ภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตั้งรับกฎหมายใหม่-อียูห้ามละเมิดสิทธิ

แรงงาน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ได้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเวทีระดับชาติไปจนถึงระดับเวทีโลก อย่างเช่นในการประชุมของ United Nation Forum Business and Human Right 2020 ของสหประชาชาติ (UN) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ภายใต้แนวคิดที่ว่า “Prevention Business-related Human Right Abuses The Key to A Sustainable Future For People and Planet” ทั้งยังมีการหยิบยกเรื่องการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก พร้อมทั้งแตกย่อยประเด็นต่าง ๆ ที่ล้วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมด้านแรงงานคนตกงานทั่วโลก แรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการเยียวยาจากการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ใช้แรงงานเด็กเพิ่มช่วงโควิด

ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศฉายภาพถึงวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ “คนตกงานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 495 ล้านตำแหน่ง” สูญเสียในแง่ของรายได้ รวมกว่า 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ชุดข้อมูลเหล่านี้ได้สร้างข้อกังวลในเรื่อง “แรงงานต่างด้าว” โดยเฉพาะกรณีของประเทศอินเดีย รวมไปจนถึงประเทศในกลุ่มอาหรับ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่มีคนว่างงานจำนวนมาก ทั้งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวยังพบอีกว่ามีการใช้แรงงานเด็ก “เพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ UN ออกโรงว่ามีความเข้าใจในเรื่อง “แรงงานครอบครัว” ที่มีการใช้เพิ่มมากขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่าเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน จากนั้นคณะทำงานของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน จัดทำ Guidance on Business and Human Right เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาคธุรกิจเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในช่วงการเกิดโรคระบาด

โรดแมป UN ด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ UN ได้จัดทำ roadmap เพื่อใช้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อหวังยกระดับการดำเนินการของภาคธุรกิจให้มีความ “เข้มข้น” มากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะเปิดตัวภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ แต่ก่อนที่จะออกมาเป็น roadmap นั้น มีกระบวนการรวบรวมความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านโครงการ UNGPs 10+

นอกจากนี้ยังมีการผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็น “มาตรการบังคับ” เพราะจากข้อมูลที่พบในช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างหนักนั้น ทำให้มองว่ามาตรการสมัครใจทำงานไม่เพียงพอ

ฉะนั้น เครื่องมือสำคัญในการยกระดับการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน คือ Mandatory Due Diligence ที่สอดคล้องกับนโยบายของสหภาพยุโรปที่จะออกกฎหมายให้บริษัทในยุโรปต้องรายงานเรื่อง “สิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้า” และคาดว่าจะประกาศใช้กฎหมายภายในปี 2564 นี้ โดยภาคเอกชนยังมองประเด็นนี้ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป

ไทยกับการจัดการด้านมนุษยชน

ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการรายงาน 2 เรื่องสำคัญ คือ

1) การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ระยะที่ 1 นำภาคเอกชนเข้าร่วมคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในส่วนการจัดทำแผน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยได้กำหนดจังหวัดนำร่องไว้ 10 จังหวัด ได้แก่ พะเยา, เชียงใหม่, สุโขทัย, พิษณุโลก, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สงขลา และปัตตานี

และมาเพิ่มอีกภายหลัง 2 จังหวัด คือ ตาก และกำแพงเพชร ที่จะเป็นเสมือนเวทีในการซักซ้อมเพื่อความเข้าใจในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว พร้อมทั้งใช้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2564) ด้วยการเปิดอบรมสร้างความเข้าใจในระดับจังหวัด

และ 2) การจัดตั้ง Business and Human Rights Academy หรือ BHR เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจ และมนุษยชนให้กับแวดวงธุรกิจของไทย เพื่อให้การจัดการด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเหมาะสม ฉะนั้น จำเป็นต้องมีองค์กรที่จะเข้ามาสนับสนุนภาครัฐเพราะไม่มีความชำนาญในเชิงธุรกิจ

ดังนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจึงจัดตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้การสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับสากล และตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อมีเครื่องมือในการดำเนินการแล้ว ต้องมี “เจ้าภาพ” โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เห็นชอบให้สมาคมโกลบอลคอมแพกประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) เพื่อทำหน้าที่สร้างความเข้าใจด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้กับภาคเอกชน เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความพร้อม และเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนทั้งใน และต่างประเทศมาพัฒนาให้เข้ากับพื้นฐานและบริบทของไทย กรอบอำนาจหน้าที่ของ BHR นั้น

นอกจากจะให้ความรู้กับภาคธุรกิจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมให้กับบุคลากรภาคธุรกิจ สร้างเครือข่ายผู้บริหารธุรกิจและผู้บริหารองค์กร เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือ “ยกระดับ” การดำเนินการด้านธุรกิจ และด้านสิทธิมนุษยชน

ทั้งในกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Right Risk Assessment : HRRA) กระบวนการตรวจสอบรอบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Right Due Diligence : HRDD) พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมอง-ประสบการณ์การบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร เรียนรู้จากประสบการณ์ การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานไทย

องค์กรต้นแบบสิทธิมนุษยชน

สำหรับการสร้างองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้หารือเรื่องการพิจารณาและคัดเลือกองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน หารือในเชิงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ประเภทภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและธุรกิจ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

ประเด็นสำคัญในการพิจารณาคือ “เพิ่มเติม” การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) จากเดิมที่ใช้เพียงเกณฑ์ที่อิงจากหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน UN Guiding Principle on Business and Human Rights : UNGP โดยมีการยกเว้นเกณฑ์ข้อที่เพิ่มเติมกับองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา องค์กรที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ได้รับรางวัลดีเด่น และรางวัลชมเชย โดยในปี 2564 นี้ ยังคงมีการคัดเลือกองค์กรที่มีการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอีกอย่างต่อเนื่อง

……………………….

ธุรกิจกับ Human Right

สมาคมโกลบอลคอมแพกประเทศไทยมีเครือข่ายที่ประกอบด้วย United Nation Global Compact หรือ UNGC ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ โดยสมัครใจสำหรับภาคธุรกิจในการผูกพันที่มีแนวยุทธศาสตร์และการดำเนินการภายใต้หลักการ 10 ข้อ ที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ทำหน้าที่สนับสนุนภาคเอกชนให้ดำเนินธุรกิจตามหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact อีกทั้งยังช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้างอีกด้วย

นอกจากนี้ สมาคมโกลบอลคอมแพกประเทศไทย ยังเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ โดยสำหรับองค์กรที่ต้องการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนั้น นอกเหนือจากการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนแล้วยังต้องจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี จ่ายค่าสมาชิกรายปีให้กับ UN Global Compact ตามสัดส่วนยอดขายหรือเงินได้สุทธิรายปี

และต้องเป็นองค์กรที่สามารถเป็นผู้นำที่มีบทบาทในกิจกรรมและความร่วมมือกับ UN Global Compact ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง