“บ้านเกี๋ยน” ชุมชนชีววิถี

ตามรอยฟ้า

ด้วยโจทย์เริ่มต้นของชุมชนในพื้นที่ ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน คือตั้งใจลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ด้วยการผลิตน้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพูเพื่อใช้เอง จนเติบโตกลายมาเป็นชุมชนชีววิถี ที่เป็นตัวอย่างการพึ่งพาตนเอง ทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ 5 หมู่บ้าน เป็นชุมชนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจำหน่ายไปยังทั่วหัวเมือง และรับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์ต่าง ๆ อีกกว่า 20 แบรนด์

“ศิรินันท์ สารมณฐี” ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนชีววิถี เล่าให้ฟังว่า เราเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของผู้ที่มีแนวคิดเดียวกัน คือ ต้องการพึ่งพาตนเองด้วยการผลิตของใช้ภายในบ้านแบบง่าย ๆ สมาชิกกลุ่มแรกจำนวน 79 คน มีการรวบรวมเงินทุนได้ 60,000 บาท ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนชีววิถี เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ด้านการใช้ชีวิตในวิถีธรรมชาติ พึ่งพาตนเอง โดยเริ่มต้นผลิตแชมพูใช้กันเองภายในกลุ่ม และจำหน่ายในชุมชนตั้งแต่ปี 2550

“ลูกค้ากลุ่มแรกคือสมาชิกทั้งหมด เพราะทุกคนมีแนวคิดที่จะผลิตของใช้ภายในบ้านเอง และเพื่อให้มั่นใจ เราจึงรวมกลุ่มผลิตกันเอง โดยเน้นการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ด้วยการนำพืชสมุนไพรมาใช้ให้มากที่สุด อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน บวกกับพืชในท้องถิ่นที่หาง่าย มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก

“เมื่อสามารถเจาะตลาดชุมชนในระยะแรก จากนั้นจึงเริ่มขยายตลาดไปสู่ชุมชนอื่น ๆ แม้แต่งานประจำจังหวัด หรือการเข้าร่วมเป็นสินค้าโอท็อป และเวลามีอีเวนต์ที่ไหนก็จะไปออกบูท จนทำให้สินค้าของเราขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว จนขณะนี้สมาชิกของวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 680 คน 250 หลังคาเรือน และแต่ละปีมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยมีเงินปันผลอีกร้อยละ 25 ไม่นับชาวบ้านที่ส่งวัตถุดิบมาจำหน่ายให้กับกลุ่มอีก”

สินค้าของวิสาหกิจมีมากกว่า 30 รายการ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.เครื่องสำอาง เช่น แชมพู สบู่ โลชั่น 2.เครื่องดื่ม เน้นเครื่องดื่มสมุนไพรต่าง ๆ และ 3.ยา เช่น ยาหม่อง น้ำมันนวด ลูกประคบ โดยจำหน่ายผ่านแบรนด์ ชีวา และ ชีวาน่า รวมถึงการรับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์อื่น ๆ อีกถึง 20 แบรนด์ หรือร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมด

“ศิรินันท์” บอกว่า ความเข้มแข็งของรายได้มาจากการควบคุมมาตรฐานอย่างเคร่งครัด เพราะองค์ความรู้มาจากภูมิปัญญาต้องผ่านมาตรฐานอันเป็นสากล โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำเกี๋ยน เป็นผู้ให้ความรู้ด้านวิชาการ รวมถึงการควบคุมคุณภาพการผลิต เพราะปัจจุบันโรงงานได้รับมาตรฐาน GMP ทั้งยังกำลังดำเนินการเพื่อยื่นขอ GMP อาเซียน เพื่อการส่งออกต่อไป

ขณะที่ด้านวัตถุดิบ ซึ่งมาจากเกษตรกรในชุมชนเป็นหลัก ทางวิสาหกิจชุมชนมีการควบคุม และบริหารการปลูกอย่างเป็นระบบ เพื่อตัดปัญหาวัตถุดิบปนเปื้อนสารเคมี ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน รวมทั้งการควบคุมสินค้าเพื่อไม่ให้ล้นตลาดด้วย

“คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ซึ่งมีที่ดินว่างเปล่าอยู่แล้ว เขาสามารถปลูกสมุนไพรได้ โดยวิสาหกิจชุมชนจะเป็นผู้ควบคุมการปลูก เช่น ตะไคร้หอม ใช้ปริมาณเยอะ ดูแลง่าย ก็ส่งเสริมให้ทุกบ้านปลูก ส่วนพืชอื่น ๆ จะจัดสรรตามความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิตจากสมุนไพรที่มีอยู่เดิม เช่น มะกรูด มะเฟือง อัญชัน มะขาม เพราะเมื่อถึงช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก จากเดิมที่ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็คัดเลือกมาขายให้แก่วิสาหกิจชุมชนเป็นรายได้เสริม”

“สาเหตุที่เรารับซื้อผลผลิตของคนในชุมชน เนื่องจากเพื่อความมั่นใจว่าจะต้องปลอดภัยจากสารเคมี และเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ทำให้เรากระจายรายได้ให้แก่คนในชุมชนผ่านการซื้อสมุนไพรจากชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท/ปี ทั้งยังช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน จนสร้างรายได้จากการจ้างงานพนักงาน ซึ่งเป็นคนในชุมชนกว่า 20 คน คิดเป็นเงินค่าจ้างประมาณ 2 แสนบาท/เดือน”

ฉะนั้น ก้าวต่อไปที่ทางวิสาหกิจชุมชนชีววิถีมีความตั้งใจ คือ การผลักดันให้บ้านเกี๋ยน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมแปลงสมุนไพร ดูกระบวนการทำงาน ขั้นตอนการผลิต ทั้งยังมีการร่วมทำ Workshop เพื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งมีที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่เสิร์ฟอาหารสุขภาพจากผลิตผลของคนในชุมชน เพราะเมื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รายได้จะกระจายในวงกว้างมากขึ้นจากการท่องเที่ยว

ส่วนด้านการดูแลสมาชิก แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้กับการดูแลคุณภาพวัตถุดิบ ด้วยการส่งเสริมให้สมาชิก และคนในชุมชนมีความยั่งยืน ทั้งในด้านรายได้และสุขภาพ เพราะที่นี่จะจำหน่ายสินค้าในราคาต้นทุนให้แก่สมาชิก พร้อมกันนี้ยังมีเงินปันผลทุกปี ในการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อส่งผลไปยังต้นทางการผลิต การดูแลวัตถุดิบ ดูแลลูกค้า และผู้ขาย เพื่อจะได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ

ขณะที่การลดรายจ่าย ก็นับว่าเป็นการเพิ่มรายได้อีกวิธีหนึ่ง เพราะหากสามารถนำมาพัฒนาจนกลายเป็นรายรับนั้นถือว่าเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งเข้าไปอีกต่อหนึ่ง แต่สำหรับบ้านน้ำเกี๋ยนชุมชนชีววิถีแห่งนี้ นับว่ากำไร 3 ต่อ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีสุขภาพที่ดีอีกด้วย