พลิกวิกฤตเป็นโอกาส “SCG” ชู “ESG” สร้างองค์กรยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (environmental, social and governance) และแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนหลายแห่งกำลังให้ความสนใจ ทั้งยังมีการนำมาใช้ในแวดวงธุรกิจบ้างแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ “เอสซีจี” ที่เริ่มทำ SCG circular way มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน

ด้วยการขับเคลื่อนผ่าน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, เคมิคอลส์ และแพ็กเกจจิ้ง โดยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตจนเป็นวัตถุดิบใหม่

เพื่อคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

นับตั้งแต่ปี 2564 เอสซีจีประกาศวิสัยทัศน์ว่า จะดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนายั่งยืน ด้วยการยึดหลัก ESG มากขึ้น ควบคู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการทำงาน พร้อมปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (business continuity management-BCM)

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผยว่า ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจที่อยู่รอดได้ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเอสซีจีเดินทางแนวนี้ และเห็นว่าทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากปรับตัวได้เร็วจะยืนอยู่ได้ระยะยาว

ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ของเอสซีจีจะให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการนำ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

“เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างให้ความสนใจกับเรื่อง ESG มากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ในการประชุมกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น 10 ครั้ง จะมีคำถามในที่ประชุมประมาณ 3 ครั้ง เกี่ยวกับ ESG ว่า เอสซีจีมีแผนอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม”

“รวมถึงจะทำอย่างไรต่อบ้าง ที่สำคัญ ในการประชุมทุกครั้งจะต้องพูดถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนก่อนจะลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งหากบริษัทใดมีความสามารถ หรือมีคะแนนสูงกว่าจะยิ่งได้เปรียบ ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรายใหญ่หรือรายเล็ก หรือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ ก็ต้องให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะลำบาก”

“ในธุรกิจของเอสซีจีก็เช่นกัน เรามีบ้านอยู่ 3 หลัง แม้ว่าแต่ละหลังจะมีรูปแบบธุรกิจต่างกัน คู่แข่งต่างกัน ธรรมชาติของลูกค้าต่างกัน หรือแม้แต่แนวโน้มตลาดก็ต่างกันมาก แต่เรายึดหลัก ESG เดียวกันหมด ซึ่งเริ่มใช้มานานแล้ว แต่เรียกกันว่า sustainable development หรือการพัฒนายั่งยืน

เพราะเรามีความเชื่อว่า องค์กรของเราจะยั่งยืนไม่ได้ ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี หรือชุมชน สังคม ไม่เต็มใจให้เราทำงาน แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีหลักการนี้ ขั้นต่อไปก็ต้องมองด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของธุรกิจ เป็น ESG integration หรือเอามารวมอยู่ในธุรกิจมากขึ้น”

“ดังนั้น ถ้าหากมองด้านสิ่งแวดล้อม (environmental) ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าต่าง ๆ จึงต้องพยายามไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อย่างในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีเดินตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน โดยโรดแมปที่วางไว้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่การออกแบบเม็ดพลาสติกให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด แต่ยังคงมีประสิทธิภาพ จนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก”

โดยล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เอสซีจีมีการเปิดตัว Chemical Recycling ซึ่งเป็นการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ทั้งยังเป็นสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ renewable feedstock

นอกจากนั้น โรงงานปิโตรเคมีมีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกที่เป็น advanced technology ด้วยการใช้สารเร่งปฏิกิริยาจนทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ ทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ นอกจากนี้ยังก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ demonstration plant แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงานจังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต renewable feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต

ขณะที่ด้านสังคม (social) “รุ่งโรจน์” บอกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรามองเห็นความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งในเรื่องความสะอาด สุขภาพ ฉะนั้น สินค้าและบริการของเอสซีจีจะตอบโจทย์ด้านนี้มากขึ้น เช่น ในธุรกิจวัสดุก่อสร้าง พวกสุขภัณฑ์จะออกมาในลักษณะไร้สัมผัส (touchless)

“ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เราทำเรื่องน้ำมากว่า 20 ปี ตั้งแต่การสร้างฝายในพื้นที่ป่า ชุมชน ที่อยู่ใกล้โรงงานเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ฉะนั้น สเต็ปต่อไป เราจะทำเรื่องการใช้น้ำหมุนเวียน เพราะต้องยอมรับว่าแม้จะมีน้ำใช้ก็จริง แต่บางจุดไม่พอใช้ก็มี คำถามคือทำยังไงถึงจะมีระบบใช้น้ำหมุนเวียนได้ และได้อย่างคุ้มค่า”

“ทั้งยังต้องส่งเสริมให้เกิดอาชีพมั่นคงหรือดีขึ้น ยกตัวอย่าง 1 ปี ชาวบ้านปลูกพืชได้ 2 ครั้ง แต่พอใช้น้ำหมุนเวียนอาจปลูกได้ถึง 3-4 ครั้ง ทำให้ระยะเวลาหรือผลผลิตเชิงเกษตรดีขึ้น ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของบริษัท ถ้ามีกำลังก็ควรทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่คนที่อยู่รอบโรงงาน แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่”

“ส่วนอีกด้านคือบรรษัทภิบาล (governance) ความโปร่งใส เป็นพื้นฐานที่ทุกบริษัทต้องมี เพราะเป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะลงทุนในบริษัทที่เขาไม่รู้ว่าทำธุรกิจอย่างไร มีวัตถุประสงค์อะไร เปิดข่าวดี แต่ปิดข่าวไม่ดี แบบนี้เรียกว่าไม่โปร่งใส”

“นอกจากนั้นตอนนี้ เรามองเห็นเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังมา โดยเอสซีจีมุ่ง 3 ด้าน คือ หนึ่ง ปรับปรุงการให้บริการ เช่น อีคอมเมิร์ซ ให้คนซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มได้ สอง ปรับปรุงด้านซัพพลายเชนมาใช้ดิจิทัลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้ต้นทุนที่ส่งของจากโรงงานผู้ผลิตไปยังลูกค้าในต้นทุนต่ำสุด และตรงเวลา และสาม ดิจิทัลด้านการผลิต เป็นระบบอัตโนมัติ ด้วยการนำโรบอตมาใช้ในการผลิต ส่งของ การเก็บสิ่งของเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำ”

สำหรับเรื่องสำคัญอย่างทิศทางการลงทุนในปี 2564 “รุ่งโรจน์” บอกว่า เน้นการรองรับการเติบโตที่ขยายตัวมากขึ้น โดยแผนลงทุนปี 2564 เราตั้งงบประมาณที่ 6-7.5 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ที่จะเน้นการปรับปรุงสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และอาคาร เพราะช่วงโควิดโครงการก่อสร้างภาคเอกชนลดลง แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคที่ทำงานที่บ้านก็เริ่มหันมาซ่อมแซมปรับปรุงที่พักอาศัยมากขึ้น

“ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี จะเน้นการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์ยานยนต์สมัยใหม่ และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในเทคโนโลยีการนำพลาสติกเก่ามารีไซเคิลใช้ไหม่ ส่วนการลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561 ตอนนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้”

“ขณะนี้มีความคืบหน้า 70% และจะเปิดดำเนินการเริ่มผลิตภายใน 2-3 ปีนับจากนี้ ผมมองว่าเวียดนามยังมีศักยภาพ เฉพาะปี 2563 รับมือโควิดได้ดี GDP ประเทศเป็นบวก และปีนี้ตั้งเป้าว่าจะเป็นบวกอีก เพราะยังมีโอกาสทางธุรกิจ ส่วนแผนลงทุนประเทศอื่นมองว่าตลาดอาเซียนมีศักยภาพ เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่มีตลาดใหญ่ แต่ทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนัก เราจึงต้องใช้เวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ยังเป็นแผนต่อไป”

“ขณะที่ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เราจะลงทุนนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น สำหรับในปัจจุบันสินค้านวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงของเอสซีจี มีมูลค่าเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขายทั้งหมด แต่สินค้ากลุ่มนี้บางชนิดผ่านไป 1-2 ปี จะกลายเป็นสินค้าพื้นฐาน ดังนั้น เราต้องลงทุนพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้ได้มากที่สุดถึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น”

นับว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจทีเดียว