ตั้งต้นจากสิ่งเล็ก ๆ “อออุ่น” ธุรกิจเพื่อสังคมของเด็ก ๆ

หลายปีผ่านมา สังคมไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “กิจการเพื่อสังคม” กันมากขึ้น เพราะเป็นการทำธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้และนวัตกรรม กระทั่งมีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้า หรือบริการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาค

ซึ่งเหมือนกับ “อออุ่น” (AllOon) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ที่เกิดขึ้นจากความต้องการอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมของ “ธันยทิพย์ วัลยะเสวี” และเพื่อนอีก 2 คน โดยรูปแบบการทำงานของ “อออุ่น” จะเป็นตัวกลางให้กับครอบครัวที่ต้องการบริจาคเสื้อผ้าเด็กที่ไม่ใช้งานแล้วส่งต่อเพื่อครอบครัวที่ขาดแคลน ทั้งยังมอบส่วนลดให้กับผู้บริจาคตั้งแต่ 15-70% นำมาซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่กับแบรนด์ที่ร่วมโครงการบนเว็บไซต์ www.alloonkids.com

ธันยทิพย์ วัลยะเสวี ผู้ก่อตั้งอออุ่น
ธันยทิพย์ วัลยะเสวี ผู้ก่อตั้งอออุ่น

“ธันยทิพย์” ผู้ก่อตั้งอออุ่น กล่าวว่า ดิฉันมีโอกาสรู้จักการทำธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อครั้งเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบกับความสนใจส่วนตัวที่ต้องการทำงานเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในด้านเด็กและครอบครัว เพราะเชื่อว่าครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุด และวัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญ

“การเลี้ยงดูอบรมที่ดี และเหมาะสมจากครอบครัว จะทำให้เด็กเติบโตไปเป็นกำลังที่มีคุณภาพของสังคม และการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก ต้องใช้เวลา ใช้กําลังคน และกําลังทรัพย์อย่างมาก จึงอยากช่วยลดภาระของครอบครัวที่มีเด็กเล็กในทางใดทางหนึ่งเพื่อช่วยให้พ่อแม่ได้ทุ่มเทกับการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ได้มากขึ้น โดยก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งโครงการ ดิฉันมีโอกาสรวบรวมของใช้จำเป็นเพื่อส่งบริจาคให้กับบ้านเด็กกำพร้า โรงพยาบาล หรือโครงการช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ทุรกันดาร จนได้เห็นถึงช่องว่างในการติดต่อสื่อสาร และให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวที่ขาดแคลน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก”

“ดังนั้น หลังจากออกจากงานประจำในช่วงกลางปี 2563 จึงมีโอกาสจัดตั้งโครงการอออุ่นขึ้น และนำความรู้ทางด้านธุรกิจที่มี และประสบการณ์ด้านงานออนไลน์จากการทำงานในบริษัทเทรนด์ดิจิทัลแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านการทำการตลาดออนไลน์แก่ลูกค้าบริษัท และแบรนด์ต่าง ๆ มาออกแบบธุรกิจตนเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารทั้งกับกลุ่มลูกค้า และครอบครัวที่ขาดแคลน”

“ธันยทิพย์” กล่าวต่อว่า ปัญหาสังคมในประเทศไทยมีมาก โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับเด็ก มีทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา เหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพชีวิต ปัญหาเรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่พร้อมดูแลบุตร ขาดแคลนทุนทรัพย์ และอื่น ๆ จากการศึกษาข้อมูลหลายแห่งรวมถึงมีการพูดคุยกับกลุ่มสังคมแม่ และเด็กครอบครัวยากไร้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย พบปัญหา 2 ด้าน คือ

หนึ่ง ขาดแคลนเสื้อผ้า และของใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ อาทิ แพมเพิร์ส, ผ้าอ้อม, นมผง, ขวดนม, สบู่เด็ก, ที่นอน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยสำหรับครอบครัวยากจน

สอง โอกาสในการสร้างรายได้ กว่า 80% แม่ที่มีลูกเล็ก หรือตั้งท้องไม่สามารถทำงาน หรือหารายได้ได้เลย สาเหตุเกิดจากการไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก และอีกประมาณ 20% พบว่าโดนให้ออกจากงานตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น งานร้านอาหาร งานโรงงาน เป็นต้น

“ดิฉันศึกษาสถิติต่าง ๆ ทั้งจากยูนิเซฟ และจากหน่วยงานของรัฐ ยกตัวอย่าง เช่น โครงการเงินอุดหนุนเพื่อดูแลเด็กแรกเกิดของครอบครัวมีรายได้น้อย ในปี 2562 มีคนลงทะเบียน 1 ล้านคน พอมาถึงปี 2563 เพิ่มมาอีก 1 ล้านคน ตอนนี้เท่ากับว่ามีคนลงทะเบียนแล้วกว่า 2 ล้านคน และเขาก็วางเกณฑ์ของคนที่จะมารับเงินอุดหนุนว่า ใน 1 ปีต้องมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งรัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตรคนละ 600 บาทต่อเดือน ดิฉันมองว่าคนที่มีลูกเล็ก เงินจำนวนนี้ไม่มีทางพออยู่แล้ว”

“ฉะนั้น เป้าหมายของอออุ่นจึงเป็นการช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูกเล็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ ซึ่งเด็ก ๆ จะโตเร็วมาก ต้องมีการซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุก 3-6 เดือน และหลายบ้านที่มีลูกก็อาจจะมีเสื้อผ้าเด็กที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วเต็มตู้ และต้องหาซื้อตัวใหม่ให้กับลูกที่ตัวโตขึ้น อออุ่นจึงเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าเด็กที่ไม่ใช้แล้ว นำส่งต่อให้กับครอบครัวยากจนที่มีลูกเล็ก และจำเป็นต้องหาเสื้อผ้าให้เด็ก ๆ ที่ตัวโตขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนผู้บริจาคสามารถแลกใช้ส่วนลดเมื่อซื้อตัวใหม่กับแบรนด์เสื้อผ้าเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ลดสูงสุด 15-70%”

“ธันยทิพย์” กล่าวเพิ่มเติมว่า อออุ่นใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงลูกค้า และผู้ขอรับบริจาค โดยมีเว็บไซต์ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าราคาพิเศษจากแบรนด์ต่าง ๆ และติดตามข่าวสารการบริจาคของโครงการ สำหรับผู้ขอรับบริจาคก็จะเป็นช่องทางออนไลน์ให้มาลงทะเบียนและส่งหลักฐานยืนยันก่อนที่ทีมงานจะติดต่อเพื่อตรวจสอบข้อมูล เช่น รายได้ครอบครัว, อาชีพพ่อแม่, สภาพความเป็นอยู่ รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วน ฯลฯ

“ตอนนี้นับตั้งแต่เปิดเว็บไซต์มีคนลงทะเบียนเข้ามายังอออุ่นแล้วมากกว่า 300 ราย และเดือนมกราคมส่งไปลอตแรก 15 ครอบครัวแล้วทางไปรษณีย์ อออุ่นตั้งเป้าว่าอยากส่งให้ได้อย่างน้อยเดือนละลอต หรือ 15-20 ครอบครัวต่อเดือน แต่ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนบริจาค”

“นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ธุรกิจของเรายังคงต้องวางแผนกันต่อเนื่อง เพราะรายได้จากการซื้อขายเสื้อผ้ายังมีจำนวนไม่มาก ยอดผู้บริจาคล่าสุดอยู่ที่ 582 ชิ้น (ข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์อออุ่น ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564)”

“ดิฉันคิดว่าการส่งต่อเสื้อผ้าสู่เด็กขาดแคลนเป็นการช่วยเหลือระยะสั้น ดังนั้นระยะยาว อออุ่นจึงตั้งเป้ากันว่าไม่เพียงจะส่งของบริจาคเป็นครั้ง ๆ แต่ต้องการที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวต่อไปด้วย เช่น การส่งเสริมงาน, ส่งเสริมอาชีพให้แก่ครอบครัวเด็ก โดยอาจจะร่วมมือกับมูลนิธิ หรือหน่วยงานอื่น ๆ เมื่อธุรกิจเราเริ่มเติบโตเป็นที่รู้จัก”

“ส่วนในมุมธุรกิจ ตอนนี้เร่งสร้างพอร์ตตนเองผ่านการประชาสัมพันธ์ตามช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการมองหาแบรนด์เสื้อผ้าเด็กที่จะเข้าร่วมผ่านการสอบถามพ่อแม่ว่ามีแบรนด์ไหนที่ใช้เป็นประจำ หรือแบรนด์ไหนที่คนนิยมซื้อ หรือดีไซน์แบบไหนที่คนนิยมซื้อให้ลูก เมื่อได้ข้อมูลก็จะติดต่อแบรนด์เสื้อผ้าที่น่าสนใจมาร่วมกับเรา ตอนนี้มี 3 แบรนด์แล้วที่เริ่มวางจำหน่ายบนเว็บไซต์”

“เพราะสุดท้ายแล้วมีความคาดหวังว่า อออุ่นไม่เพียงจะดำเนินธุรกิจแบบมีกำไร ที่ช่วยเหลือสังคมในการบริจาคเสื้อผ้า แต่เรายังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทยต่อไปด้วย”