บ.ที่ปรึกษาญี่ปุ่นแนะ องค์กรไทยต้องกล้าเปลี่ยน ให้ พนง. WFH ถาวร

“อิชิโร ฮาระ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

ABeam บ.ที่ปรึกษาที่มี สนง.ใหญ่ในญี่ปุ่น ทำการวิจัยพบว่า บ.ที่ยังคงให้ พนง. ทำงานจากบ้านหลังยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์มีผลิตผลมากกว่า พร้อมแนะองค์กรไทยทบทวนรูปแบบการทำงาน เพื่อรับมือการระบาดโควิดรอบ 2

ตามการคาดการณ์ของไฟแนนเชียล ไทมส์ที่ระบุว่า 50% ของประชากรไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในปี 2564 และอีก 70% ภายในปี 2565 ถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรที่คนไทยต้องปฎิบัติตามมาตราการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น ลดระยะห่างทางสังคม (social distancing) ก่อนที่วัคซีนจะมาถึง

บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) (ABeam) บริษัทให้บริการที่ปรึกษาที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แนะนำว่า องค์กรไทยควรทบทวนรูปแบบการทำงาน หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศรอบ 2 พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนความสำเร็จของบริษัทที่สามารถรับมือโรคอุบัติใหม่โควิด19 คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน (Workstyle Transformation) เพื่อการทำงานระยะไกลให้มีประสิทธิภาพ

“อิชิโร ฮาระ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทในไทยควรหันกลับมาทบทวนรูปแบบการทำงาน เน้นปรับกระบวนการและวิธีการทำงาน เพื่อให้มีประสิทธิผลในทุกสถานการณ์

โดยปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่จะช่วยให้มีการทำงานที่มีประสิทธิผลในสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่

  1. Remote Working Culture – การพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกลหรือจากบ้าน
  2. Process Automation – การใช้ประโยชน์จากกระบวนการทำงานอัตโนมัติ
  3. Cybersecurity and Remote Infrastructure – การใช้ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานระยะไกลที่แข็งแกร่ง

“อิชิโร” อธิบายว่า วัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกลต้องเริ่มต้นจากความชัดเจนในจุดยืนของบริษัทว่า จะกำหนดนโยบายการทำงานจากระยะไกลให้เป็นมาตรการชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งการทำงานจากระยะไกลเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและกล้าที่จะลงทุน

“จากการสำรวจ ABeam พบว่า บริษัทที่ออกมาตรการให้พนักงานทำงานจากบ้านแบบชั่วคราว เฉพาะช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์เท่านั้น พนักงานมักไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เพราะพวกเขารู้สึกว่า เดี๋ยวก็ต้องกลับไปทำงานในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ทำงานแบบเดิม ดังนั้น พนักงานจะทำงานแบบผ่านไปวัน ๆ เพื่อการอยู่รอดให้นานที่สุดก็พอ”

ในทางกลับกันบริษัทที่มีมาตรการให้พนักงานทำงานจากบ้านแบบถาวร แต่อาจมีบางวันที่ต้องเข้าสำนักงานบ้าง โดยจากการสำรวจพบว่า รูปแบบที่ดีที่สุดที่พนักงานชอบคือ ทำงานทางไกล 2 ถึง 3 วัน และส่วนที่เหลือให้ทำในสำนักงานเพื่อกระตุ้นให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งรูปแบบนี้พนักงานจะมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทักษะเสมือนจริง (virtual skills) เพราะพวกเขาตระหนักว่าถ้าประสิทธิภาพการทำงานของตนเองลดลงเวลาไม่ได้อยู่ให้เห็นหน้าในออฟฟิศ อาจทำให้บริษัทตัดสินใจไม่จ้าง

โดย 50% ของพนักงานที่ทำงานจากบ้านแบบถาวรรู้สึกว่ามีอารมณ์ในการทำงานมากขึ้น และทำงานได้มีประสิทธิผลมากกว่าเดิม อีก 32% รู้สึกว่ามีประสิทธิภาพมนการทำงานไม่ต่างจากทำในออฟฟิศ และมีเพียง 18% เท่านั้นที่รู้สึกว่าการทำงานจากบ้านมีประสิทธิผลน้อยกว่าทำในออฟฟิศ บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันแบบระยะไกลและลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยการทำงาน (hybrid collaboration tools) สามารถลดการใช้พื้นที่สำนักงานลง 32.6% และลดต้นทุนในระยะยาว

“อิชิโร” กล่าวต่อว่า กระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือที่ช่วยวัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกลให้แข็งแกร่ง บริษัทที่ประสบผลสำเร็จและมีผลิตภาพสูงต่างทรานส์ฟอร์มตัวเองสู่ดิจิทัล และมุ่งสู่วิถีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการลดปริมาณงาน และการทำงานซ้ำซ้อนแบบระบบข้าราชการลง

ส่วนความปลอดภัยด้านไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการทำงานจากระยะไกล เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้การทำงานมีประสิทธฺภาพ

“ในปี 2563 ไม่ใช่ปีที่ถูกคุกคามโดยโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นปีที่มีภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย การทำงานนอกสำนักงานส่งผลให้มีข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 40% ไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีการแฮ็ครหัสผ่าน หรือ brute-force attack สูงขึ้น 400% ในเดือนมีนาคมและเมษายน  2563 และมีการอีเมลสแกมหรืออีเมลหลอกลวงเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 เพิ่มขึ้น 667% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา”


“ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ละองค์กรควรประเมินสถาณการณ์และเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานจากระยะไกลหรือทำงานจากบ้าน เพื่อรองรับการทำงานที่ต่อเนื่องของธุรกิจ” ฮาระกล่าวสรุป