเคลื่อนในปี 2564 เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน

โดยภายในงานมีผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก TBCSD กว่า 40 องค์กรครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยมาร่วมให้ทรรศนะและแนวทางในการขับเคลื่อน

โดยมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “EU Green Deal” ซึ่ง “ปีย์กะ ตาปิโอละ” เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย มาบอกเล่าเกี่ยวกับกลยุทธ์ใหม่ในการเติบโตของยุโรป พร้อมกับเปิดเผยให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมหันตภัยไวรัสร้ายว่า โควิด-19 ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจยิ่งกว่าครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่เพื่อควบคุมการระบาด ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก

ปีย์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย
ปีย์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย

“ถึงแม้โควิด-19 จะเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ คณะกรรมาธิการแห่งยุโรป จึงผลักดันนโยบาย European Green Deal เป็น roadmap เพื่อเปลี่ยนแปลงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสในการส่งเสริมนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนทั้งยุโรป”

“นโยบาย European Green Deal จึงเป็นกลยุทธ์ใหม่ของยุโรป โดยมุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคยุโรปสู่สังคมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมถึงมาตรการในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคการขนส่ง และที่อยู่อาศัย ด้วยการสร้างระบบอาหารที่มีความยั่งยืน และกำหนดให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถซ่อมแซมได้ง่ายเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปรีไซเคิล”

“ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโลก (game changer) ทั้งยังเป็นผู้นำในการทำตามมาตรฐานต่าง ๆ ภายใต้ European Green Deal เช่น ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่ และแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การผลิตแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถทำได้จะต้องเสียภาษีมากขึ้น ทั้งยังไม่เป็นที่ยอมรับในตลาด, กลยุทธ์ Farm to Fork และงานปลอดมลพิษ (Pollution-free Europe Work) ที่จะต้องบรรลุเป้าหมายระยะกลางในปี 2030”

ต่อจากนั้นเป็นการแถลงสรุปผลงาน และทิศทางการขับเคลื่อน TBCSD โดยคณะกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำโดย “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า นับตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์กรสมาชิก TBCSD หลายองค์กรมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหา ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ ตามบริบทของแต่ละองค์กร รวมเป็นยอดเงินมากกว่า 1,600 ล้านบาท

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา TBCSD ขยายกรอบการทำงาน (TBCSD New Chapter Framework) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาระดับประเทศ (country issue) ตามกรอบการดำเนินงาน 3 รูปแบบ คือ fundamental, collective และ area-based project/program โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างเรื่อง PM 2.5 (ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน) และประเด็นที่เราจะขับเคลื่อนเป็นโครงการระยะยาว คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น”

“รวมถึงการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก เพื่อให้มีความเข้าใจที่ดี และดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนไทย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (youth in charge) ที่สำคัญ จะต้องผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนจนนำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”

สำหรับภาคสุดท้ายมีเสวนาเรื่อง “กลยุทธ์ Growth Strategy ธุรกิจแบบยั่งยืนในยุค New Normal” ที่มีตัวแทนสมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมแชร์แนวทาง โดยหนึ่งในนั้นคือ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหามลพิษและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“ฉะนั้น เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาโดยเน้นเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็น Thailand 4.0/Industry 4.0 โดย ส.อ.ท.ร่วมมือกับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อพัฒนาโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมให้ขยายตัวมากขึ้น เช่น ร่วมมือเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี”

“นอกจากนั้น เรายังดูแลผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 ด้วยการช่วยเหลือในหัวข้อที่พวกเขากำลังเจอความท้าทาย โดยหลัก ๆ จะเป็นเรื่องการทำการตลาดการเงิน การให้ความรู้ผ่านการเทรนนิ่ง และส่งเสริมนวัตกรรม โดย ส.อ.ท.มีบทบาทเป็นผู้แนะนำส่งเสริม และสนับสนุนให้สมาชิกมีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ecofactory) จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยตอนนี้มีโรงงานทั้งหมด 247 แห่งที่ผ่านการรับรอง”

“รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม ซากผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ภายใต้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และการนำระบบ IOT มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น smart industry ที่สามารถปรับตัวให้ตอบรับกับยุค new normal จนสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน”

ขณะที่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งของกลุ่ม ปตท. เราจึงสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม แต่ยังคงรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลัก ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผสานด้วยการเปิดกว้างทางความคิด รับบริบทจากภายนอก (inside-out & outside-in) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ด้วยการวางพื้นฐานหลักในการทำด้วยกลยุทธ์ PTT ร่วมกับแนวคิด PTT หรือที่เรียกว่า “PTT by PTT” ประกอบด้วย

หนึ่ง Partnership and Platform การดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร และพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม มากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้า และจำหน่าย

สอง Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล

สาม Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใส และความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เน้นให้พนักงานมีความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประเมินความเสี่ยง พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย

“ขณะเดียวกัน ต้องเตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น next normal ทั้งธุรกิจเดิม และ New S-curve เช่น ลงทุนพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน โดยธุรกิจใหม่ที่ทาง ปตท.เตรียมขยาย คือ ธุรกิจยา, อาหารเสริมและการต่อยอดธุรกิจวัตถุดิบตั้งต้นจากทรัพยากรธรรมชาติ (commodity) ไปสู่วัสดุล้ำสมัย หรือวัสดุที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง (advanced material), เพื่อต่อยอดจากธุรกิจน้ำมันไปสู่ธุรกิจที่รองรับไลฟ์สไตล์ที่ไม่หยุดนิ่ง จนมีความคล่องตัวในไลฟ์สไตล์รวมถึงเรื่องของโลจิสติกส์ด้วย”

นับเป็นความร่วมมือของภาคธุรกิจไทย สำหรับการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง