บริหารงานบุคคลไม่ง่าย (1)

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

หลายครั้งคนเรามักจะคิด หรือมองอะไรออกไปนอกตัว จนลืมย้อนหันกลับมาสำรวจดูตัวเองแบบ back to the basic

ผมเชื่อว่าในองค์กรต่าง ๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหาร และพัฒนาทรัพยากรบุคคลกันอยู่มากมาย เช่น มีโครงสร้างเงินเดือน, มีระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ, ระบบ competency และมีแผนพัฒนาพนักงานระยะยาวที่เรียกกันว่า training & development roadmap, มีการทำ career path, มีวิธีการรักษาและจัดการคนเก่งและดี (talent management), ระบบประเมินผลงานแบบ KPIs, การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ

หลายแห่งจ้างที่ปรึกษาเข้ามาวางระบบให้ หลายแห่งก็สร้างระบบเหล่านี้กันขึ้นมาเอง และการได้มาซึ่งเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่จะได้มาฟรี ๆ นะครับ แต่ไม่ว่าจะได้เครื่องมือเหล่านี้มาด้วยวิธีไหน ต้องแลกมาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป

เมื่อสร้างระบบดังกล่าวเสร็จ เราก็เริ่มใช้ระบบต่าง ๆ ที่สร้างมากับผู้คนในองค์กรให้คุ้มค่ากับการสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมา

แต่เคยย้อนกลับมาถามตัวเองบ้างไหมครับว่า…เราสร้างเครื่องมือในการบริหารและพัฒนาบุคลากรเหล่านี้มาเพื่ออะไร ?

คำตอบของผมคือ…เพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรให้ได้นานที่สุดครับ

เพราะองค์กรจะเดินหน้าไปได้ หรือจะอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน หรือปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ก็ด้วย “คน”

แต่ถ้าถามต่อไปว่า เครื่องมือต่าง ๆ ที่ผมบอกมาข้างต้น ทำให้คนอยู่กับองค์กรได้อย่างที่องค์กรคาดหวังนั้นจริงหรือ ?

คำตอบก็น่าจะเป็นว่า คงเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาคนไว้ ยังไงก็ดีกว่าไม่มีเครื่องมืออะไรเลยแหละ

ถ้าคำตอบเป็นอย่างนี้ เราลองมาตั้งคำถาม-คำตอบต่อไปสิครับว่า…คนจะไปจากองค์กรเพราะอะไร ?

ตอบ : เพราะ “ใจ” เขาไม่อยากจะอยู่ที่นี่อีกต่อไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่า “หมดใจ” แล้วนั่นแหละครับ !