อียูทุ่ม 362 ล้านบาท เดินหน้าคุ้มครองแรงงานประมงข้ามชาติในไทย

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Ship to Shore Rights

3 หน่วยงานระดับโลก ร่วมรัฐบาลไทย เปิดตัวโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งฯ ระยะ 2 คุ้มครองแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลแปรรูป ด้านสิทธิแรงงาน และความปลอดภัยในความเป็นอยู่

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกปลา และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเป็นอันดับต้นของโลก ห่วงโซ่อุปทานประมงและอาหารทะเลแปรรูปอาศัยปัจจัยหลายประการ ที่รวมถึงการจับปลาและการแปรรูปผลิตภัณฑ์บนฝั่งทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมนี้ในฐานะแรงงานประมงและแรงงานในโรงงานแปรรูป แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว

ด้วยเหตุนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) จึงพยายามยื่นมือสนับสนุนรัฐบาลประเทศไทย และภาคีหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติทุกคนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมนี้จะได้รับการคุ้มครอง เกิดเป็นโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights) ที่สิ้นสุดไปเมื่อมีนาคม 2563 และสานต่อเฟส 2 ภายใต้ชื่อโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (Ship to Shore Rights – SEA) ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปี พ.ศ 2563-2567) ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสหภาพยุโรป (อียู) เป็นจำนวน 10 ล้านยูโร (ประมาณ 362,974,480 บาท) โดยพิธีเปิดตัวโครงการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์โปรแกรม Zoom

ทั้งนี้ เฟสใหม่เป็นการนำประสบการณ์การทำงานในภูมิภาคของหน่วยงานแห่งสหประชาชาติทั้ง 3 องค์กร มาคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ การจัดหางานที่ไม่ถูกกฎหมาย และการเข้าถึงข้อมูลของแรงงาน และทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานในปัจจุบัน ผู้ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแรงงานข้ามชาติในอนาคต และแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงครอบครัวและชุมชนของแรงงานในประเทศต้นทางและปลายทาง นอกจากนี้ โครงการยังประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง หน่วยงานจัดหางาน เจ้าของเรือประมงและสมาคมต่าง ๆ ภาคประชาสังคมและองค์กรในชุมชนในประเทศต่าง ๆ

พณฯ ท่านเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เปียร์กา ตาปิโอลา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการคือเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้านกฎหมาย ปกป้องสิทธิแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

“ความร่วมมือของนานาชาติในภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ภาคเอกชนและแรงงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของโครงการระดับภูมิภาคโครงการนี้จะรักษาความเชื่อมโยงทางการเมืองระหว่างการประมงที่ยั่งยืนและการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี”

นายชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้อำนวยการของ ไอแอลโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และมีพัฒนาการด้านกฎหมาย ทั้งยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ. 2007

“ขณะที่มีความก้าวหน้าด้านการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล แต่ความท้าทายต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น โครงการใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรม สิทธิและความปลอดภัยในการย้ายถิ่นข้ามชายแดนและในการจ้างงาน อันจะนำมาซึ่งอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและการสร้างงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานทั้งหญิงและชาย”

ด้าน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มาภาพ: ไอแอลโอ

ดร.เนเน็ท โมตัส ผู้อำนวยการ ไอโอเอ็ม ฝ่ายภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่า โครงการนี้จะดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปกติของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการจ้างงานผ่านช่องทางที่ถูกต้อง และจะให้ความสำคัญต่อการเพิ่มความตระหนักรู้เรื่องสิทธิแรงงาน และความสามารถของแรงงานในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อถูกแสวงประโยชน์หรือค้ามนุษย์

นายคริสโตเฟอร์ บาฮูท รองผู้อำนวยการ ยูเอ็นดีพี ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่า ผลของการย้ายถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาในเอเชียแปซิฟิคและสามารถขยายผลได้เพิ่มมากขี้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการย้ายถิ่นผ่านช่องทางปกติที่เป็นระเบียบและปลอดภัย

“ยูเอ็นดีพีให้ความสำคัญอย่างมากต่อความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ไอแอลโอ และไอโอเอ็มภายใต้โครงการนี้ซึ่งจะช่วยให้เราปลดล็อคศักยภาพการย้ายถิ่นและส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสังคมและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

กรอบการทำงานด้านกฎหมายเพื่อการย้ายถิ่นของแรงงานในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเลยังคงต้องมีการปรับปรุง อันเนื่องจากการจัดหาแรงงานมักดำเนินการผ่านช่องทางที่ไม่ปกติหรือผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาจะเกิดพัฒนาการที่สำคัญแต่ยังปรากฎรายงานเกี่ยวกับปัญหาสัญญาจ้าง การไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายกำหนดหรือยึดหน่วงค่าจ้าง ปัญหาเรื่องค่าจ้างรูปแบบอื่น ๆ และการถูกบังคับหรือทำงานโดยไม่สมัครใจ