“กัญชา-กัญชง-กระท่อม” ม.อ.ผนึกเอกชนร่วมวิจัย

กัญชา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือร่วมกับภาคเอกชนเปิดตัว 3 โครงการวิจัยและพัฒนา “กัญชา, กัญชง และกระท่อม” ต่อยอดผลิตภัณฑ์เกษตรสู่นวัตกรรมยารักษาโรคตอบโจทย์แพทย์เชิงพาณิชย์ ทั้งยาแผนไทยและแผนปัจจุบันสู่การใช้ทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ เพื่อหวังยกระดับอุตสาหกรรมยาประเทศไทย

“ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ม.อ.มีวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ซึ่งเป็นกลไกหลักในการพัฒนางานวิจัยของภาคใต้ และประเทศไทย โดยล่าสุดเดินหน้าสานต่อนโยบายจากภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยา ด้วยการผลักดันให้กัญชา, กัญชง และกระท่อม เป็นพืชที่วงการทางการแพทย์นำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“จึงจับมือร่วมกับภาคเอกชนทำการวิจัยและพัฒนากัญชา, กัญชง และกระท่อม เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพราะจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย”

ทั้งนี้ทาง ม.อ.พร้อมด้วยภาคเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ได้ร่วมการลงนามบันทึกข้อตกลง 3 โครงการ ประกอบด้วย

หนึ่ง โครงการการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตพืชกระท่อม ระหว่างบริษัท มาสเตอร์ แล็บส์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.อ. และคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.เพื่อร่วมกันพัฒนาและวิจัยพืชกระท่อมที่มีศักยภาพและคุณประโยชน์ด้านการแพทย์ และช่วยขยายช่องทางที่จะใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

สอง โครงการการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตพืชกระท่อม ระหว่าง บริษัท ออริจิน เทค, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.อ. และคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. เพื่อร่วมพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนศักยภาพของพืชกระท่อมในการรักษาโรคต่าง ๆ และร่วมกันสร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อรักษาให้ผู้ป่วยได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างความมั่นคงของประเทศ

สาม โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชกัญชา, กัญชง, กระท่อม และสมุนไพรที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในทางการแพทย์แผนไทย ระหว่างบริษัท 420 (ประเทศไทย) จำกัด วิสาหกิจชุมชนศิริกันยา และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“ความร่วมมือระหว่าง ม.อ.กับภาคเอกชน ผ่าน 3 โครงการในครั้งนี้ นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญ ที่ทางทีมวิจัย ม.อ.มีความมุ่งมั่นการวิจัยและพัฒนากัญชา, กัญชง และกระท่อม เพื่อตอบโจทย์การแพทย์เชิงพาณิชย์ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย

ขณะเดียวกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย ตลอดจนการประหยัดงบประมาณในการนำเข้ายา โดย ม.อ.พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ และยกระดับประเทศไทยสู่การใช้กัญชา, กัญชง และกระท่อม ทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว