สปส.รื้อพอร์ตลงทุน ตปท. ตุนเงินรองรับผู้ประกันตนในอนาคต

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่า สปส.กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี แล้วนำมาให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับผู้ประกันตน

ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ล่าสุด (30 พ.ย. 63) มีการสรุปผลการบริหารกองทุนประกันสังคมว่า มีเงินลงทุนสะสม 2,180,697 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาลที่นำไปลงทุนสุทธิ 1,465,901 ล้านบาท เมื่อแยกตามประเภทเงินสมทบ แบ่งเป็นเงินสมทบจากนาย ลูกจ้าง และรัฐบาลเพื่อนำเงินไปลงทุนอยู่ที่ 24,836 ล้านบาท มีการโอนเงินลงทุนไปจ่ายสิทธิประโยชน์รวม 200 ล้านบาท สำหรับเงินสะสมตามมาตรา 105 นั้น

แบ่งเป็นการลงทุนสะสมใน 2 กรณี อยู่ที่ 1,934,826 ล้านบาท การลงทุนสะสมใน 4 กรณี อยู่ที่ 75,434 ล้านบาท กรณีว่างงานอยู่ที่ 155,210 ล้านบาท และตามมาตรา 40 อยู่ที่ 15,227 ล้านบาท สำหรับสัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น

1) การลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงที่ 22.38% เป็นเงินลงทุนรวม 488,053 ล้านบาท

2) การลงทุนในหลักทรัพย์มั่นคงสูงที่ 77.62% เป็นเงินลงทุนรวม 1,692,644 ล้านบาท

3) การลงทุนหลักทรัพย์ในประเทศที่ 86.09% รวมเงินลงทุน 1,877,256 ล้านบาท และ

4) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ 13.91% รวมเงินลงทุน 303,441 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้สรุปภาวะตลาดการลงทุนว่า ผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ อีกทั้งธนาคารกลางมีแนวโน้มขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถัดมาคือผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุนไทย และตราสารทุนต่างประเทศ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันหลังจากที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงผลการพัฒนาวัควีนด้านไวรัสโควิด-19 มีความคืบหน้าและมีแนวโน้มที่จะได้รับการรับรอง ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตราสารทุน ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนในทองคำปรับตัวลดลง เงินบาทกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์-ยูโร และเงินเยน

ในที่ประชุมบอร์ดยังได้รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ มาเป็นรูปแบบจำกัดขอบเขตในพื้นที่ระบาด อีกทั้งมีการขยายมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินและเสริมสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมทั้งขยายการกระตุ้นผ่านมาตรการทางการคลัง

นอกจากนี้ ในส่วนของภาระหนี้โดยรวมและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกำลังผลิตส่วนเกินจะเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องมอนิเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตของการลงทุนใน “กลุ่มหลักทรัพย์ย่อย” ใน 9 กลุ่มนั้น ในบางกลุ่มอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารทุนไทย ที่ลงทุนไปทั้งสิ้น 297,153 ล้านบาท ขาดทุนอยู่ 563 ล้านบาท

ตามมาด้วยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนในทองคำก็ขาดทุนเช่นกัน

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อประเด็นดังกล่าวข้างต้นว่า ประกันสังคมอยู่ในระหว่างศึกษาด้านการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะ เพื่อปรับโครงสร้างการลงทุนต่างประเทศ เหตุผลหลักมาจากระบบการลงทุนไม่สอดคล้องกับการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศในอนาคต

โดยเฉพาะในช่วงนี้อัตราค่าเงินบาทที่ “แข็งค่า” จะทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกราว 10-15% ทั้งนี้ ในการลงทุนบางธุรกิจอาจจะขาดทุน แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมของกองทุนประกันสังคมยังถือว่าเป็นบวกอยู่ รวมถึงยังมีการลงทุนในบางประเภทที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เช่น การลงทุนเงินสดและพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น การลงทุนในตราสารหนี้ไทย ที่ล่าสุดให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 36,960 ล้านบาท

“ทีมของ สปส.มืออาชีพอยู่แล้ว ในการนำเงินสมทบของนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงส่วนที่รัฐบาลร่วมจ่ายสมทบ นำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ เพราะในแต่ละปีกองทุนประกันสังคมจะต้องใช้เงินไปกับหลายเรื่อง โดยเฉพาะการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนจำนวนมาก จึงไม่สามารถอาศัยรายได้เพียงการจ่ายเงินสมทบเท่านั้น

ผมคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศน่าจะสร้างผลประโยชน์คืนกลับได้มากกว่าในประเทศในบางช่วงเวลา แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม อย่างที่เรียกว่า ในวิกฤตก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

นอกเหนือจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว ยังมีการรายงานเพิ่มเติมว่า กองทุนประกันสังคมยังมีการลงทุนในส่วนของการลงทุนทางสังคมอยู่ที่ 8,752 ล้านบาท การลงทุนทางยุทธศาสตร์ที่ 3,229 ล้านบาท เงินฝากและตราสารหนี้เพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์ กองทุน 4 กรณี อยู่ที่ 16,089 ล้านบาท (มีเงื่อนไขกำหนดห้ามลงทุนเกิน 20,000 ล้านบาท)

และยังมีเงินฝากและตราสารหนี้เพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนว่างงานอีก 11,825 ล้านบาท (มีเงื่อนไขห้ามลงทุนเกิน 45,000 ล้านบาท) เมื่อประเมินภาพรวมทั้งหมดแล้วพบว่า กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้ว ใน 11 เดือนของปี’63 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 49,495 ล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,293,487 ล้านบาท

ล่าสุด สปส. รายงานว่า ได้จัดตั้งโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์การปรับเปลี่ยนระบบโปรแกรมบริหารการลงทุน โดยได้จัดทำเงื่อนไข (TOR) และหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก
ข้อเสนอและราคากลางเรียบร้อยแล้วรวมถึงจัดส่งให้กองคลัง เพื่อนำไปประสานงานขอรายชื่อที่ปรึกษาที่เข้าคุณสมบัติจากศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษากระทรวงการคลัง พร้อมกันนี้ได้จัดส่งให้กองกฎหมายพิจารณารายละเอียดด้านสัญญาจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ผลการศึกษาครั้งนี้เรียกได้ว่าจะกลายเป็นธงสำคัญในการกำหนดนโยบายและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของกองทุนต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าตักทั้งหมดของ สปส.เพื่อดูแลผู้ประกันตน

บทบาทประกันสังคมยุคโควิด

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วง มี.ค. 63 และกลับมาระบาดอีกครั้งในเวลานี้ ประกันสังคมถูกใช้เป็นตัวช่วยเหลือ เยียวยาผู้ตกงาน รวมถึงสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือบางรายปิดกิจการถาวรก็เกิดขึ้นจำนวนมาก ในแง่ของสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ที่ 62% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน

ในกรณีลาออกได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 45% ไม่เกิน 90 วัน กรณีเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทน ขาดรายได้ที่ 70% ไม่เกิน 200 วัน ลดอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้างเหลือ 4% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 85 บาท/เดือน

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อสำหรับสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมวงเงิน 30,000 ล้านบาท โดย สปส.จะสนับสนุนเงินฝากเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี สำหรับไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

รวมไปจนถึงการใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเยียวยาลูกจ้างที่ไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย จำนวน 219 ล้านบาท หรือในอัตรา 30-70% ของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ของพื้นที่นั้น ๆ