สปส.เรียกคืนเงินเยียวยา เอกชนลักไก่ไม่ปิดโรงงานช่วงโควิด

ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

เมื่อไม่ได้จ่ายแล้วจบ สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ 62% ของค่าจ้างรายวัน ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา

เพราะนับตั้งแต่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะหน่วยงานที่บริหารกองทุนประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนในระบบทั้งหมดเริ่มทยอยจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งลูกจ้าง และนายจ้างให้สามารถยืดระยะเวลาการปิดกิจการ เพื่อลดการว่างงานที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น

กล่าวกันว่า ระหว่างที่เริ่มจ่ายเงินเข้าบัญชีให้กับผู้ประกันตน พร้อมกับการลงพื้นที่ในหลายจังหวัด สปส.ได้รับรายงานจาก สปส.ในแต่ละจังหวัดว่ามีผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยพบว่ายังคงมีการเปิดไลน์การผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ในการชดเชยไปแล้วก็ตาม

ส่งผลให้ สปส.มีการเรียกคืนเงินเยียวยาการว่างงานในช่วงที่ผ่านมา

สปส.ลงดาบเรียกคืนเงินเยียวยา

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการการแรงงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ “สุชาติ จันทรานาคราช” ในฐานะประธานคณะกรรมการการแรงงาน ที่เป็นตัวแทนจากภาคเอกชนมีการหยิบยกประเด็นความเดือดร้อนของบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ระบุว่าได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนเงินชดเชยจากลูกจ้าง กรณีว่างงานจากผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จนต้องหยุดกิจการทั้งหมดชั่วคราว ในระหว่างวันที่ 2-17 พฤษภาคม 2563 รวม 16 วัน

ซึ่งได้ยื่นแบบแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวของนายจ้างตามมาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2549 เพราะความจำเป็นจากเหตุสุดวิสัย อีกทั้งลูกจ้างได้ยืนยันขอรับสิทธิรับเงิน ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ซึ่ง สปส.ได้พิจารณาจ่ายเงินให้ลูกจ้างบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ รวม 10,128 บาทต่อราย

หลังจากนั้น บริษัทดังกล่าวได้กลับมาเปิดโรงงานวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยในวันที่ 31 พฤษภาคมนั้น บริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ ได้จ่ายค่าจ้างให้พนักงาน โดยหักเงินสมทบประกันสังคมจากลูกจ้างและพนักงาน และได้นำส่งเงินสมทบทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ในเดือนพฤษภาคม 2563

ฉะนั้น เท่ากับว่ายังคงมีการประกอบกิจการในการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง และอาจพิจารณาได้ว่าไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการเยียวยาที่ 62% ได้

กรณีดังกล่าวนั้นเริ่มต้นจากการดำเนินการของสำนักงานประกันสังคม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสานงานลูกจ้างเพื่อขอเรียกคืนเงินชดเชย พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลว่าช่วงเวลาดังกล่าวของบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ “ไม่ถือ” เป็นการหยุดประกอบกิจการ เป็นเพียงแค่การ “ลดเวลา” อีกทั้งพนักงานไม่ได้ขาดรายได้ในเดือนพฤษภาคม

ดังนั้น จึงทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเชียงใหม่ ยังแจ้งว่าหากไม่เห็นด้วยกับการเรียกคืนเงินชดเชยดังกล่าวแล้ว สามารถยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว

เยียวยาเฉพาะหยุดงานเต็มเดือน

กรณีของบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ “สุชาติ” ยังเข้าหารือกับ “ทศพล กฤตวงศ์วิมาน” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในมาตรการให้ความช่วยเหลือผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนจากการว่างงานที่ 62% จาก สปส. นอกจากนี้ยังมีการหารือเพื่อตีความคำว่า “หยุดงานชั่วคราว”

โดยเลขาธิการ สปส.ชี้แจงว่า การหยุดงานชั่วคราวนั้น หากผู้ประกอบการทำงานวันเว้นวัน หรือบางวัน ถือว่า “ไม่เข้าข่าย” ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ 62% แล้วอย่างไรที่เรียกว่าเข้าข่าย เลขาธิการ สปส.ระบุว่าจะต้องหยุดงาน “เต็มเดือน” เท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก สปส.

ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูคำชี้แจงของ สปส.จังหวัดเชียงใหม่จะเห็นว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างของบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ รวม 56 คน ในช่วงที่บริษัทหยุดประกอบกิจการชั่วคราววันที่ 2-17 พฤษภาคม 2563 จนกระทั่งในเดือนถัดมาคือในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ทางบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ ได้จ่ายเงินสมทบให้ สปส.เชียงใหม่

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 บริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ ได้แจ้ง “ของด” จ่ายเงินสมทบรวมระยะเวลา 1 เดือน และกลับมาจ่ายเงินสมทบในเดือนกันยายน และในเดือนตุลาคมได้แจ้งของดจ่ายสมทบอีกครั้ง โดย สปส.จังหวัดเชียงใหม่พิจารณาว่า “น่าจะ” สามารถจ่ายเยียวยาได้ที่ 70% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย

สปส.เชียงใหม่วินิจฉัยรอบ 2

เมื่อมีการทักท้วงจาก สปส.ส่วนกลาง ทำให้ สปส.จังหวัดเชียงใหม่ต้องกลับมาวินิจฉัยว่า การหยุดประกอบการชั่วคราวของบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯ รวม 16 วันตามรายละเอียดข้างต้นนั้น เข้าข่ายที่จะได้รับการชดเชยที่ต้องหยุดประกอบกิจการ ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง

อีกทั้งยังได้มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ครึ่งเดือนหลังของเดือนพฤษภาคม เมื่อรวมกับเหตุผลของการที่บริษัทดังกล่าวได้ปิด-เปิด ประกอบกิจการหลายครั้ง สปส.จังหวัดเชียงใหม่จึงวินิจฉัยกรณีนี้ใหม่ว่าการดำเนินการดังกล่าวของบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯนั้น เป็นเพียงการลดเวลาการทำงานและเปลี่ยนสภาพการจ้างงานเท่านั้น

หลังจากกรณีดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของ สปส.ส่วนกลาง โดยพิจารณาจากกฎกระทรวง เรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ระบุรายละเอียดไว้ในข้อที่ 4 ในกรณีเหตุสุดวิสัย ที่ส่งผลให้ต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าจะทั้งหมด หรือแค่บางส่วนเป็นการชั่วคราว สปส.จึงวินิจฉัยว่า เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างจำนวน 16 วัน

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าทั้ง สปส.ส่วนกลาง และ สปส.จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นที่ “แตกต่าง” กัน จึงเห็นควรรับคำอุทธรณ์จากลูกจ้างทุกราย เพื่อนำเข้าคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

ลูกจ้างใช้สิทธิ ม.75 ทดแทนได้

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะกรรมการการแรงงานดังกล่าว ยังมีความเห็นจากกรรมการอื่น ๆ อีกด้วยว่า “เห็นด้วย” กับการตีความของ สปส.ส่วนกลาง อีกทั้งในกรณีที่มีการส่งเงินสมทบ 1 วัน ถือว่าเทียบเท่า 1 เดือน จึงถือว่าลูกจ้างมีงานทำ

ดังนั้น ในที่ประชุมจึงมีมติ “เห็นด้วย” กับแนวทางของ สปส. และให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งความเห็นของ สปส.ไปยังสายงานส่งเสริมและสนับสนุน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทราบ หลังจากนั้นรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ประธานคณะกรรมการการแรงงานเห็นว่า การตีความดังกล่าวของ สปส. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อาจจะมีกรณีคล้ายคลึงกันกับบริษัท คอนเฟ็ดเดอเรทฯนั้นจะต้องไปใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 75 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ที่ระบุว่า ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงาน ที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานรับทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

มาตรการดูแลผู้ประกันตนจาก สปส.

นอกเหนือจากการจ่ายเงินเยียวยาที่ 62% ของอัตราค่าจ้างรายวันแล้ว สปส.ยังมีมาตรการเสริมอื่น ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบตามที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย การปรับลดเงินสมทบ 3 เดือน (ก.พ.-มี.ค. 64) นายจ้างลดเหลือ 3% ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ลดเหลือ 0.5% หรือสูงสุดไม่เกิน 75 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

เนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน มีสิทธิรับได้ไม่เกิน 90 วัน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ คือการปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงินค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบด้วย เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาทต่อบุตร 1 คน อายุไม่เกิน 6 ปี คราวละไม่เกิน 3 คน ปรับเพิ่มเงินค่าคลอดบุตรเป็นเหมาจ่าย 15,000 บาทต่อครั้ง ปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์เป็น 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท


ทั้งนี้ ยังมีมาตรการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทที่มีอยู่ในระบบราว 11 ล้านคน