Clubhouse ทำไมฮิตนัก ?

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
พิชญ์พจี สายเชื้อ

นาทีนี้ไม่พูดถึง “Clubhouse” คงไม่ได้ มันคืออะไรกันแน่ ?

“Clubhouse” คือ แอปใหม่ที่ให้คนเข้าไปพูดคุยกันในห้องต่าง ๆ แล้วแต่มีใครมาพูดเรื่องอะไร คล้าย ๆ กับการไปสัมมนาแล้วเดินเลือกห้องได้ว่าจะอยากฟังอะไร เข้าไปในห้องก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย Clubhouse โด่งดังเร็วมาก เปิดตัวมาได้แค่ 11 เดือนเท่านั้น แต่มีคนใช้ประมาณ 2 ล้านคนต่อสัปดาห์ มีคน search หาแอป Clubhouse เพิ่มขึ้น 3,250% ใน 3 เดือนที่ผ่านมา

ตอนนี้ว่ากันว่า “Clubhouse” มีมูลค่า 1 billion US เข้าไปแล้วจริง ๆ คนค่อนข้างแปลกใจในการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Clubhouse ทั้งที่ function ของ Clubhouse ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่ล้ำ หรือแปลกใหม่เลย เพียงแต่มีการเลือกฟังก์ชั่นที่ “โดนใจ” คนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า

โดยแคแร็กเตอร์หลัก ๆ ของ Clubhouse คือ 1) ใช้ได้กับเฉพาะ iOS หรือโทรศัพท์ไอโฟนเท่านั้น แต่เห็นว่ากำลังพัฒนาสำหรับแอนดรอยด์อยู่ เนื่องด้วยเขาค่อย ๆ พัฒนาทีละระบบ ไม่นึกว่าจะฮิตเร็วขนาดนี้ ตอนนี้แฟน ๆ แอนดรอยด์บ่นกันตรึม (รวมทั้งดิฉันด้วยต้องไปควักเอา iPad มาใช้)

2) ฟังได้แต่เสียงไม่มีภาพ ไม่มีคลิป ตรงนี้ดิฉันก็งงนะว่ามันฮิตได้ไง ไหนเทรนด์บอกว่าการสร้างความสนใจยุคนี้ต้องเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ ไง ?

3) รูปแบบจะคล้าย ๆ กับ podcast+ การเข้าฟังสัมมนาแบบมีคนมานั่งคุยให้ฟัง 4) เข้ายากกว่านี้มีมั้ย ? แอปนี้ไม่ได้ดาวน์โหลดฟรีแล้วจะเข้าได้นะคะต้องมีคน invite ถึงจะเข้าได้ โดยคน invite คือ คนที่เข้าไปแล้ว (โดยมีคนอื่น invite มาอีกที) เขาว่ากันว่าความที่มันฮิต มีการขาย invite กันถึง 89 USD (ประมาณ 2,600 บาท !) ในอีเบย์เลย

4) ข้อนี้ก็แปลกมาก ไม่มีการอัดเทปนะคะ ฟังได้ครั้งเดียว

ซึ่งตรงนี้กลับเป็นจุดขายที่ไปถูก “จริต” น้อง ๆ นิวเจน ซึ่งกลัวพลาด กลัวตกเทรนด์ โดย Clubhouse บอกว่า คอนเซ็ปต์คือ “ทำให้กลัวพลาด” หรือภาษาอังกฤษว่า “FOMO” (fear of missing out) คือ ถ้าคุณไม่ออนไลน์ตอนเขากำลังพูดกัน คุณก็อดฟัง ! (และตกเทรนด์)

ทำไม Clubhouse ถึงฮิตนัก ?

เหตุผลที่ทำให้ Clubhouse ฮิตน่าจะเป็นเพราะ 1) ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้าไปเล่นได้ แต่ต้องมีผู้เชิญถึงจะเข้าไปเล่นได้ ยิ่งเข้ายากยิ่งทำให้คนอยากเล่น เหมือนการเล่นแชร์ลูกโซ่ (ฮา) ซึ่งเป็นเหตุผลทางจิตวิทยา

2) มีคนดัง คนมีชื่อเสียง CEO หรือนักการเมืองดัง ๆ เข้ามาร่วมเล่น ซึ่งถือเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดเลยทีเดียว

โดยเฉพาะเมื่อ “อีลอน มัสก์” แห่งเทสลาเข้ามาพูดเรื่อง “แผนการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร” ก็ทำให้เกิดกระแสใหญ่ แถมล่าสุดเขายังเชิญ “วลาดิมีร์ ปูติน” มาร่วมพูดคุยในห้องด้วย

3) ความเป็นสากลของตัวแอป ที่นอกจากเราจะใช้งานในประเทศของตัวเองได้แล้ว เรายังสามารถเข้าร่วมห้องที่เป็นของต่างประเทศได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมความรู้และไอเดียดี ๆ ของโลกแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้

4) ฟังก์ชั่นของ Clubhouse ที่มีแต่เสียง แถมเป็น “รายการสด” ฟังย้อนหลังไม่ได้ ทำให้ “สดใหม่” ทำให้ดู “มีคุณค่า” แบบว่าถ้าพลาดแล้ว “ตกเทรนด์” เลยทีเดียว

5) ความเป็น free speech หรือการมีอิสระทางการพูดนี้เอง ที่ทำให้ Clubhouse ได้รับความนิยม เพราะทุกคนมีสิทธิ์ในการพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ในเรื่องที่ตนเองสนใจได้อย่างกว้างขวาง อิสระ ไม่มีการ “เซ็นเซอร์” (แต่ตอนนี้ก็มีประเด็นกังวลทางกฎหมายว่าถ้ามีการพูดที่ไปกระทบผู้อื่นจะทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องรอดูต่อไป เพราะยังใหม่มาก)

ส่วนตัวคิดว่าการที่ “Clubhouse” เป็นที่นิยมมากขนาดนี้น่าจะเกี่ยวกับสอดคล้องกับความต้องการของนิวเจเนอเรชั่น เนื่องจากการสร้างแคแร็กเตอร์ของ Clubhouse “ถูกจริต” กับความกลัว “ตกเทรนด์” ของนิวเจเนอเรชั่น รวมทั้งการชอบสร้างสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ แถมเปิดโอกาสให้พูดแสดงความคิดเห็นกับผู้มีชื่อเสียงคนดังระดับโลก ที่มาช่วยสร้างความมี “ตัวตน” ให้ผู้ฟังรุ่นใหม่ได้อย่างดีอีกด้วย

ดิฉันเคยได้ยินน้อง ๆ พูดว่าจะมีโอกาสที่ไหนที่จะได้ฟัง “อีลอน มัสก์” ตัวเป็น ๆ แถมเผลอ ๆ ได้คุยกับเขาตัวต่อตัวอีกด้วย มีบทความฝรั่งเขียนไว้น่าสนใจว่าให้คิดถึง Clubhouse สำหรับเจน Z ว่าเป็นแอปที่สะดวกมาก สามารถ hop in and hop out ได้ตามสะดวก (ขอโทษค่ะ แปลเป็นไทยไม่ได้อารมณ์คำว่า hop ?) เจอเพื่อนเก่า เพื่อนเก่าดึงเพื่อนใหม่เข้ามาอีก ได้เจอเพื่อนของเพื่อน ได้พูดคุยอิสระ ในหัวข้อที่สนใจ

พอเริ่มเบื่อก็ออกไปหาเพื่อนกลุ่มใหม่ คุยกันใหม่…สนุกจะตาย !