COVID Effect ยังอยู่ (ยาว)

หน้ากากอนามัย (2)
คอลัมน์ CSR Talk
พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2563 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อการดำรงชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบของสถานการณ์โควิดมิได้ส่งผลเพียงเรื่องสุขภาพของผู้คนในสังคม แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปยังภาคเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องปากท้อง กระทบวิถีทำมาหากินของผู้ประกอบการ ตั้งแต่รายใหญ่จนถึงรายย่อยทั่วทุกหัวระแหง

การระบาดระลอกใหม่ที่กลับมาในช่วงท้ายปี 2563 ทอดยาวข้ามเข้าสู่ปี 2564 กลายเป็นสถานการณ์ที่ขวางกั้นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเริ่มคลี่คลายจากการระบาดรอบแรก มาตรการจำกัดการเดินทาง การยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการปิดบริการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสและแพร่เชื้อ ถูกนำมาบังคับใช้ในหลายพื้นที่อีกครั้ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทิ้งร่องรอยความเสียหาย และผลตกค้างหลายเรื่องเป็นการถาวร รวมถึงพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่จำต้องปรับเปลี่ยน ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น

ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ส่งผลต่อแบบแผนการใช้ชีวิตและการทำงานใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (work from home), การเที่ยวเตร่ในโลกออนไลน์ (roam online) และการซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น (buy from app)

“work from home” หรือการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ส่งผลให้อัตราการเข้าสำนักงานลดลง ที่นั่งประจำในสำนักงานถูกลดความจำเป็นลง การบริหารพื้นที่สำนักงานจำต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งาน

อีกด้านหนึ่ง การประชุมทางไกล รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวเนื่องมีอัตราการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การปรับปรุงพื้นที่ในบ้านให้เอื้อต่อการทำงานระยะไกล ทำให้วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้านสำหรับรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่มียอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“roam online” หรือการเที่ยวเตร่ในโลกออนไลน์ มีจำนวนชั่วโมงเพิ่มเป็นทวีคูณ อันเนื่องมาจากการจำกัดการเดินทาง การปิดสถานที่ และการระงับการจัดกิจกรรมในสถานที่จริง (on ground) ทำให้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การเชื่อมต่อเครือข่ายโทรทัศน์ที่รองรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย มียอดการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ผู้ให้บริการเนื้อหา (content provider) ที่สามารถให้บริการเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้กลุ่มเป้าหมายได้รับยอดสมาชิกที่เติบโตขึ้นมาก โลกออนไลน์กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ทดแทนสถานที่ท่องเที่ยวจริง

“buy from app” หรือการซื้อสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชั่นมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อในที่สาธารณะ และการสัมผัสจากบริการที่ใช้พื้นที่หรืออุปกรณ์ร่วมกัน ทำให้ห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, เชนร้านค้าปลีก รวมถึงเจ้าของตราสินค้ากระทั่งร้านค้าอิสระต่างหันมาพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่งผลให้การส่งสินค้าในแบบหน้าประตูถึงหน้าประตู (door-to-door) เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการจับจ่ายใช้สอย

แม้ปรากฏการณ์โควิดจะเป็นภัยคุกคามต่อการทำธุรกิจ ทั้งในแง่ของการถูกจำกัดกิจกรรมการขาย เส้นทางการลำเลียงและการกระจายสินค้า การจัดระเบียบเวลาและจำนวนของผู้ใช้บริการ ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเข้าถึงบริการของลูกค้า และปริมาณลูกค้าที่หดหายไปจากมาตรการในช่วงสถานการณ์โควิด

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์โควิดได้สร้างช่องทางและโอกาสใหม่แก่ธุรกิจในหลายสาขา การเติบโตของอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เครื่องออกกำลังกายสำหรับใช้ที่บ้าน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง รวมทั้งเครื่องเรือนสำหรับการทำงานและการประชุมทางไกล ตลอดจนบริการรับ-ส่งพัสดุถึงที่ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่อยู่ในสาขา ซึ่งมิได้รับอานิสงส์จากปรากฏการณ์โควิด หรือที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้จำเป็นต้องปรับตัวปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้รองรับกับพฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดปกติใหม่ (new normal) ที่ไม่ใช่ภาวะปกติดั้งเดิมเหมือนก่อนเกิดปรากฏการณ์


ประเด็นความยั่งยืนถือเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว โดยที่การประเมินอุปสงค์ใหม่จากปรากฏการณ์โควิด การรักษาความต่อเนื่องของสายอุปทาน และการเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในห่วงโซ่คุณค่าภายใต้วิถีปกติใหม่ จะเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการนับจากนี้