เปลี่ยนมือแหล่ง “เอราวัณ” พนักงาน 5 พันคนเสี่ยงตกงาน

ตามที่แหล่งปิโตรเลียมสำคัญในพื้นที่อ่าวไทย อย่างแหล่งเอราวัณ ที่มีเจ้าของสัมปทานในปัจจุบันคือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูล จากเจ้าของแหล่งรายเดิม คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยกำหนดเวลาหมดอายุสัญญาอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2565 นั้น

กล่าวกันว่า ตามหลักการของขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะต้องลงพื้นที่ “ล่วงหน้า” เพื่อสำรวจจำนวนปริมาณคงเหลือ และวางแผนในการขุดเจาะเพิ่มเติมเพื่อคงระดับการผลิตตามสัญญา แต่จนถึงขณะนี้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ฯยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนอย่างที่ควรจะเป็น กระทั่งบานปลายใหญ่โต จนถึงต้องใช้อนุญาโตตุลาการเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย

TOR ไม่ชัดเจนช่วงเปลี่ยนมือ

แหล่งข่าวจากพนักงานนอกชายฝั่งแหล่งเอราวัณเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปในช่วงที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมเงื่อนไขการประมูล (TOR) แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว กลับไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าจะเปิดทางให้ผู้ชนะประมูลเข้าพื้นที่ก่อนที่จะหมดอายุสัญญาอย่างเป็นทางการได้หรือไม่ โดยกรมเชื้อเพลิงฯในขณะนั้นมั่นใจว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถเจรจาได้ จึงไม่ได้ระบุรายละเอียดในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ให้น้ำหนักไปที่การแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้สัญญามีความหลากหลาย

เนื่องจากในขณะนั้น ประเทศไทยใช้เพียงรูปแบบ “สัมปทาน” เพียงอย่างเดียว และให้รักษาระดับการผลิตไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากความไม่ชัดเจนของสัญญาทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงทั้ง 2 บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อ “คนทำงาน” ในธุรกิจสำรวจและผลิตอีกด้วย

พนักงาน 5 พันคนเสี่ยงตกงาน

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมว่า การไม่สามารถเข้าสำรวจพื้นที่ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบใหญ่ในแง่ของคนทำงานในพื้นที่ปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ที่มีจำนวนพนักงานกว่า 5,000 คน ภายใต้การบริหารของบริษัท เชฟรอนฯ เพียงแต่ขณะนี้รอความชัดเจนจากบริษัทเชฟรอนฯว่าเมื่อแหล่งเอราวัณเปลี่ยนมือแล้ว แม้ว่าในเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ฯ อาจจะรับพนักงานทั้งหมดให้ทำงานตามปกติต่อไป

แต่ในกรณีที่อาจจะรับพนักงานไม่ได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องแจ้งพนักงานล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมความพร้อมในการหางานใหม่ เพราะในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะวิกฤตที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกอย่างน้อย 2-3 ปี และอาจทำให้หางานใหม่ยากขึ้นตามไปด้วย

อีกทั้งก่อนหน้านี้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และราคาน้ำมันในตลาดโลกจากที่เคยขึ้นราคามากกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และลดระดับลงมาต่ำสุดที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีโอกาสกลับมายืนราคาที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ง่าย ๆ

นี่ยังไม่นับรวมที่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าที่มีแนวโน้มว่าจะมาทดแทนการใช้น้ำมันในอนาคตอีกด้วย ยิ่งเป็นการ “ตอกย้ำ” ว่าการทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกำลังซบเซาอย่างหนัก แม้แต่บริษัทพลังงานระดับโลกอย่าง “เอ็กซอนโมบิล” ยังต้องปลดพนักงานเพื่อลดขนาดขององค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในจำนวนพนักงานกว่า 5,000 คนดังกล่าว เป็นพนักงานคนไทยถึง 99.98% ที่ทำงานร่วมกับบริษัท เชฟรอนฯมาอย่างยาวนาน และเมื่อนับจากวันที่เริ่มผลิตจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 40 ปี

พนักงานคนไทยมีความผูกพันกับแหล่งเอราวัณ เพราะถือเป็นแหล่งปิโตรเลียมสำคัญที่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก นับเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่อยู่ในแวดวงการสำรวจและผลิต แต่ในขณะนี้พนักงานทั้งหมดเกิดความไม่แน่ใจ และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะบริษัท เชฟรอนฯไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการอันเนื่องมาจากผู้รับสัมปทานคือเชฟรอนฯไม่อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้ามาสำรวจก่อนที่แหล่งดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2565 นี้” แหล่งข่าวกล่าว

ชธ.จี้เคลียร์ให้เร็ว

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล โดย “สราวุธ แก้วตาทิพย์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานให้ทั้ง 2 ฝ่าย เกิดการเจรจาโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากผู้รับสัมปทานรายใหม่ยังไม่สามารถเข้ามาดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition period) ได้นั้น อาจเกิดผลกระทบต่อการบริหารพลังงานของประเทศอาจจะ “สะดุด” ได้นั้น ขอยืนยันว่าในการแก้ไขปัญหาจะยึดเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับหลักการที่ว่าจะต้อง “ไม่กระทบ” ต่อประชาชน

“สราวุธ” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์ความล่าช้านั้นเกิดขึ้นจากภาคเอกชนที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ฉะนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเร่งการเจรจาให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดที่วางไว้ และเตรียมการดำเนินการต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนที่แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวจะหมดอายุสัญญาในเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้สามารถรักษาระดับการผลิตไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน