“ดีแทค เน็ตทำกิน” โอกาสในโลกออนไลน์ผู้ประกอบการ

ต้องยอมรับว่าหลังจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ออกแคมเปญ “ดีแทค เน็ตทำกิน” เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับค่อนข้างล้นหลาม เพราะโครงการดังกล่าวไม่เพียงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 10 เรื่อง “ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ”

หากยังเป็นโครงการที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสินค้าดี คุณภาพดี ที่เดิมทีอาจทำมาหากินอยู่บริเวณชายขอบของหลายจังหวัดทั่วภูมิภาค แต่เมื่อสถานการณ์ของมหันตภัยไวรัสร้ายระบาดในครั้งแรกและครั้งที่ 2 ในปัจจุบัน จึงทำให้สินค้าของพวกเขาขายไม่ค่อยได้

ทั้งยังเป็นการแบกรับภาระของครอบครัวในยามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ จึงทำให้ “ดีแทค” พยายามหาหนทางช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น โดยอิงอยู่บนพื้นฐานของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคม เพราะที่ผ่านมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว “ดีแทค” เคยจัดทำโครงการ “ดีแทค เน็ตอาสา” ประสบความสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 60%

แต่สำหรับครั้งนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างหนักกว่า 7 ปีที่ผ่านมามาก ทาง “ดีแทค” จึงต่อยอดโครงการจนออกมาเป็น “ดีแทค เน็ตทำกิน” เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยพลิกสถานการณ์จากการขายของออฟไลน์มาเป็นการขายของบนออนไลน์แทน โดยผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ

สำหรับเรื่องนี้ “อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 ครั้งที่ 1-2 เปิดแผลใหญ่มาก เศรษฐกิจไม่ดีเลย ทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการรายย่อยตกลงประมาณ 80% พวกเขาไม่สามารถพลิกเกมธุรกิจให้กลับมาขายได้อีกครั้ง เราจึงมองเห็นโอกาสตรงนี้ด้วยการแนะนำให้พวกเขาหันมาค้าขายของออนไลน์แทน

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

“ตรงนี้จึงเป็นเป้าหมายที่ทำให้เราปรับแผนงานและต่อยอดจากโครงการดีแทค เน็ตอาสา มาเป็นดีแทค เน็ตทำกิน โดยมุ่งไปที่ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีโปรดักต์ดี, บริการเยี่ยม แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านการขายออนไลน์มาก่อน หรือมีก็ขายไม่ค่อยจะได้ เราจึงต้องการเชิญชวนกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาร่วมโครงการดีแทค เน็ตทำกิน ตอนนี้เราเปิดตัวโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีหนังออนไลน์ให้คนเห็นบ้างแล้ว ทั้งนั้น เพื่ออยากให้เขาได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ประกอบการที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน”

“ตอนนี้เราเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 100 คนในซีซั่นแรก และหลังจากนั้นจะมีการวัดผลว่าเราสามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเขาได้จริงหรือไม่ เพราะเราเปิดช่องทางการขายจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิตให้กับพวกเขา ทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการอีกด้วย”

“สำหรับกลยุทธ์ที่นำมาใช้ครั้งนี้เราใช้การสร้าง digital literacy หรือทักษะความเข้าใจ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพราะเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของดีแทคคือเราต้องการสร้าง tomorrow for all คืออยากสร้างวันพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นสำหรับทุกคน เพราะเราเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญมาก”

“ฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายของเรา คือ ผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่บริเวณชายขอบของหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค เราต้องการให้เขาสร้างชีวิตอย่างมีคุณภาพด้วยการขายของออนไลน์ ที่สำคัญเราต้องการมอบโอกาสให้แก่พวกเขา และตอนนี้กำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 15-28 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น จากนั้นจะเริ่มสอนประมาณต้นเดือนมีนาคม โดยมีโค้ชเน็ตทำกินทั้งหมด 5 คนเป็นผู้สอนในแต่ละรายวิชา”

“อรอุมา” บอกว่า โค้ชเน็ตทำกินทั้งหมด 5 คน เคยผ่านประสบการณ์การสอนให้ผู้ประกอบการจากโครงการดีแทค เน็ตอาสา มาก่อนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เราอบรม พัฒนาพวกเขาและเธอให้มีความรู้ การใช้เครื่องมือผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จนมีความชำนาญมากยิ่งขึ้น

“เพราะผู้เข้าอบรมทั้งหมด 100 คน เราไม่มีการจำกัดเพศ อายุ และวุฒิการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้พวกเขาตั้งใจที่อยากจะประสบความสำเร็จในการขายของออนไลน์จริง ก็สามารถร่วมโครงการกับเราได้ ที่สำคัญผู้เข้าร่วมโครงการกับเรา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกค้าของดีแทคเท่านั้น ของค่ายอื่นก็ได้ เพราะเปิดกว้างสำหรับทุกคนจริง ๆ”

ผลเช่นนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ยิ่งทำให้ทราบว่า “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ “ดีแทค” ต้องการนั้นต้องขอให้มีคุณสมบัติดังนี้ คือ

หนึ่ง ผู้ประกอบการไทย หัวใจสู้เกินร้อย ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค รักการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ

สอง มีของ “ดี” สินค้าและบริการถูกกฎหมาย ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

สาม มีความฝันอยากพาสินค้าหรือธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอยู่บนโลกออนไลน์ อาจเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่มีหน้าร้านออนไลน์ หรือมีหน้าร้านออนไลน์แล้วแต่ยังไม่ “ปัง”

สี่ มีอุปกรณ์สำหรับการสื่อสารออนไลน์ เช่น โทรศัพท์มือถือ, tablet หรือคอมพิวเตอร์

ห้า ไม่จำกัดเพศ อายุ และวุฒิการศึกษา

โดยทั้งหมดจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของกลยุทธ์ “5 ช่วย” ประกอบด้วย

หนึ่ง ช่วยสอน – ช่วยสอนและแนะนำเคล็ดลับการขายของออนไลน์ให้ดี ให้โดน ให้ดัง

สอง ช่วยปรับ – ช่วยปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกชีวิตด้วยทักษะดิจิทัล

สาม ช่วยให้รอด – ช่วยพาธุรกิจรอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

สี่ ช่วยต่อยอด – ช่วยต่อยอดลมหายใจให้ร้านค้าที่กำลังไม่ไหว

และห้า ช่วยชีวิตให้ดีขึ้น – ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นสู่เส้นทางรายได้หลักล้าน บอกลาชีวิตติดลบ

ถึงตรงนี้ “อรอุมา” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิชาเน็ตทำกินเราจะให้ 5 โค้ชเน็ตทำกินเป็นผู้สอนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน คือ แพลตฟอร์มสำหรับทำการตลาด, พื้นฐานการตลาดยุคดิจิทัล, การถ่ายภาพ, การสร้างคอนเทนต์ และปักหมุดธุรกิจติดดาว

“โดยเฉพาะเรื่องแพลตฟอร์มสำหรับทำการตลาดโค้ชเน็ตทำกิน จะสอนการเรียนรู้แพลตฟอร์มให้เข้ากับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, วิดีโอโฆษณา, ยูทูบ, ทวิตเตอร์ ด้วยภาษาง่าย ๆ จากนั้นเราจะสอนเรื่องการทำตลาดยุคใหม่, ตลาดในยุคปัจจุบัน, กลยุทธ์ 4 Ps, 4 Cs, พฤติกรรมผู้บริโภค และกระบวนการตัดสินใจซื้อ เพื่อติดอาวุธความรู้การตลาดยุคใหม่ให้กับพวกเขา”

“ขณะที่ในส่วนของการถ่ายภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เราจะสอนการถ่ายภาพสินค้าสำหรับการขายออนไลน์, การถ่ายภาพสินค้าสำหรับโปรโมต, เคล็ดลับควรรู้ก่อนถ่ายภาพ, เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบภาพเบื้องต้น และเทคนิคการถ่ายภาพอาหาร”

“ส่วนการสร้างคอนเทนต์เราจะสอนการเขียนคำพาดหัวเพื่อดึงดูดลูกค้า, การนำคอนเทนต์ที่มีอยู่ไปต่อยอดให้กับธุรกิจ และเทคนิคการสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ในส่วนของปักหมุดธุรกิจติดดาวเราจะสอนวิธีปักหมุดบนเฟซบุ๊ก, กูเกิลแมป และการใช้กูเกิลบิสซิเนส พูดง่าย ๆ โค้ชเน็ตทำกินจะใช้ภาษาง่าย ๆ และจะสอนกันแบบตัวต่อตัว หรือแบบออนไลน์บ้าง ที่สำคัญน้อง ๆ โค้ชเน็ตทำกินเหล่านี้จะทยอยไปอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายถึงที่เลย เพื่อให้เขานำไปใช้ได้จริง เพราะเราใช้เวลาอบรมเพียง 2 วันทั้งในกรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งยังมีการติดตามหลังจากอบรมด้วย”

ขณะที่ในมุมมองของ “โค้ชเน็ตทำกิน” ที่มีอยู่ 5 คนด้วยกันนั้น ทุก ๆ คนล้วนผ่านประสบการณ์จากการเป็น “โค้ชเน็ตอาสา” มากว่า 7 ปี ฉะนั้น ทุกคนจึงเจอประสบการณ์ทุกรูปแบบ แต่สำหรับครั้งนี้พวกเขาและเธอต่างรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพราะไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการรายย่อยให้กลับมาขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากยังเป็นการต่อลมหายใจของพวกเขาให้กลับมาเป็นผู้ประกอบการจนประสบความสำเร็จในวิชาชีพ

“วงสุรีย์ (โค้ชตุ๊ก) คำจุมพล” ผู้สอนวิชาปักหมุดธุรกิจติดดาวกล่าวในเบื้องต้นว่า ความภูมิใจคือเราได้ไปส่งเสริมให้เขาจากที่ไม่รู้อะไรเลย จนเริ่มรู้ขึ้นมา เราได้กำลังใจจากการที่เราเปิดใจให้เขา และอีกอย่างเราไม่ได้จำกัดค่าย แต่กลับกลายเป็นว่าพอเราอบรมให้เขา จนเริ่มสนิทกัน ผู้เข้าอบรมบางรายซึ่งเป็นคุณป้า, คุณแม่ กลับอยากมาใช้บริการกับดีแทค ตรงนี้ก็เหมือนเป็นความภูมิใจอีกอย่างหนึ่ง

วงสุรีย์ คำจุมพล ผู้สอนวิชาปักหมุดธุรกิจติดดาว
วงสุรีย์ คำจุมพล ผู้สอนวิชาปักหมุดธุรกิจติดดาว

ขณะที่ “ภัทรียา (โค้ชไอซ์) จันติ๊บ” ผู้สอนวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้น การถ่ายภาพสินค้าและอาหารสำหรับการโปรโมตบอกว่า ความรู้สึกแรกเลยรู้สึกภูมิใจมาก เหมือนหัวใจเราพองโตที่สำคัญเราทำให้เขายิ้มอย่างมีความสุขเพราะเขาขายของได้ ที่สำคัญเราได้ใจเขา และเราได้ดูแลเขา เพราะผู้เข้าอบรมก็เป็นคนรุ่นแม่ รุ่นป้า รุ่นลุงของเราเหมือนเป็นการดูแลซึ่งกันและกัน และยิ่งถ้าเขาประสบความสำเร็จ เราจะยิ่งภูมิใจมาก

ภัทรียา จันติ๊บ ผู้สอนวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้น
ภัทรียา จันติ๊บ ผู้สอนวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้น

สำหรับ “ยุทธพงษ์ (โค้ชเบนซ์) สนั่นนาม” ผู้สอนวิชาเรียนรู้แพลตฟอร์มสำหรับการตลาดบอกว่า รู้สึกดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่เคยอยู่ออฟไลน์ให้มาอยู่บนออนไลน์ และทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

ยุทธพงษ์ สนั่นนาม ผู้สอนวิชาเรียนรู้แพลตฟอร์มสำหรับการตลาด

ส่วน “วรางคณา (โค้ชบูม) ยันต์แดง” ผู้สอนวิชาการสร้างคอนเทนต์เพื่อการจำหน่ายทางออนไลน์บอกว่า เรามองในสิ่งที่เราได้กลับมาอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องแรงผลักดัน เพราะบางคำถามของคุณแม่, คุณป้าทั้งหลาย เราตอบเดี๋ยวนั้นไม่ได้ จึงทำให้เราต้องกลับไปค้นหาคำตอบภายหลังเพื่อจะกลับไปบอกเขาอีกครั้งหนึ่งจนทำให้เราเกิดการพัฒนาตัวเอง และทำให้เราภูมิใจที่จะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อคนอื่น กระทั่งมีแรงที่อยากทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ตรงนี้คือความภูมิใจของเรา

วรางคณา ยันต์แดง ผู้สอนวิชาการสร้างคอนเทนต์เพื่อการจำหน่ายทางออนไลน์

“วนิดา (โค้ชแป๋ว) เสร็จกิจ” ผู้สอนวิชาติดปีกความรู้สู่ความสำเร็จทางการค้ากับการตลาดยุคดิจิทัลกล่าวเป็นคนสุดท้ายบอกว่า จากที่เราไปหลาย ๆ ที่ทำให้เรามีญาติพี่น้องอยู่ทั่วประเทศเลย และหลายคนยังติดต่อกันจนทุกวันนี้

วนิดา เสร็จกิจ ผู้สอนวิชาติดปีกความรู้สู่ความสำเร็จทางการค้ากับการตลาดยุคดิจิทัล

“แม้บางทีเราไม่ได้ไปหาเขา แต่เขาก็จะส่งสติ๊กเกอร์ไลน์มาให้เรา หรือบอกว่าถ้าผ่านมาทางนี้อย่าลืมแวะหานะ เรารู้สึกได้ถึงความผูกพันที่เขามอบให้เรา ซึ่งเป็นความผูกพันที่มาจากการทำอะไรดี ๆ ร่วมกัน”