เอสซีจี เปิดกลยุทธ์ปี64 ใช้ ESG ขับเคลื่อนทั้งองค์กร

ทิศทางการดำเนินธุรกิจ เอสซีจี ปี 2564 มุ่ง ใช้ ESG ขับเคลื่อนธุรกิจทั้งองค์กร พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รุกตลาดใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มุ่งดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการทำงาน โดยพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Management – BCM) และการลงมือปฏิบัติให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตระยะยาว โดยมีกลยุทธ์ 2 ด้าน คือ

1.) ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งเอสซีจีเรียกว่า Sustainable Development ธุรกิจจะยั่งยืนไม่ได้ หากไม่มองการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งหลักการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนเรามีพื้นฐานอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เข้าไปใน DNA เราเรียกว่า ESG Integration

เรื่องของ Environment ช่วงเดือนที่ผ่านมา เอสซีจีพัฒนา Chemical Recycle สินค้าเคมิคอลส์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาโซลาร์เซล การลงทุนด้านนี้ถึงจุดที่ว่าทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือ non renewable คาดว่าต่อไปจะเริ่มลงทุนตรงนี้เพราะธุรกิจเราอยู่ในภาคการผลิตค่อนข้างใช้พลังงานมากฉะนั้นการใช้พลังงานทดแทนจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง

รวมถึงเรื่อง Social สินค้าบริการของจะทำอย่างไรให้มีความปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคมีความสบายใจที่จะใช้สินค้าของเรา ทั้งเรื่องความสะอาด well-being การไร้สัมผัส ที่สำคัญ จะขยับเข้าสู่ circular economy ให้มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือGovernance ความโปร่งใส คือพื้นฐานของบรรษัทภิบาล ธุรกิจย่อมเข้าใจอยู่แล้วโดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยชัดเจน เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจที่จะลงทุนในธุรกิจ

2.) ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสู่ New Normal Digitalization โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาช่องทางออนไลน์ เพื่อเสนอสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร ตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงมองหาโอกาสในตลาดใหม่ที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และขยายธุรกิจเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความต้องการสูงขึ้น เช่น การต่อยอดธุรกิจสู่ Health & Well-Being Business

“ปีนี้ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างได้รับกระทบต่อเนื่องมากที่สุด เนื่องจากการก่อสร้างใหม่ๆทั้งที่อยู่อาศัยและโครงการคอมเมอร์เชียลของภาคเอกชนจะน้อยลงในช่วงครึ่งแรกของปี ดังนั้นคงต้องเน้นการก่อสร้างจากการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้ง​คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่มสินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย ดังนั้นบริษัทต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์และมีนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด​ ส่วนด้านเคมิคอล คงต้องจับตามอง อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ดังนั้นบริษัทต้องเข้าไปถึงซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลิตสินค้ามารองรับกับอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นต้น”