โลกของงานในมือ “เจนซี” ทำงานหลายจ็อบ-คำนึงถึงสังคม

ศูนย์วิจัยอนาคตศาสตร์ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยแนวโน้มทิศทางงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงหลายด้านในยุคของคนรุ่นใหม่ เจนซี (generation Z)

ทั้งการทำงานที่ไม่ต้องอยู่ในกรอบเวลาแบบเดิม แต่สามารถออกแบบเองได้ เพื่อให้สมดุลกับชีวิต รวมถึงลักษณะการจ้างงานขององค์กรต่าง ๆ อาจเน้นจ้างเป็นรายโครงการ พร้อมกับมีเอไอและโรบอตเป็นเพื่อนร่วมงานมากขึ้น

สิ่งที่กล่าวมาคือส่วนหนึ่งที่ถูกพูดถึงในงานเสวนา “Future Generations and Their Impact on the Future of Living” จัดขึ้นโดยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เมื่อไม่นานผ่านมา โดยมีการคาดการณ์อนาคตของคนเจนซีหลายด้าน ทั้งเรื่องการงาน การวางแผนชีวิต และแนวโน้มอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ดร.การดี เลียวไพโรจน์” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวว่า จากการศึกษาและวิจัยอนาคตกลุ่มเจนซี ทางฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ค้นพบว่ากลุ่มดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งมุมมองความคิด และพฤติกรรมที่จะส่งผลถึงอนาคตความเป็นอยู่ โดยเจนซีจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และประเด็นหลักเพื่อสังคมมากขึ้น มีอัตลักษณ์ตัวตนที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ตลอดจนการก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่เข้าใจในเรื่องความหลากหลายในอนาคต

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ

“ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน และเป็นตัวแปรด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญในหัวข้อเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงกลุ่มคนเจนใหม่ และสามารถนำมาพัฒนาเมืองและสังคมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1995-2010 ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ รอบตัว และสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือที่สร้างความสะดวกสบายให้กับตัวเอง

“ขณะเดียวกัน คนในเจเนอเรชั่นนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างหลากหลาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานครั้งใหญ่ โดยเฉพาะด้านทักษะตอบโจทย์การทำงาน และอาจจะส่งผลต่ออนาคตของตลาดงานใน 10-20 ปีข้างหน้าเช่นกัน”

“วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ” นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ส่งผลให้เกิดความท้าทายในตลาดงานอย่างมากอยู่แล้ว

วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ
วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ

จากการศึกษาการคาดการณ์อนาคตของผู้เชี่ยวชาญฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ และนักวิจัยจาก NIA ในหลาย ๆ มุมมอง ได้พบสัญญาณความเปลี่ยนแปลง (future living) ที่จะเกิดขึ้นในตลาดงานอนาคตของคนรุ่นใหม่ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ

หนึ่ง การทำงานที่ออกแบบเองได้ ซึ่งหมายถึงคนรุ่นใหม่จะสามารถใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตนเองต้องการ ทั้งมีชั่วโมงการทำงานที่สามารถกำหนดเองได้ (flexible working hour) รวมถึงสถานที่ทำงานและรูปแบบการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น มีการทำงานแบบ remote work มากขึ้น โดยประชุมผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การทำงานรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพบปะกัน

หากเป็นเช่นนี้ จะทำให้ทุกคนสามารถแบ่งเวลาทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวอย่างสมดุล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับเวลาชีวิตมากกว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วในการทำงาน (valuing free time) หรือการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน อีกทั้งยังมีแผนการเกษียณเร็วขึ้นเพื่อออกไปใช้ชีวิต เพราะการทำงานไม่ใช่ส่วนเติมเต็มในชีวิตของเขาทั้งหมด

“ถ้าเราได้สัมผัส key inside ของเจนซีมากขึ้นจะเห็นว่า เป้าหมายหลายอย่างของเขาแตกต่างจากคนรุ่นเก่า เช่น เขาไม่ได้มองว่าหน้าที่การงานของเขาจะต้องประสบความสำเร็จ หรือร่ำรวยเท่านั้น แต่เขามองถึงความชอบที่จะทำ หรือทำในสิ่งที่รัก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ก็เป็นอีกรูปแบบที่คนรุ่นเก่าต้องเรียนรู้จากพวกเขา”

สอง การทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีขั้นสูง องค์กรจะนำเอไอ โรบอต มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการที่ต้องใช้คลังข้อมูล ความรู้ เช่น แพทย์, กฎหมาย, การเงิน ฯลฯ

ที่สำคัญ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า 6G จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่า 5G ถึง 8 พันเท่า หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่ประสิทธิภาพของแต่ละแบรนด์ ทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในระดับองค์กร หรือระดับไมโครทั้งเมืองก็ได้ รวมถึงแรงงานอาจจะมีตัวช่วยทำงาน ที่เรียกว่า exoskeleton เช่น เครื่องพยุงร่างกาย เพื่อทำงานได้สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สาม การทำงานที่เน้นทักษะต่อความสำเร็จของงาน มากกว่าระดับการศึกษา เพราะต่อจากนี้ HR (human resource) ขององค์กรหลายแห่ง จะไม่ได้สนใจแค่ระดับการศึกษาอีกแล้ว แต่จะพิจารณาทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานยิ่งขึ้น ส่งผลให้แรงงานทุกวัย ทุกกลุ่ม แม้ไม่ได้เรียนจบด้านที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานมาโดยตรง แต่สามารถพัฒนาทักษะ หรือรีสกิล อัพสกิลตนเองให้เหมาะสมต่อรูปแบบงานได้

สี่ การทำงานเชิงเดี่ยว เป็นการทำงานที่เน้นรูปแบบการทำงานแยกส่วนในโครงการต่าง ๆ แบ่งสมาชิกในทีมรับผิดชอบตามหน้าที่เฉพาะที่ได้รับมอบหมาย นั่นหมายความว่าสมาชิกมีส่วนส่งเสริมต่อความสำเร็จของโครงการ แต่อาจไม่ได้รู้รายละเอียดหรือได้ทำงานร่วมกับส่วนงานอื่นโดยตรง

“การทำงานจะมีลักษณะเป็นทีมเล็ก ๆ หรือกลุ่มย่อย ๆ มากขึ้น ซึ่งเรียกว่า project based hiring ส่งผลให้อนาคตองค์กรไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะพนักงานประจำเท่านั้นแต่จะมีการจ้างงานคนภายนอกเป็นรายโครงการไปด้วย และมีอีกเทรนด์คือ gig economy การทำงานแบบเป็นครั้งคราว รวมถึง multipotentialite บางคนอาจมีการทำงานหลายงานพร้อมกันได้อย่างที่ตนเองต้องการ เช่น ตอนเช้าอาจเป็นแพทย์ ตอนเย็นอาจเป็นยูทูบเบอร์ เพื่อหารายได้เพิ่ม”

“วิพัตรา” กล่าวต่อว่า ทั้งนั้น ปัจจัยที่กล่าวมาถ้าหากเป็นผลดีจะเกิดเป็น scenario แรก คือ happy work happy life ทุกคนจะมีความสุขในการทำงาน มีการเรียนรู้และได้รับการพัฒนาทักษะที่ต่อยอดต่อการทำงานได้ รวมถึงมีเพื่อนร่วมงานแบบใหม่ที่เป็นเอไอ โรบอต

ดังนั้น จึงทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น รูปแบบการประกอบต่าง ๆ ยืดหยุ่นได้และทุกคนมองว่างานคือการเติมเต็มความสุข สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อการทำงานมีความสุข ก็จะส่งผลต่อครอบครัวที่มีความสุขด้วยตามมา

“ขณะเดียวกัน หากรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปมาก มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมามาก ก็อาจจะเกิด scenario ต่อมาที่เป็นด้านลบ คือ ทำให้คนตกงานได้มากเช่นกันเพราะส่วนหนึ่งอาจจะตามไม่ทัน หรือถูกเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเอไอทำงานแทน ฉะนั้น คนอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมตามมาหากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจจะตกต่ำ ย่ำแย่ ทำผู้คนขาดรายได้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ลำบาก”

“แต่อีกมุมหนึ่ง ดิฉันมองว่าการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจไม่ได้เกิดการนำไปใช้กับงานเท่าที่ควร โดยเฉพาะระดับธุรกิจขนาดเล็ก เอสเอ็มอีอาจจะยังใช้ไม่ได้มาก ส่วนองค์กรใหญ่ ๆ หากเทคโนโลยีขาดการตรวจสอบอย่างดี มีการป้อนข้อมูลผิด ๆ ให้กับโปรแกรม ก็จะเกิดผลเสียตามมาได้”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว