บริษัทไทย-ต่างประเทศ ทบทวนประโยชน์ออฟฟิศ ในโลกหลังโควิด

ที่มาภาพ: Carolyn Kaster/AP

เมื่อออฟฟิศไม่ใช่สิ่งจำเป็นในโลกหลังเกิดวิกฤตโควิด บริษัทในไทยและต่างประเทศ เตรียมหาแนวทางจัดการพื้นที่สำนักงานใหม่ ลดขนาด – ย้าย – กระจายออฟฟิศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเปลี่ยนแปลงประโยชน์ของออฟฟิศ และบังคับให้บริษัทจำนวนมากออกจาก comfort zone พร้อมกับเร่งเครื่องผลักดันตนเอง ลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถประกอบธุรกิจใน virtual office จากที่บ้าน (work from home) หรือที่ไหนก็ได้ (work from anywhere)

นับตั้งแต่สตาร์ทอัพ ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งธุรกิจเก่าแก่ทั่วโลก ต่างกำลังคิดทบทวนบทบาทของพื้นที่สำนักงาน ว่ายังจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และจะปรับให้เหมาะสมอย่างไร เมื่อโลกใบเก่า ออฟฟิศเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาบริษัท ที่ใช้สำหรับต้อนรับลูกค้า พนักงาน และนักลงทุน แต่ในโลกใบใหม่ ออฟฟิศกลายเป็นต้นทุน ที่บริษัทจำเป็นต้องลด

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมกระแสเกี่ยวกับการปรับพื้นที่สำนักงานหลังเกิดโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนี้

LINE ประเทศไทย มีไอเดียกระจายออฟฟิศ

LINE ประเทศไทย ได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 2 ของบริษัทที่คนไทยอยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2020 โดยการจัดอันดับของ Workventure เว็บไซต์ค้นหางานที่มีผู้ใช้งานจากทั่วประเทศกว่า 5,000,000 คน ซึ่งทางเว็บไซต์ใช้วิธีถามคําถามผู้เข้าใช้งานทุกคนว่า “บริษัทในฝันของคุณคือบริษัทอะไร” จนได้ 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่สนใจร่วมงานด้วยมากที่สุด

สิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจทำงานกับไลน์ ประเทศไทยคือ การมีนโยบายการดูแลพนักงานที่ดี ทันสมัย และสิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาคือ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสำนักงานของไลน์ ประเทศไทย มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานจำนวนมาก ทั้งเพื่อความสนุกและคำนึงถึงการผ่อนคลายจากการทำงาน เช่น โซนบอร์ดเกม โซนฟิตเนส บริการนวด และที่สำหรับนอนพัก

ออฟฟิศไลน์ ประเทศไทย

แต่พอเกิดการระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทจัดแผนให้พนักงานทำงานจากบ้านแบบ 100% พื้นที่สำนักงานจึงไม่ได้ถูกใช้งาน

“ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย บอกกับประชาชาติธุรกิจว่า ช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 ในปี 2020 พนักงานของ LINE สามารถเลือกทำงานจากที่บ้านได้ทันที เพราะบริษัทมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สามารถสนับสนุนให้การทำงานยืดหยุ่นได้ทุกที่ทุกเวลา

สถานการณ์การระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้งในปีนี้ ทำให้บริษัทต้องวางแผน Rethink Workplace Strategy (ยุทธศาสตร์การใช้พื้นที่) ใหม่ ซึ่งกำลังศึกษาความต้องการของพนักงาน ด้วยการทำ survey เหมือนที่ทำในปีที่แล้ว โดยสอบถามพนักงานถึงรูปแบบการทำงานที่ต้องการ

“ผมมองว่า เราต้องคิดใหม่และกล้าทำใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องตอบโจทย์ความสะดวกของพนักงาน”

นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาบริษัทเก็บตัวเลขการใช้พื้นที่สำนักงาน ว่ามีพนักงานเข้าออกเพื่อมาใช้พื้นที่สำนักงานจำนวนเท่าไหร่ เพื่อหาคำตอบว่า จำเป็นต้องมีโต๊ะ เก้าอี้ และห้องประชุมจำนวนเท่าไหร่

“ผมมองว่าการมีโต๊ะทำงานเพื่อรองรับคน 300 คนไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะพนักงานของเรามีความอิสระในการเลือกพื้นที่ทำงานอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งผมมองอนาคตของพื้นที่ทำงานยุคใหม่ว่า สำนักงานใหญ่อาจไม่ต้องการพื้นที่ใหญ่เท่าเดิมหรืออยู่ใจกลางเมือง แต่ปรับให้มีออฟฟิศคุณภาพขนาดเล็กมากกว่า 1 ที่ และกระจายไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ ช่วยลดเวลาเดินทางของพนักงาน และตอบโจทย์การทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องมีตารางการนัดพบกันเป็นประจำ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของพนักงาน”

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่สามารถทำได้เร็ว ๆ นี้ เพราะติดเรื่องสัญญาการเช่าที่ และที่สำคัญยังต้องถามความคิดเห็นกับหลาย ๆ ฝ่ายในองค์กร

เทคคอมพะนีย้ายออกจากซิลิคอน วัลเลย์

ตามข้อมูลของสำนักข่าวดิ อินฟอร์เมชั่น Alphabet บริษัทแม่ของ Google ได้ถอนข้อตกลงการซื้อพื้นที่สำนักงานกว่า 2 ล้านตารางฟุตย่าน Bay Area เมืองซานฟรานซิสโก ที่จะใช้สร้าง Mountain View Campus เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นข้อตกลงด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท

“ศุนทัร ปิจไช” ซีอีโอ Google กล่าวว่า บริษัทจะกระชับสายพานในการดำเนินงาน ที่รวมถึงการจ้างงาน การตลาด และการเดินทาง

“ตอนนี้เป็นเวลาที่จะต้องชะลอการจ้างงานลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันต้องรักษาโมเมนตัมในส่วนกลยุทธ์ที่สำคัญไว้ คือที่ที่มีผลกระทบโดยตรงกับการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้กูเกิ้ล ทั้งนี้การถอนข้อตกลงซื้อพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ในเบย์ แอเรีย ยังทำให้ Google มีขนาดที่เหมาะสม”

ด้าน Facebook นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด พนักงานกว่า 95% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 45,000 คน ทำงานแบบ remote work โดย “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟสบุ๊ค ประกาศเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2020 ว่า พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ถาวร ทั้งนี้เงินเดือนของพนักงานจะปรับตามค่าครองชีพที่ลดลง

ตัวแทนของเฟสบุ๊คบอกกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ได้พิจารณาทางเลือกในการทำงานแบบ remote work มานานแล้ว แต่โควิด-19 ทำให้เรื่องนี้เกิดเร็วขึ้น และตอนนี้บริษัทกำลังตั้งเป้าว่า 10 ปีจากนี้ไปจะมีพนักงานของเฟสบุ๊คทำงานแบบ remote work ไม่ต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2020 Facebook ประกาศแผนเร่งจ้างคนด้านวิศวกรรมและผลิตภัณฑ์ทั่วโลก 10,000 ตำแหน่ง โดยการทำงานของคนกลุ่มนี้จะเป็นแบบ remote work ถาวร ซึ่งคนที่ได้มาจะเป็นคนจากหลากหลายพื้นที่ ดังนั้นบริษัทจึงมีไอเดียสร้างฮับเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วอเมริกาเหนือ

ที่มาภาพ: Reuters

โดยฮับเหล่านี้จะไม่ใช่สำนักงาน แต่เป็นพื้นที่ที่ให้พนักงานในบริเวณนั้นมารวมตัวกัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ หรือการฝึกอบรมเท่านั้น โดยเฟสบุ๊คหวังว่า การมีฮับกระจายไปแบบนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้มีความสามารถที่อาศัยอยู่ทั่วทุกพื้นที่ และช่วยดึงดูดพวกเขาให้มามีบทบาทกับบริษัท

ในขณะที่ Twitter มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 โดย “เจนนิเฟอร์ คริสตี้” หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Twitter กล่าวว่า บริษัทมีโครงการ Flexible Work ที่ให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ เพราะการสร้างทีมให้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมความความก้าวหน้าระดับโลก

“แต่ก่อนหน้านี้มีเพียงพนักงานบางคนเท่านั้นที่ร่วมโครงการ พอเกิดโควิด-19 มีพนักงานจำนวนมากขอทำงานจากที่บ้านอย่างถาวร”

‘เทคคอมพานี’ ระดับโลก ทยอยย้ายออกจาก ‘ซิลิคอน วัลเลย์’

ทำธุรกิจได้มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องมีออฟฟิศ

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2020 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของบริษัทในสก็อตแลนด์ กำลังลดพื้นที่สำนักงานอย่างถาวร เพื่อตอบสนองการทำงานจากที่บ้านที่มีเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขดังกล่าวมาจากการทำสำรวจบริษัท 500 องค์กร ของ Scottish Business Monitor

โดยข้อมูลระบุเพิ่มเติมว่า 70% ของบริษัทในอุตสหกรรมท่องเที่ยวและบริการจะลดจำนวนพนักงานลง และ 20% ของบริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็จะลดจำนวนพนักงานเช่นกัน

ในขณะที่ Nationwide บริษัทประกันและให้บริการทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการปิดสำนักงาน 5 แห่ง เพราะได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปทำงานจากที่บ้านอย่างถาวร

“เคิร์ท วอคเกอร์” ซีอีโอ Nationwide กล่าวในแถลงการณ์ของบริษัทว่า ได้ลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีมาหลายปี และการลงทุนเหล่านั้นได้ตอบแทนยามที่บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงานเป็นทำงานจากบ้าน 98% ได้ทันที

ด้าน “เจมส์ กอร์แมน” ซีอีโอ Morgan Stanley กล่าวกับสำนักข่าวสํานักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องมีออฟฟิศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการใช้พื้นที่สำนักงานของบริษัทต่าง ๆ จะส่งผลต่ออธุรกิจสังหารททรัพย์ในอนาคต

องค์กรไทยกลัวการทำงานแยกกัน

“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการ บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากที่สังเกตไอเดียของบริษัทในไทย เกี่ยวกับ remote work ถาวร หรือการทำงานแยกกัน หลาย ๆ บริษัทยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้าน engagement

“บริษัทไทยเกรงว่าความผูกพันของพนักงานในองค์กรจะลดลง และเห็นว่าหลาย ๆ บริษัทกำลังค้นหาโซลูชั่นสถานที่ทำงานที่ตอบโจทย์โลกยุคหลังการเกิดการระบาดของโควิด-19”