“ยกระดับขีดความสามารถ” เรื่องเร่งด่วนในยามวิกฤต

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์
[email protected]

ในชั่วโมงนี้ที่ธุรกิจกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตระลอกที่สองที่ตามมาจากระลอกหนึ่ง แล้วไม่รู้ว่าระลอกต่อไปจะมาอีกเมื่อไหร่ การพัฒนาคนอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วน หากเป็นเพียงแค่โปรแกรมการเรียนรู้ หรือการ “upskill/reskill” ที่ไม่ได้ช่วยองค์กรให้สามารถก้าวข้ามวิกฤต ทั้งในเบื้องหน้า และปูพื้นฐานสำหรับก้าวต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตในรูปแบบใหม่ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ การยกระดับขีดความสามารถขององค์กร และคนในองค์กร (capability building) ที่สามารถตอบโจทย์ และสร้างผลกระทบต่อธุรกิจถือเป็นความเร่งด่วน ทั้งยังเป็นปัจจัยชี้ขาดที่แท้จริงว่าองค์กรของเราจะอยู่รอด หรือสามารถเป็นผู้ชนะในวิกฤตรอบนี้ และรอบต่อ ๆ ไปได้หรือไม่

เรื่องนี้ดิฉันไม่ได้พูดขึ้นมาเอง หรือยกขึ้นมาลอย ๆ ผลการสำรวจผู้นำองค์กรกว่า 1,200 คน

จากทั่วโลกของ McKinsey & Co. ที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาระบุว่าเกือบ 80% ของผู้นำองค์กรมองว่าการพัฒนายกระดับขีดความสามารถมีความสำคัญมากถึงมากที่สุด (very or extremely important) ต่อการเติบโตในระยะยาวขององค์กร เทียบกับ 59% ของผลการสำรวจที่จัดทำก่อนมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดย 1 ใน 3 ขององค์กรที่เข้าร่วมในการสำรวจ มีการลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่ 41% คงงบฯไว้เท่าเดิม แม้ว่าองค์กรจะมีภารกิจ และความเร่งด่วนอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจอันเดียวกันนี้ระบุว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรมการเรียนรู้และพัฒนา (L&D) หรือการ “upskill/reskill” ที่ทำกันอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ มากนัก

เรื่องนี้ดิฉันเห็นด้วยหากว่าการ “upskill/reskill” เป็นเพียงการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ (learning for the sake of learning) ไม่สามารถปรับมาตอบโจทย์ความท้าทาย และความเร่งด่วนในปัจจุบัน รวมถึงอนาคตอันไม่ไกลเกินไปขององค์กรและธุรกิจได้

ในขณะนี้ที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตในรอบใหม่ ดิฉันจึงอยากขอฝากข้อคิดที่ได้มาจากประสบการณ์และการเรียนรู้จากวิกฤตในปีที่ผ่านมา เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหาร และทีมงานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงผู้อ่านประชาชาติธุรกิจทุกท่าน ว่าทำอย่างไร HR จึงจะสามารถมีบทบาท หรือสร้างผลกระทบต่อองค์กรได้มากขึ้นในวิกฤตของรอบนี้ ดังนี้

1.เน้นการสร้างผลลัพธ์

เปลี่ยนไมนด์เซตของการพัฒนาคน จากการพัฒนาที่เป็นแค่การพัฒนาทักษะ หรือ competencies ไปสู่การพัฒนาที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ หรือเป้าหมายขององค์กรได้อย่างแท้จริง ซึ่งทีมงาน HR จำเป็นต้องเข้าใจเป้าหมาย และความท้าทายของธุรกิจ เพราะมีขีดความสามารถในการออกแบบแนวทางใหม่ในการยกระดับขีดความสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ หรือเป้าหมายสำคัญขององค์กรวันนี้

2.ให้ความสำคัญกับการ engage และ empower หัวหน้าและผู้นำในสายงานต่าง ๆ (line leaders)

สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้นำทุกระดับในองค์กร ให้ความสำคัญ รู้สึกมีส่วนร่วม และมีความเป็นเจ้าของกับภารกิจการยกระดับขีดความสามารถของทีมงานและองค์กร ทั้งยังช่วยให้ผู้นำองค์กรเห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมว่าจะสามารถนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน และจับต้องได้ขององค์กรในระยะสั้น ระยะยาวได้อย่างไร

3.สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนา hard skills และ soft skills

การพัฒนา hard skills หรือทักษะทางเทคนิคต่าง ๆ มีความสำคัญ แต่ทักษะประเภทนี้เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงและล้าสมัยได้ตลอดเวลา ขณะที่การพัฒนา soft skills (เช่น ความสามารถในการสื่อสาร บริหารเวลา การวางแผนการโค้ชชิ่ง การฟัง ความคิดเชิงวิเคราะห์ การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์) จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อความสำเร็จที่จะอยู่ติดตัวผู้เรียนไปตลอดชีวิต ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

แม้ว่าการสร้าง soft skills จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยหลักการ และกระบวนการที่เชื่อถือได้ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรืออุปนิสัยของคนในองค์กรให้เห็นความสำคัญจนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดชีวิต

4.สร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนการยกระดับขีดความสามารถ

โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบ HR tech เพื่อสนับสนุนจนทำให้เกิดความยืดหยุ่น (flexible) และ scalable ตามความต้องการของภารกิจ และขนาดขององค์กร รวมทั้งการพัฒนาระบบ กระบวนการและวัฒนธรรมองค์กรเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ

5.มีความกล้าที่จะลงมือทำในทันที

สุดท้ายนี้ดิฉันขอย้ำว่าเราต้องมีความกล้าที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ ทดลองแนวทางใหม่ ๆ อย่าเสียเวลา เลื่อน หรือรอการพัฒนา เพื่อยกระดับขีดความสามารถบุคลากร และองค์กรของคุณ เพราะคือเรื่องเร่งด่วนในโลกยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในหลายมิติ เพราะหากเราทำอย่างถูกต้อง สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนผลลัพธ์ และสร้างผลกระทบที่สำคัญต่อองค์กรทั้งในยามวิกฤตและในอนาคตข้างหน้า